HomeBig Featuredเจาะลึกอินไซต์ “คนโสด” ตลาดใหญ่มาแรงที่แบรนด์และนักการตลาดต้องเกาะติด

เจาะลึกอินไซต์ “คนโสด” ตลาดใหญ่มาแรงที่แบรนด์และนักการตลาดต้องเกาะติด

แชร์ :

เมื่อก่อนแบรนด์และนักการตลาดมักจะมุ่งโฟกัสการทำตลาดไปที่กลุ่มคน Gen Alpha หรือ Millenial รวมถึงคนมีคู่เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังจับจ่ายใช้สอยสูง แต่มาตอนนี้คงต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดกันใหม่ เพราะทุกวันนี้เรามักจะเห็นคนเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งทำกิจกรรมคนเดียว เช่นช้อปปิ้งและออกกำลังอยู่บ่อยครั้ง คนกลุ่มนี้คือ กลุ่มคนโสด (คนที่ยังไม่แต่งงาน) ซึ่งนับวันจะขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ยิ่งประเทศที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาสูงยิ่งมีสัดส่วนคนโสดเป็นจำนวนมาก เช่นสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนคนโสดถึง 85 ล้านคน ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างจีน มีจำนวนประชากรโสดสูงถึง 200 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปี 2562 มีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 15.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มี 13.8 ล้านคน แต่ที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมของเหล่าคนโสดแต่ละกลุ่มต่างมี ไลฟ์สไตล์ และ ความต้องการ แตกต่างกันออกไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการศึกษาผู้บริโภคกลุ่มคนโสดที่อยู่คนเดียว เพื่อให้แบรนด์และผู้ประกอบการทำความเข้าใจพฤติกรรม และสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างตรงใจยิ่งขึ้น

พลังคนโสด อำนาจซื้อไม่ “เล็ก” อย่างที่คิด

เดิมทีคนโสดอาจถูกมองว่าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่หลายปีมานี้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ใช่ตลาดเล็กๆ อีกต่อไป เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้เริ่มขยายตัวเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น เพราะนับวันผู้คนเลือกจะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนโสดที่พักอาศัยอยู่คนเดียว สะท้อนได้จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วง 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2550-2558 จำนวนครัวเรือนที่อยู่คนเดียวหรือครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวเพิ่มขึ้นจาก 2.0 เป็น 3.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนโสดถึง 1.5 ล้านคน และหากพิจารณาจากอัตราการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2562 จำนวนครัวเรือนที่อยู่คนเดียว น่าจะมีจำนวนประมาณ 4.5-5.0 ล้านคน และน่าจะเป็นคนโสดเกือบ 2 ล้านคน

ผลสำรวจ ยังพบว่า ประชากรกลุ่มนี้มีอำนาจในการจับจ่ายสินค้าสูง โดยมีการใช้จ่ายเงินเฉลี่ย 7,584.3 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นการใช้จ่ายเพื่อสินค้าและบริการต่างๆ รวมเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารประมาณร้อยละ 33.7 ค่าที่อยู่อาศัยและของใช้ภายในบ้านร้อยละ 20.8 ค่าของใช้ส่วนบุคคลร้อยละ 6.0 และอื่นๆ อาทิ การศึกษา การสื่อสาร ร้อยละ 39.5

โดยเหตุผลที่กลุ่มคนโสดมีพลังในการจับจ่ายซื้อสินค้าสูง เนื่องมาจากกลุ่มคนโสดไม่มีภาระเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวทั้งลูกหลาน คู่สมรส การตัดสินใจจึงรวดเร็ว ไม่ต้องปรึกษาใคร แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงโปรโมชั่นหรือลดราคา หากสินค้าหรือบริการสอดคล้องกับความต้องการ นั่นจึงไม่แปลกที่ในระยะหลังๆ เราจะเห็นหลายแบรนด์เริ่มออกแคมเปญการตลาดมาเจาะกลุ่มคนโสดมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกออนไลน์มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายโดยอิงกับวันคนโสด ซึ่งเป็นวันที่คนหนุ่มคนสาวออกมาฉลองให้กับความโสดในวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์บางราย มียอดขายเฉพาะวันนี้เพียงวันเดียวสูงเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (รวมยอดขายทั้งกลุ่มคนโสดและคนทั่วไปของเทศกาล ปี 2562)

ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายก็มีการผลิตสินค้าหรือบริการที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายคนโสดเพิ่มมากขึ้น อาทิ สินค้าสำหรับให้เช่าแทนการซื้อ เช่น ตู้อบเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือให้เช่าอุปกรณ์ปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ หรือผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดิน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มนี้จะได้รับความนิยมจากผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันตลาดถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนโสดที่อยู่คนเดียวมากขึ้น

โสดเหมือนกัน แต่ไลฟ์สไตล์การจับจ่ายต่างกัน

ถึงแม้ประชากรคนโสดที่พักอาศัยอยู่คนเดียวจะเป็นกลุ่มที่ไม่แต่งงาน แต่เมื่อพูดถึงพฤติกรรมของประชากรคนโสดที่พักอาศัยอยู่คนเดียวแล้ว พบว่า ประชากรกลุ่มนี้มีไลฟ์สไตล์และความต้องการต่างจากคนโสดทั่วไป โดยกลุ่มคนโสดในวัยทำงานที่อายุยังไม่สูงมากนัก เป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการจับจ่ายซื้อสินค้าค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องแบ่งเวลาในการดูแลครอบครัว สามารถบริหารเวลาในช่วงที่ว่างจากการทำงานได้ดีกว่า รวมถึงมีการวางแผนทางด้านการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิตไม่เข้มงวดมากนัก ซึ่งจากไลฟ์สไตล์ดังกล่าว ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้จึงถูกใช้ไปในด้านสันทนาการ ช้อปปิ้ง การออกกำลังกายหรือการท่องเที่ยว

