HomeBrand Move !!10 เรื่องโรงแรม TRIPLE Y พลิกกลยุทธ์ฟื้นโควิด สร้างดีมานด์ใหม่ พลังสามย่านมิตรทาวน์หนุน

10 เรื่องโรงแรม TRIPLE Y พลิกกลยุทธ์ฟื้นโควิด สร้างดีมานด์ใหม่ พลังสามย่านมิตรทาวน์หนุน

แชร์ :

มิกซ์ยูสโปรเจกต์มูลค่าหมื่นล้าน “สามย่านมิตรทาวน์” แลนด์มาร์กใหม่ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่เปิดตัวในเดือนกันยายนปี 2562 ผ่านไปเพียง 4 เดือน ก็ต้องมาเจอกับสถานการณ์ Covid-19 ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ตามมาด้วยมาตรการ Lockdown มาถึงวันนี้สถานการณ์เริ่มกลับสู่ปกติ ทั้งฝั่งรีเทลและสำนักงาน ส่วนโรงแรม ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ต้องพลิกเกมใหม่ในวันที่น่านฟ้าไทยยังไม่เปิด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถานการณ์โควิดทำให้ประเทศไทยต้องปิดน่านฟ้า ห้ามการเดินทางต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบสาหัสกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนและเพื่อธุรกิจ แม้ภาครัฐคลายล็อกดาวน์ให้ทุกธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้แล้ว แต่โรงแรมในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงปิดบริการ เพราะไร้ดีมานด์ต่างชาติ ขณะที่คนไทยจุดหมายท่องเที่ยวหลักคือ ต่างจังหวัด

นับตั้งแต่เกิดโควิด ทริปเปิ้ล วาย โฮเทล (TRIPLE Y HOTEL) โรงแรมในสามย่านมิตรทาวน์ ขนาด 102 ห้อง ไม่เคยปิดบริการ สถานการณ์หลังปลดล็อกดาวน์ เริ่มเห็นตัวเลขผู้ใช้บริการขยับขึ้น แม้ยังไม่สามารถกลับไปยืนตัวเลขเดิมก่อนโควิด ที่มียอดใช้บริการเฉลี่ย 75% แต่ทั้งปีนี้น่าจะเห็น 40-50% หากเทียบกับโรงแรมในกรุงเทพฯ ด้วยกันถือว่าดีกว่ามาก

จากช่วงต่ำสุดของสถานการณ์โควิด เดือนมีนาคม-เมษายน ทริปเปิ้ล วาย โฮเทล มียอดผู้เข้าพักเหลือ 8% ตามดู 10 เรื่อง การพลิกกลยุทธ์ฟื้นธุรกิจในปีนี้

1. อยู่ในมิกซ์ยูสจึงไม่ต้องปิด โรงแรม TRIPLE Y เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ค้าปลีก สำนักงานเช่า และที่พักอาศัย แม้ช่วงที่มีมาตรการ Lockdown ปิดห้าง แต่ส่วน ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ยังเปิดอยู่ ทำให้มีคนมาใช้บริการ เข้าออกในโครงการอยู่ตลอดเวลา ไม่เงียบเหมือนโรงแรมที่อยู่แบบสแตนด์อะโลน ส่วนของโรงแรมทริปเปิ้ลวาย จึงยังเปิดปกติ โดยมีคนเข้าพักเป็นกลุ่มพนักงานบริษัทที่ทำงานอยู่ในสำนักงานเช่าและพนักงานของร้านค้า ที่ไม่ต้องการเดินทางในช่วงโควิดระบาด

2. ยกชั้นทำ Social Strategy ช่วงที่โควิดระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักแล้ว โรงแรมทริปเปิ้ลวาย ได้ช่วยเหลือสังคม ด้วยการยกพื้นที่กว่า 1 ชั้น 28 ห้อง หรือคิดเป็น 20% ของโรงแรมให้เป็นพื้นที่รับรองบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าพักฟรี และลดค่าห้องพักช่วยเหลือร้านค้าที่ยังเปิดบริการในสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง อีกทั้งช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่เกิดจากการเดินทางสาธารณะของพนักงานร้านค้า

