10 ปีที่ห่างหายจากการทวีตบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter) แต่ชื่อของ “สุกรี พัฒนภิรมย์” หรือ @sugree กลับไม่เคยเลือนหายไปจากโลกโซเชียลมีเดียไทย และในหลายบริบท ทวีตของเขายังเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างน่าประหลาดใจจนเป็นที่ฮือฮาบนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด คุณสุกรี พัฒนภิรมย์ได้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในงาน HPCNC Sharing Day 2022 ที่จัดขึ้นที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อระลึกถึง ผศ.ดร. ภุชงค์ อุทโยภาศ ในฐานะผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (High Performance Computing and Networking Center) โดยในงานดังกล่าว คุณสุกรีได้บอกเล่าหลายประสบการณ์ในช่วงที่ห่างหายไป ทั้งการถูกแคปทวิตไปตัดต่อจนเกือบงานเข้า การโทรมาเชิญไปออกรายการโหนกระแสตอนที่ซ้อมหนีไฟ รวมถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับงานของเขาด้วย และสิ่งที่คุณสุกรีตอบก็คือ
“ทุกวันนี้ทำสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน”
“งานทุกวันนี้มีสองแบบ คืองานง่าย กับงานยาก งานยากคือ อยากได้วันจันทร์ แต่วันที่พูดคือวันศุกร์นะ 10 ปีที่ผ่านมา มีงานแบบนี้ตลอด มีงานด่วนตลอด ถือว่างานค่อนข้างหนัก แต่สนุก เพราะไม่เคยได้ทำอะไรซ้ำเลย”
นอกจากนั้น ในช่วง 10 ปีที่หายไป คุณสุกรีเล่าด้วยว่าเคยรับหน้าที่เป็นอาจารย์
“เคยสอนเขียนโปรแกรม แต่เด็ก Copy กันยับเลย”
“ทุกครั้งที่ไปสอน ก็ให้การบ้าน ไปเขียนโปรแกรมมา เพราะดูทรงแล้วคงเขียนโปรแกรมกันไม่เป็น ก็อยากให้เขียนเป็นไง หลังจากผ่านรอบแรกไป ผมก็โอ้ เด็กมันก๊อปปี้กันยับเลย ผมก็เลยเขียนโปรแกรมตรวจก๊อปปี้ แล้วรันให้ดูเลยว่า นี่นะ ไม่เปลี่ยนกระทั่งชื่อตัวแปร อย่างน้อยคุณควรมีศิลปะของการก๊อปปี้บ้างนะ เปลี่ยนชื่อฟังก์ชันบ้างก็ได้”
“สามสิบคนเขียนคนละโปรแกรม แต่เป็นโปรแกรมเดียวกันหมดเลยนะ สุดท้ายแล้วก็เลยไม่กลับไปสอนอีกเลย พอแล้ว พับโปรเจ็ค ไม่เป็นอาจารย์แล้ว”
การบอกเล่าเส้นทางการหา Career Path ของคุณสุกรี ที่มองแล้วว่าตนเองไม่เหมาะกับการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มาสะดุดคนฟังในห้องบรรยายกับการเล่าถึงสิ่งที่ อาจารย์ภุชงค์บอกกับเขาว่า
“Career Path ที่คุณควรไปคือ ไปเป็นซูเปอร์แมนอยู่ที่ไหนสักที่นึง เพื่อทำงานที่ไม่มีใครทำได้”
“ชีวิตเราก็ต้องหาที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีงานสบายอีกเลย มีแต่งานที่ไม่มีใครเคยทำ ก็เลยกลายเป็นว่าเราต้องหางานให้ตัวเอง เพราะถ้างานง่าย ๆ มันก็ส่งมาไม่ถึงเรา”
