HomePR News“Bee Park” ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มจธ.ราชบุรี ยกระดับน้ำผึ้งไทย เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย [PR]

“Bee Park” ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร มจธ.ราชบุรี ยกระดับน้ำผึ้งไทย เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย [PR]

แชร์ :

ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Research Center) เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานการเรียนรู้เรื่องผึ้ง หรือ “Bee Park” ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 เริ่มดำเนินการศึกษาและทำการวิจัยเรื่องผึ้งและการใช้ประโยชน์จากผึ้งพื้นเมืองเอเชีย มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและการปรับตัวของผึ้งพื้นเมือง การใช้เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์นำพัฒนาเทคโนโลยีฉลาดที่ใช้ในฟาร์มผึ้ง (Smart farming) ซึ่งเป็นผลการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ เช่น ชีววิทยา เคมี คอมพิวเตอร์และวิศวกรรม ตลอดจนการประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ มีบริการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรที่สนใจพัฒนาการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองอย่างยั่งยืน โดยมี รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี อาจารย์ประจำ มจธ.ราชบุรี เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยฯ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผึ้งและภาษาผึ้งคนแรกของไทย ล่าสุด ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติ “Regional President of Asia” ของสภาบริหารของสมาคมผึ้งโลก Apimondia (Apimondia: International Federation of Beekeepers’ Associations)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รศ.ดร.อรวรรณ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของศูนย์ฯ คือ การศึกษาวิจัยด้านผึ้งใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. ศึกษาพฤติกรรมผึ้ง ความหลากหลายของผึ้งและปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผึ้งทางการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (climate change)
  2. สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า รังผึ้งฉลาด (smart hives) เพื่อศึกษาภาษาผึ้งผ่านแอปพลิเคชัน beeconnex โดยทำร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.
  3. ใช้ประโยชน์จากผึ้งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และ
  4. สร้างน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจำหน่ายผ่านแบรนด์ “BEESANC” ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตน้ำผึ้งของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศไทย

“ศูนย์ฯ เราเริ่มจากการศึกษาวิจัยก่อนโดยได้ทำงานวิจัยด้านผึ้งและต้นผึ้งมานานกว่า 10 ปี จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง ตั้งแต่ชนิดของผึ้งในประเทศไทย การคัดเลือกชนิดผึ้ง การเลี้ยง การปลูกพืชอาหารผึ้ง การออกแบบสวน ขั้นตอนการเก็บ การแยกขยายกล่อง ไปจนถึงกระบวนการผลิตน้ำผึ้งแบบธรรมชาติเพื่อให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพที่ดีที่สุดในเวลาที่ดีที่สุด การวิเคราะห์คุณสมบัติอาหารฟังก์ชั่นของน้ำผึ้ง จนถึงการทำตลาด โดยเน้นการเลี้ยงผึ้งแบบเลี้ยงไว้กับพื้นที่และสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี จัดหลักสูตรอบรมการเลี้ยงผึ้งชันโรงให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ กระทั่งสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเครือข่ายทั่วประเทศได้เป็นจำนวนมาก

อาทิ เกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี, กลุ่มมละบริภูฟ้า ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้อบรมการเลี้ยงผึ้งชันโรงให้กับครูและเด็กโรงเรียนชายขอบระดับชั้นป.1-ป.6 เพื่อเสริมทักษะการเลี้ยงผึ้งให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาส เด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนจะได้มีวิชาติดตัว สามารถนำรายได้จากการน้ำผึ้งและชันโรงไปเรียนต่อได้ หรือเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวโมเดลนี้เราเริ่มทำกันแล้วในพื้นที่ที่อยู่ชายขอบราชบุรีและค่อยๆ ขยายออกไปยังจังหวัดข้างเคียงทั้งเพชรบุรีและกาญจนบุรี”