ขณะที่กลุ่มคนโสดที่เริ่มมีอายุมากขึ้น กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเป็นโสดและไม่แต่งงาน และเป็นไปได้ที่จะไม่มีลูกหลานหรือคู่ครองคอยดูแล จึงต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิต อาทิ ธุรกิจเดลิเวอรี่หรือแอปพลิเคชัน สั่งซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ รวมถึงธุรกิจซักอบรีด ธุรกิจทำความสะอาดที่พัก หรือธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ขณะเดียวกัน กลุ่มนี้ก็เริ่มมีความรอบคอบในการวางแผนการใช้ชีวิตรวมถึงการวางแผนทางการเงินมากขึ้น จึงมีการดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรง เพราะไม่มีคนดูแล อาทิ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส การซื้อบริการประกันชีวิตหรือการมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แนะแบรนด์ปรับธุรกิจรับตลาดคนโสด

เมื่อคนโสดกลุ่มนี้มีความต้องการแตกต่างจากกลุ่มคนโสดทั่วไป ส่งผลให้ธุรกิจอาจต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค-บริโภค อาทิ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม

โดยอาจต้องออกแบบมาให้มีขนาดเล็กลงจากเดิมเพื่อให้ทานหมดในครั้งเดียว หรือมีจำนวนชิ้นต่อหน่วยลดลง โดยโปรโมชั่น 1 แถม 1 อาจไม่สามารถใช้ได้กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจตรงข้ามกับการจับตลาดครอบครัวใหญ่ที่ต้องการสินค้าไซส์ใหญ่หรือหีบห่อที่มีสินค้าจำนวนมากชิ้น

ดังเช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจต้องมีการออกแบบสถานที่เพื่อรองรับลูกค้าที่มาทานคนเดียวให้มีจำนวนหรือพื้นที่รองรับเพิ่มขึ้น โดยอาจแบ่งสัดส่วนพื้นที่เพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว หรือเพิ่มบาร์ที่นั่งคนเดียว รวมถึงการพัฒนาเมนูอาหารสำหรับทานคนเดียวที่มีอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีร้านอาหารที่ให้บริการแบบ one-person restaurant เพื่อบริการลูกค้าที่มาคนเดียวในประเทศไทยบ้างแล้ว และคาดว่าแนวคิดนี้จะกระจายไปยังผู้ประกอบการ ร้านอาหารอื่นๆ เพิ่มขึ้น

สำหรับ ร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งถึงที่พัก หรือเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับความนิยมสำหรับคนโสดที่อยู่คนเดียว และไม่มีเวลา หรือไม่มีใครซื้ออาหารให้ ซึ่งรูปแบบดังกล่าว อำนวยความสะดวกให้สามารถสั่งสินค้าทีเดียวได้หลายๆ ร้าน อย่างไรก็ตาม หากการสั่งอาหารมีจำนวนน้อย อาจไม่คุ้มต่อราคาค่าจัดส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารในกลุ่มนี้ อาจต้องพัฒนารูปแบบการปรุงอาหารหรือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บหรือถนอมอาหารให้คงคุณภาพ หรือรสชาติและเก็บไว้ทานได้นานขึ้น เพื่อที่คนโสดจะได้สามารถสั่งอาหารในปริมาณที่สูง และคุ้มกับค่าขนส่ง ซึ่งปัจจุบัน ก็มีบรรจุภัณฑ์ถนอมอาหารที่ถูกพัฒนาออกมาจำนวนมาก อาทิ Active Packaging ที่ยืดอายุอาหาร ได้นานขึ้น เป็นต้น

ส่วนธุรกิจด้านการท่องเที่ยว กลุ่มคนโสดจำนวนมากมีการวางแผนรูปแบบการเดินทางเอง โดยอาจหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต หรือใช้บริการทัวร์ตามไลฟ์สไตล์ความชอบที่เหมือนๆ กัน อาทิ ทัวร์ทำบุญ โดยสิ่งที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงค่อนข้างสูงคือ ความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่คนโสดค่อนข้างกังวล โดยเฉพาะคนโสดที่เป็นผู้หญิงหรือผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้อาจต้องการโปรแกรมท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ หรืออาจไปกับคนรู้จัก ที่จัดเป็นกลุ่มย่อยๆ 4-5 คน

รวมไปถึงธุรกิจบริการด้านอื่นๆ เช่น ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจสอนทำอาหารสำหรับหรับคนโสด ธุรกิจให้บริการพื้นที่ทำงาน หรือกิจกรรมร่วมกันสำหรับคนโสดที่ต้องการเข้าสังคม (Co-Working Space) เป็นต้น ต้องปรับรูปแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของคนโสดมากยิ่งขึ้น

จึงนับเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์และผู้ประกอบการ SME ที่จะพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อเจาะตลาดนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนโสดที่อยู่คนเดียว ซึ่งนอกจากจะสามารถทำตลาดในประเทศแล้ว ยังสามารถขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะมีจำนวนคนโสดเพิ่มมากขึ้น ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น หรือจีนด้วย

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like