HomeBrand Move !!“สารัช” ต้นตำหรับแม่ค้ามะขามเจ้าแรกของเพชรบูรณ์ กับการรีแบรนด์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี ดันมะขาม GI สู่ตลาดโลก

“สารัช” ต้นตำหรับแม่ค้ามะขามเจ้าแรกของเพชรบูรณ์ กับการรีแบรนด์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี ดันมะขาม GI สู่ตลาดโลก

แชร์ :

จากข้อมูลของหอการค้าไทย ระบุว่า ในปี 2567 ธุรกิจผลไม้แปรรูปของไทยมีการเติบโตอย่างโดดเด่น โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 74,480 ล้านบาท) คิดเป็นการเติบโต 18.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงนับว่าอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปของไทยเป็นอีกหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ “มะขาม” เป็นอีกหนึ่งในผลไม้ ที่นับว่ามีความต้องการทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่มีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ จนตลาดให้การยอมรับ ด้วยเหตุนี้เอง  บริษัท สารัชมาเก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์ “สารัช”  จึงต้องปรับปรุงการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิตให้ตอบสนองข้อจำกัดของทุกๆ พาร์ทเนอร์ให้ได้ จนเป็นที่มาของการผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายจดทะเบียนขอรับรองมาตรฐาน GI มะขามหวานเพชรบูรณ์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สร้างอาชีพด้วยจดหมาย 4 บรรทัดในหนังสือพิมพ์

คุณหมู – สุภาลักษณ์ กมลธรไท ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สารัชมาเก็ตติ้ง จำกัด เริ่มต้นเล่าที่มาของแบรนด์ “สารัช” โดยบอกว่าเธอและคุณแม่เป็นแม่ค้ามะขามรายแรกๆ ของจังหวัด ต่อมาก็เขียนจดหมายไปถามคอลัมน์ที่เกี่ยวกับเกษตรแปรรูปในหนังสือพิมพ์รายวัน จนเรียนรู้วิธีทำมะขามแปรรูป โดยเริ่มขายมะขามคลุก ก่อนจะขยายเป็นมะขามแก้ว มะขามแช่อิ่มตามงานวัด รวมทั้งฝากขายในร้านอาหารตาม ขณะเดียวกันก็ยังคงส่งมะขามเข้ากรุงเทพ โดยส่งตรงไปที่ตลาดมหานาค จนเป็นเบื้องหลังซัพพลายเออร์ให้กับ “มะขามแอ๊ว” ที่ท่าพระจันทร์ ระหว่างนั้นเธอก็เรียนครูไปด้วย และบรรจุรับราชการครู จนในที่สุดเมื่อเล็งเห็นแล้วว่ากิจกรรมมะขามสามารถต่อยอดไปได้อีกไกล จึงลาออกจากครูมาเป็น “แม่ค้ามะขาม” เต็มตัว รวมทั้งก่อตั้งแบรนด์ “สารัช” ตามชื่อของลูกชาย

ร้านสาขาแรก ต้นกำเนิดมะขาม สารัช

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ “สารัช” เกิดขึ้นในปี 2547 เมื่อเริ่มต้นจำหน่ายมะขามในร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เขตภาคเหนือ และปีถัดมา ก็เริ่มต้นวางจำหน่ายในร้าน 7-11 ทั่วประเทศ และดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ของการก่อตั้ง

แตกไลน์แบรนด์ใหม่ ด้วยชื่อ ทายาท Gen 3

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี สารัช มาร์เก็ตติ้ง ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่า 30 รสชาติ และไม่น้อยกว่า 100 SKU โดยมีสินค้ายอดนิยม เช่น มะขามจี๊ดจ๊าด มะขามคลุก และมะขามแก้ว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทเติบโตขึ้นถึง 10-20% และจำหน่ายสินค้าได้มากถึง 7 ล้านชิ้น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แบ่งสัดส่วนยอดขายในประเทศ 80% ตลาดต่างประเทศ 20%

ในปี 2568 สารัช มาร์เก็ตติ้ง ได้ประกาศแผนการรีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี ด้วยงบการตลาด 10 ล้านบาท เพื่อแก้ pain point  ซึ่งปัจจุบันลูกค้าสับสนกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาด หากแต่จำ “แพกเก็จจิ้งตัวกระปุก” ได้ จนเป็นที่มาของการเปลี่ยนโลโก้ ให้มีลูกเล่น โมเดิร์น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสีสันให้กับบรรจุภัณฑ์ เป็นรูปของคุณหมู ในรูปแบบจี๊ดจ๊าดถึงใจ เพื่อสร้างการจดจำให้ง่ายมีเอกลักษณ์