รศ.ดร.อรวรรณ กล่าวว่า เราสอนการเลี้ยงผึ้งทุกชนิด สามารถเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ทุกชนิดที่สอนมีศักยภาพ มีความเป็นไปได้ในการเลี้ยงทั่วประเทศ หรือแม้แต่ผึ้งพันธุ์ของต่างประเทศ ก็สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพได้แต่มีต้นทุนสูง ต้องเลี้ยงเป็นหลักร้อยรังขึ้นไป ถึงจะคุ้มทุน ต้องใช้เวลาในการดูแลค่อนข้างมาก และไม่สามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ขณะที่ชันโรงสามารถเลี้ยงได้ทั่วประเทศ แม้แต่คอนโดก็เลี้ยงได้ และใครก็สามารถเลี้ยงได้ ผู้หญิง ผู้ชาย คนชรา หรือคนพิการ นักศึกษา นักเรียน อาชีพอะไรก็เลี้ยงได้ เนื่องจากชันโรงเป็นผึ้งขนาดเล็ก ไม่ต่อย ดูแลง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก ต้นทุนถูก แม้ปริมาณของน้ำผึ้งที่ได้ต่อรังจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผึ้งชนิดอื่น แต่สามารถผลิตน้ำผึ้งได้คุณภาพสูง แค่ตั้งกล่องรังไว้ 2-3 รัง ไม่ต้องให้อาหารอะไร ผึ้งก็ทำงานผสมเกสร จะได้น้ำผึ้งสูงสุด 1 กก.ต่อรัง ถ้าเป็นผึ้งโพรงจะได้น้ำผึ้ง 5-15 กก.ต่อรัง ส่วนผึ้งมิ้ม จะได้น้ำผึ้ง 0.5-1.5 กก.ต่อรัง ราคาน้ำผึ้งรับซื้ออยู่ที่ 1,000 -1,500 บาทต่อรัง ดังนั้น การเลี้ยงผึ้งจึงเหมือนการหยอดกระปุกค่อยๆ สะสมไป สามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้

จากการศึกษาวิจัยเรื่องผึ้งมากว่า 15 ปี ทำให้รู้พฤติกรรมของผึ้งแต่ละชนิด และขยายไปสู่การศึกษาเรื่องพืชอาหารผึ้ง ความสามารถในการบิน หรือระยะการบินของผึ้ง ไปจนถึงการจัดการภูมิทัศน์หรือการออกแบบสวนผึ้ง หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า การสอนเลี้ยงผึ้งของเราจะเป็นแบบธรรมชาติ แต่จะแตกต่างจากที่อื่น คือ เราจะคัดเลือกตั้งแต่พืชอาหารที่ดีสำหรับผึ้ง กระบวนการทำน้ำผึ้งที่ไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย และมีใบรับรองผลการตรวจค่าสรรพคุณและคุณภาพของน้ำผึ้งจากห้องปฏิบัติการ

“การเลี้ยงผึ้งเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำผึ้งให้ได้น้ำผึ้งที่เร็วและมีคุณภาพดีที่สุด จะต้องดูจากพฤติกรรมของผึ้งว่าผึ้งชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะผึ้งเป็นสัตว์ที่ช่างเลือก จะเลือกกินในสิ่งที่ดีที่สุด และจะบอกต่อๆ กันในกลุ่ม ดังนั้น พื้นที่ใดหรือป่าที่มีผึ้งอยู่ที่นั่นถือว่าตอบโจทย์ความอุดมสมบูรณ์ เพราะผึ้งยังช่วยผสมเกสรทำให้ผลผลิตของเกษตรกรดีขึ้น และจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงผึ้งที่เราสร้างขึ้นลดการใช้ยาฆ่าแมลงลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต้องยอมรับว่า 80% ของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้สารเคมี ทำให้ตอนที่ลงไปสอนต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมโดยให้ความรู้ เช่น ให้เขาศึกษาพฤติกรรมของผึ้งว่าผึ้งเข้าไปเอาน้ำหวานในดอกไม้ช่วงไหนมากที่สุด ช่วงไหนที่ดอกไม้บานมากที่สุด เราก็จะห้ามเขาฉีดหรือใช้ยาในช่วงนั้น พอใครเริ่มรักผึ้ง เขาก็จะลดการใช้สารเคมีลงเอง”

