HomeBrand Move !!จากปิ้งย่าง ถึงชาบู  ถอด 3 แนวคิด “AKA” เปิด “อากะ ชาบู” Sub-Brand ใหม่ครั้งแรกในรอบ 15 ปี 

จากปิ้งย่าง ถึงชาบู  ถอด 3 แนวคิด “AKA” เปิด “อากะ ชาบู” Sub-Brand ใหม่ครั้งแรกในรอบ 15 ปี 

แชร์ :

การต่อยอด Sub-Brand ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับความนิยมในธุรกิจร้านอาหารเพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มพอร์ตโฟลิโอรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายใหม่ๆ ป้องกันความเสี่ยงจากการพึ่งพาแบรนด์หลักเพียงอย่างเดียว 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“อากะ” (AKA) แบรนด์ยากินิกุเบอร์ต้นๆในเมืองไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คืออีกหนึ่งแบรนด์ ที่เร่งเครื่องกลยุทธ์ดังกล่าวด้วยการส่ง Sub Brand น้องใหม่ “อากะ ชาบู” (AKA SHABU) ครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ ภายใต้แนวคิด D.I.Y. Buffet ที่ต่อยอดจากปิ้งย่างถึงชาบู  โดยเปิดให้บริการไปแล้ว  1 สาขาที่ “เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” ก่อนจะขยายเพิ่มอีก 1 สาขาในศูนย์การค้าภายในปี 2565 นี้

ทั้งนี้หากย้อนดูมูลค่าตลาดรวมปัจจุบันตลาดร้านอาหารประเภทปิ้งย่างและชาบูที่มีมูลค่ารวมกว่า 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดชาบู-สุกี้มูลค่า 23,000 ล้านบาท ขณะที่อีก 9,000 ล้านบาท เป็นตลาดปิ้งย่าง นั่นเองทำให้แบรนด์ปิ้งย่างชั้นนำอย่าง “อากะ” กระโดดร่วมชิงเค้กก้อนโตในตลาดชาบู  หลังปล่อยให้พี่ใหญ่ในพอร์ต “อากะ ยากินิกุ” เปิดขายแฟรนไชส์อย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยคาดว่าจะได้เห็นอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้ 

คุณมยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“ร้านอาหารยอดนิยมของคนไทย  3 อันดับแรกในปัจจุบันอันดับ 1.ยังคงเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 2.ร้านชาบู และ 3.ร้านปิ้งย่าง โดยในร้านอาหารญี่ปุ่นและปิ้งย่าง เรามีครบ ซึ่งการเข้ามาของธุรกิจชาบูจะทำให้เราสามารถรุกตลาดร้านอาหารได้ครบทั้ง 3 เซกเมนต์ที่ผู้บริโภคต้องการ โดยเฉพาะในธุรกิจชาบูที่ตอนนี้เป็นเทรนด์ร้านอาหารที่ผู้บริโภคนึกถึงอันดับแรก”

ที่สำคัญคือการจับเทรนด์และปรับเปลี่ยนให้ทันตามความต้องการของผู้บริโภคก็จะยิ่งส่งผลให้ร้านอาหารสามารถสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว จากความหลากหลายที่แบรนด์มี

โดย AKA Shabu มี 3 แนวทางการแข่งขัน ดังนี้

คุณมยุรี จิตรกร

คุณมยุรี จิตรกร

 

1. “Horizontal-Vertical ” กลยุทธ์หลัก “อากะ” ใช้เพิ่มพอร์ตแบรนด์ใน 2 มิติหลัก

ยุทธศาสตร์หลักในการเป็นการขยายธุรกิจทั้งแนวราบและแนวลึก เข้ามาเป็น Growth Strategy สร้างการเติบโต ทั้งใน 2 มิติหลัก ได้แก่ 1.การขยายในแนวราบ  Horizontal ด้วยการ เป็นการนำ “ยากินิคุ” ที่ทางแบรนด์ถนัดมาใช้เป็นพระเอกในการกระจายตัวของแบรนด์จากในเมือง สู่ขอบเมือง สู่ต่างจังหวัด รวมถึงการขยายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น  2.การขยายในเชิงลึก Vertical คือ เป็นการนำเอาแนวคิด D.I.Y. Buffet ทั้งระบบการจัดการ วัตถุดิบ ซัพพลายเชน มาต่อยอด พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ 