3. อยู่ในมิกซ์ยูสต้นทุนต่ำกว่าโรงแรมทั่วไป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ภาครัฐได้เริ่มคลายล็อกดาวน์ ให้กิจการต่างๆ เปิดได้แล้ว แต่โรงแรมในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ 5 ดาว ส่วนใหญ่ยังปิดอยู่ถึงปัจจุบัน เพราะลูกค้ากลุ่มหลักนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาเที่ยวพักผ่อน นักธุรกิจกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) ยังไม่กลับมา ส่วนคนไทยมักเที่ยวต่างจังหวัด เมื่อไม่มีต่างชาติเข้ามา หากมีจำนวนคนเข้าพักไม่มาก โรงแรมในกรุงเทพฯ จึงเปิดไม่ได้ จากต้นทุนสูง เพราะต้องให้บริการทั้งส่วนห้องพักและร้านอาหาร จึงไม่คุ้มทุน

แต่ทริปเปิ้ลวาย เป็นโรงแรมขนาด 102 ห้อง ที่มีพนักงานราว 50 คน ใช้ Facilities ให้บริการลูกค้าร่วมกับพื้นที่ค้าปลีกของสามย่านมิตรทาวน์  เช่น เป็นพันธมิตรกับร้าน The Coffee Club เพื่อให้บริการอาหารเช้ากับผู้เข้าพัก จึงไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องห้องอาหารเอง ปีนี้จะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับร้าน Tim Hortons เป็นอีกทางเลือกให้บริการอาหารเช้ากับผู้เข้าพัก

 4. สามย่านมิตรทาวน์แม่เหล็กดึงคน  สำหรับโรงแรมทริปเปิ้ล วาย เพิ่งเปิดให้บริการพร้อมสามย่านมิตรทาวน์ ในเดือนกันยายน 2562 ช่วง 4 เดือนแรกของการเปิด คือ กันยายน 2562 – มกราคม 2563 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด มียอดใช้บริการเฉลี่ยกว่า 75%  ซึ่งถือว่าดีมาก เมื่อเทียบกับโรงแรมเปิดใหม่ที่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะได้ยอดเข้าพักในอัตรานี้ นั่นเป็นเพราะโรงแรมอยู่ในโครงการมิกส์ยูส ที่เป็นแม่เหล็กดึงคนได้ดีกว่าโรงแรมรูปแบบสแตนด์อะโลน

ช่วงมาตรการล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดเดินทาง ยอดผู้ใช้บริการโรงแรมลดลงเหลือ 8% ในเดือนมีนาคม-เมษายน แต่หลังปลดล็อกผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 15-25% แล้ว

5. เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย  เดิมโรงแรมมีลูกค้าหลักนักท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนคิดเป็น 70% ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้ภาษาจีน (จีน ไต้หวัน ฮ่องกง) 70%  ยุโรปและสหรัฐฯ 20%  ไทย 10%  และลูกค้าใช้บริการเพื่อธุรกิจ เช่น ประชุมสัมมนา เทรนนิ่ง อบรม ต่อเนื่องหลายวัน คิดเป็น 30%

แต่จากผลกระทบของโควิด โรงแรมต้องเพิ่มกลุ่มลูกค้าหลักเป็น กลุ่มการเข้าใช้บริการเพื่อธุรกิจ 70% และลดสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าเพื่อการท่องเที่ยวเหลือเพียง 30% เนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

6. โปรโมชั่นหั่นราคาห้องพัก เมื่อการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาปกติ ก็ต้องจัดโปรโมชั่นจูงใจ ช่วงเดือนมิถุนายนได้ขาย Voucher ห้องพักแบบ Deluxe ในราคา 999 บาทสุทธิ (ไม่รวมอาหารเช้า) เข้าพักได้ถึง 31 ตุลาคม 2563