“นอกจากนี้ชนิดของพืชอาหารยังเชื่อมโยงกับการผสมเกสรของผึ้ง ปริมาณน้ำหวานของพืชแต่ละชนิดสามารถนำมาใช้กำหนดปริมาณน้ำผึ้งที่ต้องการได้ ดังนั้น คุณภาพน้ำผึ้งจะต้องดูตั้งแต่ต้นทาง คือ พืชอาหารที่ผึ้งชอบ จากงานวิจัยและผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการ (Lab) พบว่า พืชที่ให้น้ำหวานที่มีคุณภาพดีที่สุด ปลูกง่าย และไม่ต้องดูแลมาก อันดับหนึ่งได้แก่ “ดอกดาวกระจาย” เป็นดอกไม้ที่ให้น้ำผึ้งเกรดเอ โดยผล Lab ตรวจพบสรรพคุณทางยาที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านการอักเสบสูงถึง 97-98% ซึ่งมีสรรพคุณเทียบเท่าหรือเหนือกว่าน้ำผึ้งมานูก้าที่มีราคาแพง รองลงมาคือ “ดอกเสี้ยวป่า” เนื่องจากพบว่ามีสรรพคุณทางยาที่ให้สารต้านการอักเสบถึง 95% นอกจากนี้ยังมี ดอกประดูป่า ดอกฟักทอง ดอกพิกุล ดอกหญ้า ดอกมะระ เป็นต้น ล่าสุด เตรียมขยายผลทำการวิจัยกับดอกกระจายเพิ่มอีก และภายในสิ้นปีนี้จะทำการศึกษาวิจัยกับดอกแมกคาเดเมีย และกาแฟ โดยพืชแต่ละชนิดที่ค้นพบนี้จะจัดทำเป็นตารางพืชอาหารผึ้ง เพื่อแสดงดัชนีพืชอาหารให้เห็นรอบปีการปลูก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรสามารถนำใช้ประกอบการปลูกพืชอาหารผึ้งในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ก่อนจะเก็บน้ำผึ้งควรปล่อยให้จุลินทรีย์และเอนไซม์ทำงานเต็มที่ เพราะน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูงจะต้องมีความชื้นเหลืออยู่ที่ 22-21% นอกจากนี้หากพืชเริ่มต้นน้ำหวานมีคุณสมบัติทางยา เมื่อเป็นน้ำผึ้งจะเข้มข้นขึ้น ตั้งแต่ 10-100 เท่า เมื่อผสานกับนวัตกรรมการการบ่มน้ำผึ้งที่ให้จุลินทรีย์และเอนไซม์ ยิ่งทำให้น้ำผึ้งมีความเป็นยามากขึ้น เป็นตัวอย่างที่เราค้นพบและนำมาสอนให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ” รศ.ดร.อรวรรณ กล่าว

‘น้ำผึ้งไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก’ แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยและทั่วโลกได้รู้จักมากขึ้น เพราะมาตรฐานน้ำผึ้งระดับสากล (CODEX standard for honey) ที่ใช้กันอยู่ถูกจำกัดเฉพาะน้ำผึ้งจากชาติตะวันตก ขณะที่น้ำผึ้งเขตร้อนฝั่งชาติเอเชียที่มีคุณภาพยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดของผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งในกลุ่มตลาดไฮเอนด์ และตลาด Healthcare ซึ่งปัจจุบันน้ำผึ้งเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก รวมถึงรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง แต่งานวิจัยของศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Research Center) นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้การพัฒนาน้ำผึ้งของไทยมีคุณภาพสูงขึ้นเทียบเท่าหรือเหนือกว่าน้ำผึ้งราคาแพงของต่างประเทศและมีการันตีคุณภาพจาก Lab ที่จะทำให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความพยายามในการสร้าง “มาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน” ในระดับภูมิภาคเอเชียให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต


แชร์ :

You may also like