สำหรับ “อากะ ชาบู” (AKA SHABU) เป็นซับเแบรนด์ของ “AKA” ที่มีการใช้โลโก้เดียวกัน เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเพิ่มพอร์ตฟอร์ลิโอใหม่ให้แก่แบรนด์ ผ่านธุรกิจหลักของ “อากะ” อย่างความเป็น D.I.Y. Buffet  โดย Brand positioning  ของ “อากะ ชาบู”  จะเน้นความเป็น The Best D.I.Y. Buffet Experience อย่างชัดเจน ซึ่งเป็น Core Business ของแบรนด์ที่ส่งต่อจาก “ปิ้งย่าง มาถึง ชาบู”  

อากะ ชาบู

สเตชั่นอาหารที่สามารถตักเติมได้ไม่อั้น ทั้งผัก ลูกชิ้นและเส้นนานาชนิด

 

มีจุดเริ่มต้นตลาดชาบูของอากะ เกิดขึ้นแรกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กับการทดลองเปิดบริการแบบไฮบริดทั้งปิ้งย่างและชาบู ที่ “ร้านอากะ สาขาเซ็นทรัล พลาซา บางนา” เพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้า ทราฟฟิก ผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายให้แน่ชัดก่อนที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในภาวะที่ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง แต่ก็ต้องชะงักลงเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก่อนที่แผนงานจะกลับมาอีกครั้งหลังสถานการณ์คลี่คลาย

ผลจากการทดลอง Pilot Model แบบ 2 in 1 ในสาขาแรก พบว่า การทำร้านอาหารแบบ Mixed Model  แม้จะตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าได้หลากหลายขึ้น  แต่ในแง่ Positioning ของแบรนด์ ยังขาดความชัดเจนที่ทางแบรนด์ต้องการสื่อสาร ทำให้ลูกค้าสับสนจุดแข็งว่าจะเป็นปิ้งย่าง หรือ ชาบู กันแน่

ดังนั้น การแตกไลน์ Sub-Brand ใหม่ จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าในการสื่อสารแบรนด์ ด้วยเหตุผลหลักคือ อยากให้ลูกค้าจดจำสิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์กับความชำนาญ  จึงไม่อยากให้จุดแข็งที่บริษัทต้องการสร้างทั้ง “ปิ้งย่าง” กับ “ชาบู” มาชนกัน และเชื่อว่าปิ้งย่างที่อยู่มานานกว่า 15 ปี สามารถเดินต่อและขยาย ไปได้เรื่อยๆ จึงเป็นเป็นที่มาของการพัฒนาซับแบรนด์น้องใหม่เพื่อต่อยอดในอนาคต

AKA Shabu

AKA SHABU ซับแบรนด์น้องใหม่ที่อากะปั้นขึ้นมา เจาะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการรับประทานชาบู เน้นการตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น

 

2. “เมนู-คุณภาพ-น้ำจิ้ม” 3 หัวใจสำคัญสร้าง “First Impression” รับ Demand ลูกค้า

เมื่อกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดชาบู คือกลุ่มครอบครัว และคนทำงานเป็นหลัก ทำให้มีความ Healthy มากกว่า ลูกค้าในกลุ่มปิ้งย่างเล็กน้อย โดยปัจจุบันลูกค้าที่ชื่นชอบชาบูจะมีอัตราการรับประทานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ทำให้ First Impression เป็นอีกหนึ่งคีย์สำคัญที่ทางแบรนด์ให้ความสำคัญ ในการสร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาใช้บริการ  จนเกิดการเข้ามารับประทานซ้ำในครั้งถัดไป

เริ่มตั้งแต่การตกแต่งในร้านที่เน้นความสนุกสนานมากขึ้น การออกภายในที่เหมือนได้ไปรับประทานชาบูที่มีบรรยากาศเหมือนประเทศญี่ปุ่นจริงๆ ซึ่งมีทั้งหม้อรวมและบาร์นั่งแบบหม้อเดี่ยวให้ลูกค้าได้เลือกนั่งรับประทาน

 

อาะ ชาบู

เมนูภายในร้านที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่ชื่นชอบการบริโภคชาบู

