HomePR Newsสภาองค์กรของผู้บริโภคค้านควบรวม “ทรู-ดีแทค-เอไอเอส-3BB” คาดค่าบริการแพงขึ้น – แข่งขันลด

สภาองค์กรของผู้บริโภคค้านควบรวม “ทรู-ดีแทค-เอไอเอส-3BB” คาดค่าบริการแพงขึ้น – แข่งขันลด

แชร์ :

shutterstock_telecom

สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ โคแฟคประเทศไทย เปิดเวทีเสวนา ผลกระทบจากการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ของ ‘ทรู – ดีแทค’ และเอไอเอส ควบกิจการทรีบรอดแบนด์ (3BB) ชี้ ภารกิจ กสทช.ชุดใหม่ คือการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคผูกขาดคลื่นความถี่ ส่วนการเป็น Tech Company สามารถเป็นได้เลย ไม่ต้องรอควบรวมก่อนถึงจะเป็นได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับสิ่งที่มีการนำเสนอบนเวทีเสวนา พบว่า ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคแสดงความกังวลผลกระทบจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมว่าจะทำให้ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และยังมองไม่เห็นว่า การที่บริษัทโทรคมนาคมมีต้นทุนที่ถูกลงจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร เพราะสิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างแท้จริงคือการคิดค่าบริการอย่างเป็นธรรม

ส่วนในแง่ของการแข่งขัน เวทีเสวนาครั้งนี้ได้ชี้ด้วยว่า เมื่อเหลือแค่สองค่าย อาจทำให้การแข่งขันด้านการขยายเครือข่ายลดลง และผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (ซึ่งอาจถูกจัดไว้เป็นพื้นที่เกรด C หรือ D) อาจมีโอกาสเข้าถึงระบบโทรคมนาคมได้ล่าช้ากว่าเดิม เนื่องจากผู้ให้บริการเหลือเพียงสองราย ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันขยายเครือข่ายเหมือนในอดีตแล้วนั่นเอง

คลื่นความถี่

ด้านคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ภารกิจ กสทช.ชุดใหม่ คือการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคผูกขาดคลื่นความถี่

ขณะที่มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการที่ทำรายงานการควบรวมกิจการโทรคมนาคมให้ กสทช. แสดงความกังวลถึงผลระทบภายหลังการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมขนาดใหญ่ โดยมองว่า ผู้บริโภคจะถูกจำกัดทางเลือก หรือมีทางเลือกลดลง และมีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะเอาเปรียบผู้บริโภคได้

ผศ.ดร.พรเทพ ระบุด้วยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยได้ตั้งสมมุติฐานหลาย ๆ แบบ เช่น ควบรวมแล้วผู้ให้บริการต้นทุนจะลดลงมากแค่ไหน และผู้ให้บริการมีโอกาสฮั้วกันมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น ซึ่งจากการทำแบบจำลอง พบว่า การที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น ตลาดจะเกิดการกระจุกตัวมากขึ้น และมีผลต่อราคาค่าบริการภายหลังการควบรวม โดยตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นระหว่าง 5 – 200%

“ธุรกิจโทรคมนาคมถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม การศึกษาพบว่า หากมีการควบรวมกิจการ จะส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลง 0.05% -2% หรือประมาณหมื่นกว่าล้านบาท – 3 แสนล้านบาท ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ระหว่าง 0.05-2 % ซึ่งสมมุติฐานนี้ อยู่ภายใต้กรณี กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใด ๆ ทั้งสิ้นภายหลังการควบรวมกิจการ ฉะนั้น กสทช.จำเป็นต้องเข้าไปกำกับดูแลภายหลังมีการควบรวมกิจการ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน” ผศ.ดร.พรเทพกล่าว

Tech Company ไม่ต้องควบก็เป็นได้

นอกจากนั้น ในกรณีของทรู – ดีแทค ที่มีการอ้างว่า จะควบรวมเพื่อปั้นบริษัทใหม่สู่การเป็น Tech Company นั้น บนเวทีเสวนามองว่า การเป็น Tech Company สามารถเป็นได้เองเลย ไม่ต้องควบรวมก่อนแล้วถึงจะเป็นได้

ด้านคุณฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB ได้นำเสนอแบบจำลองทางสถิติเพื่อแสดงให้เห็นว่า หากมีการควบรวมกิจการ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคไทยต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของราคาค่าบริการ โดยพบว่า หากมีการควบรวมกิจการแล้ว ตลาดยังมีการแข่งขันที่รุนแรง ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 10% แต่หากมีการแข่งขันตามปกติ ซึ่ง 2 รายมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 50% ทั้งคู่ ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% สุดท้ายหากตลาดไม่มีการแข่งขันกันเลย เกิดการฮั้วกันเกิดขึ้น จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

แผนภาพจำลองที่มีการนำเสนอในเวทีเสวนา

“คำว่า ราคาขึ้น สามารถออกมาได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งราคาขึ้น ไม่ได้แปลว่า ต้องขึ้นราคาค่าบริการอย่างเดียว ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายนั้น ผู้ให้บริการอาจมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาโดยเฉลี่ย หรืออาจไปขึ้นราคาสำหรับกลุ่มคนที่ใช้งานเยอะ อาจออกมาในรูปแบบกำหนดขั้นต่ำในการเติมเงิน เช่น ปัจจุบันเติมเงิน 20 บาทก็ใช้งานได้ อนาคตอาจต้องเติมเงินมากกว่านั้น เป็นต้น ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงคุณภาพ การให้บริการ การพัฒนาโครงข่าย คุณภาพของสัญญาณ อาจจะแย่ลงได้” ผู้อำนวยการ 101 PUB เผย

ฉัตร คำแสง ยังได้ยกตัวอย่างสหภาพยุโรป กรณีอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมนั้นจะแตกต่างจากของไทย เพราะมีผู้แข่งขันในตลาดมากกว่า เช่น ที่ออสเตรีย เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย โดยเป็นการควบรวมแบบมีเงื่อนไข คือ ให้มีการควบรวมโดยต้องขายคลื่น และเสาสัญญาณบางส่วนออกไปให้กับผู้ให้บริการรายเล็ก ซึ่งในระยะแรก ๆ ราคาค่าบริการที่ออสเตรียเพิ่มขึ้น เวลาผ่านไปค่าบริการก็ค่อย ๆ ลดลง เมื่อคู่แข่งรายเล็กสามารถก้าวขึ้นมาแข่งขันในตลาดได้ แตกต่างจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เกิดการควบรวมกิจการ โดยไม่มีเงื่อนไข ปรากฎว่า ราคาค่าบริการพุ่งขึ้นถึง 20% และผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือคนที่ใช้โทรศัพท์เยอะๆ

ผู้อำนวยการ 101 PUB ระบุชัดว่า ที่ยกตัวอย่างยุโรปเพื่อให้เห็น การควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมขนาดใหญ่นั้น เป็นอะไรที่น่ากลัว หากดีลควบรวมทรู-ดีแทค เกิดขึ้นจริง เชื่อว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือย่อมคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาหารายได้ เพื่อให้มีกำไรส่วนเพิ่ม นี่คือเหตุผลที่จะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น


แชร์ :

You may also like