“ไม่กลับไปเล่นทวิตเตอร์แล้ว”
ส่วนใครที่รอเขากลับมาที่ทวิตเตอร์อาจต้องรอเก้อ เพราะคุณสุกรีบอกว่า คงไม่ได้กลับไปเล่นแล้ว เนื่องจากเหมือนมีคุกรออยู่หน้าบ้าน
“อย่าเลย ทุกวันนี้เราสามารถตีความกันได้อย่างกว้างขวาง ผมไม่ได้จบกฎหมายมาหรอกนะ แต่ถ้ามีอะไรนึกไม่ออกก็ พรบ.คอมพ์ไปก่อน ซึ่งเป็นโทษทางอาญาไง หรือต่อให้เป็นโทษทางแพ่งก็ไม่โอเคอยู่ดี”
อย่างไรก็ดี คอมเม้นท์เกี่ยวกับการเล่นทวิตเตอร์ของคุณสุกรีที่น่าจะประทับใจเขาที่สุด มาจากอาจารย์ภุชงค์ที่บอกว่า
“คุณรู้ไหม ถ้าเอาทุกคำในทวิตเตอร์ของคุณมารวมกัน มันหนากว่า thesis ของคุณทั้งตรีกับโทรวมกันเสียอีก”
ทำไมทวีตถึงยังใช้ได้กับสถานการณ์ทุกวันนี้
“พูดตรง ๆ นะ สถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้มันเหมือนกันเลย ตอนนั้นคือรัฐประหารไง ตอนนี้ก็อาจเรียกว่า รัฐประหารซ่อนรูปไหม จริง ๆ แล้วเราก็ยังอยู่ในยุคนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม”
“เรื่องนี้มันไม่ใช่การพยากรณ์ อ.ภุชงค์เคยบอกว่า ทุก ๆ สิบปี เทคโนโลยีมันจะเปลี่ยน จริง ๆ แล้วมันเกิดจากสองตัวแปร คือคอมพิวติ้ง กับเน็ตเวิร์ก สองอย่างนี้จะผลัดกันรุกผลัดกันรับ เพราะงั้น อยากทำอะไรทำไป ไม่ต้องเปลี่ยนฟิลด์ อีกสิบปี เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นเอง เหมือนอย่างยุคนี้ เน็ตเวิร์กแรง ก็เช่าเน็ตเวิร์ก พอถึงจุด ๆ หนึ่ง คอมพ์แรง ก็หันมาใช้คอมพ์กันหมด สักพักเน็ตเวิร์กกลับมาแรงใหม่ คนก็วิ่งไปหาเน็ตเวิร์กกันใหม่ วน ๆ เวียน ๆ อย่างนี้ไป ขอแค่ทำอะไรก็ทำไป ทนให้ได้สิบปี เพราะถ้าเปลี่ยนฟิลด์ปุ๊บเราจะเป็นเด็กใหม่ในฟิลด์นั้น”
“หลังจากนี้อยากทำอะไรอีก”
“ความฝันแรกคืออยากเคลียร์หนี้ อันนี้คือความจริงนะ แล้วถ้ามีโอกาสก็อยากไปเที่ยวบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัว ชีวิตจริงก็อย่างนี้ล่ะนะ ตอนนี้ก็ได้แต่กัดฟัน อีกสิบสี่ปี อาจได้เจอกัน ตอนนี้ก็มีคนชวนไปเยอะ แต่ทุกคนก็จะรู้ว่าผมไม่ไปไหนหรอก”
“หลังจากนี้ก็คงจะไม่เจอกันอีก”
“เพราะชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างที่เล่า วันทำงานอยู่ที่ทำงาน เสาร์อาทิตย์มือถือก็ไม่ได้แตะ เพราะถ้าแตะภรรยาก็จะมองว่าไม่ให้เวลาครอบครัว อยากทำงานให้ไปทำหลังเที่ยงคืน เพราะฉะนั้น ผมก็จะไม่ค่อยไปไหน เพราะว่าครอบครัวย่อมสำคัญที่สุด เอาไว้รอลูกเรียนจบค่อยเจอกันใหม่ อีกสัก 10 กว่าปีอ่ะคนเล็กถึงจะเรียนจบ แล้วคงจะได้เวลากลับมา จากนั้นคงค่อยไปหากล้อง หาแมวมาถ่าย”