ขณะที่ First Impression ที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับแรกในการในตลาดชาบู คือ วัตถุดิบต้องมีคุณภาพรสชาติ ที่ต้องถูกใจ น้ำจิ้มรสชาติเด็ด ทำให้มีการ Utilize วัตถุดิบร่วมกับแบรนด์ “อากะ” พัฒนาเมนูที่หลากหลายกว่า 82 เมนู เสิร์ฟพร้อม น้ำซุป 5 แบบ และไฮไลท์คือ น้ำซุปยูสุ หอมกลิ่นปลาแห้งผสมยูสุ และน้ำจิ้มซิกเนเจอร์ สูตรลับออกมา ซึ่งการใช้วัตถุดิบร่วมกัน ก็ทำให้ “ต้นทุน” บริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย 

นอกจากนี้เมนูเด็ดแล้ว ของทานเล่นแล้ว  “อากะ ชาบู”  ยังนำเมนูซิกเนเจอร์ชื่อดังของทางแบรนด์ “อากะมะนาวช็อต” ไว้ในร้านด้วย โดยสามารถเลือกรับประทานได้ทั้งหมด 3 ราคา คือ Meat Lover Buffet ราคา 399++ บาทต่อคน, Regular Buffet ราคา 599++ บาทต่อคน และ Premium Buffet 999++ บาทต่อคน (รวมค่าเครื่องดื่ม)

ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ด้านราคา ความคุ้มค่าเท่านั้น ทางร้านยังนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความสะดวกสบายให้ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นระบบ Self-Ordering และ AKA Robot ที่ช่วยเสิร์ฟอาหารได้อย่างแม่นยำ พร้อมกับพนักงาน 20-22 คนต่อสาขา เข้ามาช่วยในการดำเนินงาน

3.ยึดพื้นที่ ‘ศูนย์การค้า’ ทำเลหลัก เจาะครอบครัว-คนรุ่นใหม่

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ตลาดชาบูแม้จะมีมูลค่าสูงกว่า 23,000 ล้านบาท  มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จากการแข่งขันที่สูงขึ้น จากจำนวนผู้เล่นทั้งรายเล็ก-ใหญ่ ทำให้ต้องมีการมองหาทำเลที่ทางแบรนด์มีความได้เปรียบ และมี Know How อยู่แล้ว นั่นคือ ทำเลหลักในห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า พร้อมทั้งนำจุดแข็งที่ระบบบริหารจัดการ  ระบบหลังบ้านที่แข็งแกร่งของทางเซ็นกรุ๊ปฯ ที่มีความเชื่ยวชาญมาใช้เป็น DATA สำคัญในการปักหมุดแต่ละทำเลใหม่ในอนาคต  โดยมีปัจจัยหนุนในการขยายสาขาได้แก่

  • ชาบู การแข่งขันยังเป็นเซกเมนต์ ผู้เล่นรายย่อยตอบโจทย์แต่ละพื้นที่  แต่ “อากะ ชาบู” จะเน้นเจาะลูกค้าที่อยู่ในห้างเป็นหลัก ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ยังเป็นลูกค้าหลักกลุ่มใหญ่ในตลาดชาบูอยู่ 
  • การขยายสาขา จะเลือกจากทำเลที่มีศักยภาพของศูนย์การค้า มีทราฟฟิกสูง และกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ มีทั้ง กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนทำงาน
  • ปัจจุบันทราฟฟิกในห้างกลับมากว่า 85% แล้ว แม้จะยังมีการจับจ่ายใช้สอยหรือช้อปปิ้งไม่มากนัก แต่การรับประทานอาหารถือว่ากลับมาดีแล้ว พฤติกรรมลูกค้าชาวไทยยังอยากทานนอกบ้านอยู่ ขณะที่ “ชาบู” คือเมนูอันดับแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อจะเข้ามารับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้า ร่วมกับครอบครัว คนรัก
  • ในการเปิดครั้งแรก พื้นที่สาขาจะไม่ใหญ่มากนัก แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการที่สามารถควบคุมได้  โดยมีการวางโมเดลที่หลากหลายในการขยายสาขา เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ
อากะ ชาบู

การขยายสาขานับจากนี้จะโฟกัสไปที่ ศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้า เจาะกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ เป็นหลัก

แม้จะยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นแต่ “อากะ ชาบู” นับเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจร้านอาหารของอากะให้สามารถเติบโตได้เติบโต 60% หรือปิดรายได้รวมในสิ้นปี 2565 นี้ ราว  900 ล้านบาท  พร้อมทั้งปั้นรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2566 หลังจากปีที่ผ่านมาอากะมีรายได้รวม 700 กว่าล้านบาท


แชร์ :

You may also like