มะขามจี๊ดจ๊าด แบรนด์สารัช จี๊ดจ๊าดจริงไหมละ

นอกจากนี้ สารัชยังได้วางแผนการตลาดที่ครอบคลุมทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกเซ็กเมนต์

พร้อมๆ กับแตกแบรนด์ใหม่ ที่มาจากคอนเซ็ปท์เดิม นั่นก็คือ “ชื่อลูก” เช่นเดียวกับวันที่คุณหมู – สุภาลักษณ์ ตั้งชื่อแบรนด์ตามชื่อ “คุณแฟลช – สารัช” มาถึงตอนนี้ คุณสารัช ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว ก็เปิดตัว 2 แบรนด์ตามชื่อ ลูกสาว และลูกชายเช่นกัน ประกอบด้วย  ALISA แบรนด์ผลไม้แปรรูปที่มีความสดใสทันสมัยมากขึ้น มุ่งไปที่กลุ่ม Youngster กลุ่มสาวสมัยใหม่ และ ASHIRA SAN ขนมขบเคี้ยว เช่น ช็อกโกแลต ซึ่งในงาน THAIFEX 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี่ ทั้ง 2 แบรนด์ก็จะแยกบูธอยู่กันคนละพื้นที่ สร้างความชัดเจนในการตอบสนองกลุ่มลูกค้า ส่วน SARACH GOLD เป็นแบรนด์มะขามระดับพรีเมี่ยม

คนนี้แหละ “สารัช” ตัวจริง คุณแฟลช – สารัช กมลธรไท ทายาทรุ่น 2

ปั้น GI มะขามหวานเพชรบูรณ์ พร้อมลุยตลาดต่างประเทศ

ในปีนี้ สารัช ยังได้วางแผนการตลาดที่ครอบคลุมทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกเซ็กเมนต์ และขยายตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ โดยปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม สิงคโปร์ อเมริกา และประเทศในกลุ่ม EU

และเพื่อที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ สารัชเดินหน้า ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับเกษตรกรและชุมชน เพื่อพัฒนาผลผลิตมะขามให้ได้มาตรฐาน โดยส่งเสริมการสร้างเกษตรกรมะขามแปลงใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย และเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ทำให้คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน สร้างโอกาสเข้าถึงการตลาดและมีอำนาจต่อรองทางการตลาดสูงขึ้น จนกลายเป็น  มาตรฐาน GI ทำให้แบรนด์สามารถผลิตมะขามแปรรูปที่มีรสชาติเอกลักษณ์เฉพาะของมะขามเพชรบูรณ์แท้ อีกทั้งยังมีมาตรฐานอื่นๆ เช่น Green Leaf ที่ต้องรักษาเอาไว้เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น

นอกจาก “มะขามเพชรบูรณ์” ที่เป็นเรือธงแล้ว ยังมีสินค้าแปรรูปอื่นๆ เช่น มะยม มะม่วง สับปะรด น้ำพริกมะขามแบรนด์ย่าหมู ซอสมะขาม

สารัช มาร์เก็ตติ้ง เป็นตัวอย่างของธุรกิจท้องถิ่นที่สามารถเติบโตและขยายตลาดได้อย่างยั่งยืน ด้วยการผสมผสานระหว่างความเป็นต้นตำรับ นวัตกรรม และการทำงานร่วมกับชุมชน บริษัทมีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดที่ชัดเจน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค และผลักดันมะขามเพชรบูรณ์สู่เวทีโลก และในปีนี้คาดหวังว่าจากการบุกตลาดอย่างรอบด้าน จะสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้ 30% รวมทั้งขยายธุรกิจไปสู่ภาคการท่องเที่ยว เช่น ที่พักระดับพรีเมี่ยม เพื่อตอบรับการเติบโตของเพชรบูรณ์

ด้วยเป้าหมายที่ 2 ผู้บริหารกล่าวว่า “จุดมุ่งหมายสูงสุด คือการพัฒนาบ้านเกิดของเรา สร้างแบรนด์ของคนเพชรบูรณ์ นำเงินที่ได้มา มาพัฒนาจังหวัด พัฒนาความเป็นอยู่ของพนักงาน และเป็นตัวแทนของคนเพชรบูรณ์และจังหวัดข้างเคียง”


แชร์ :

You may also like