เดือนกรกฎาคมที่ภาครัฐปลดล็อคเต็มที่มากขึ้น โดยขาย Voucher ห้องพักแบบ Deluxe ราคา 1,299 บาทสุทธิ (ไม่รวมอาหารเช้า) ถ้าหากซื้อครบ 5 ใบ แถม 1 ใบฟรี และเข้าพักได้ถึง 31 ตุลาคม 2563

7. สร้างดีมานด์ใหม่กลุ่มประชุมสัมมนา เมื่อรัฐบาลได้ประกาศมาตรการคลายล็อคเฟส 3 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ให้สามารถจัดการประชุมสัมมนาได้ ภาคธุรกิจได้กลับมาทำงานเกือบ 100% กิจกรรมทางธุรกิจ อาทิ ประชุม สัมมนา เทรนนิ่ง อีเวนท์ รวมถึงการเปิดสายการบินในประเทศ ทำให้เกิดการเดินทางจากสาขา หรือหน่วยงานในต่างจังหวัด มาติดต่องาน ประชุมสัมมนา รวมถึงเทรนนิ่งกับส่วนกลางที่กรุงเทพฯ มากขึ้น  โรงแรมจึงปรับตัวเข้ามาเจาะตลาดกลุ่มนี้

โดยได้จับมือ (Co-Partner) กับวิคเตอร์คลับ (Victor Club) ห้องประชุมของกลุ่มโกลเด้นแลนด์ และสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ (Samyan Mitrtown Hall) ห้องประชุม และฮอลล์อเนกประสงค์ของสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อสร้างดีมานด์ในกลุ่มประชุมสัมมนา เพื่อมาเข้าพักที่โรงแรม เริ่มได้ยอดการเข้าใช้บริการจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งมีอีกหลายอีเวนท์อยู่ในตารางจัดงานของทั้ง 2 สถานที่ เช่น เทศกาลหนังสือเริ่มต้น Book Fest 2020  วันที่ 24 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์

8. มีกิมมิกห้องพัก Campus Suite ดึงเวิร์กช้อป ด้วยจุดเด่นของทำเลที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับสำนักงานเช่า และใกล้สถานศึกษา จึงออกแบบห้องพักทุกชั้นมีห้องพักแบบ Campus Suite  เป็นกลุ่มห้องพัก 6 ห้อง มีพื้นที่ Co-living  ร่วมกัน การใช้งานมัลติ ฟังก์ชั่น โต๊ะประชุม รับประทานอาหาร มีพื้นที่และอุปกรณ์เตรียมอาหาร จอทีวีขนาดใหญ่  Campus Suite จึงสามารถใช้ดึงลูกค้าที่จะมาใช้งานด้านเทรนนิ่ง เวิร์กช็อป นักศึกษาทำรายงานกลุ่ม เป็นการดีไซน์ห้องพักให้ตอบโจทย์ดีมานด์ในพื้นที่

9. แพ็คเกจท่องเที่ยวรัฐช่วยโหมครึ่งปีหลัง มาตรการเที่ยวปันสุขของภาครัฐกับแพ็คเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้ 40% และประชาชนออกเอง 60% โดยสิทธิ์ค่าที่พักโรงแรม (ไม่เกิน 5 ห้อง 5 คืน) รัฐออกให้ 40% ของราคาห้อง หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน สิทธิ์คูปองส่วนลด (Voucher) ค่าอาหารและค่าสถานที่ท่องเที่ยว รัฐออกให้ 40% ไม่เกินวันละ 600 บาทต่อคืน และสิทธิ์ค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศไม่เกินใบละ 1,000 บาท โดยเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ที่เว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 และเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ 18 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2563

ถือเป็นมาตรการที่จะมาช่วยกระตุ้นตลาดไทย ช่วยให้การเข้าพักโรงแรมครึ่งปีหลังกระเตื้องขึ้นจากผลกระทบโควิด  แต่รูปแบบ Travel Bubble กับต่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะประเทศที่ไทยวางแผนจะจับคู่ด้วย ต่างเจอการระบาดระลอกสองอยู่ในขณะนี้

คุณวิทวัส คุตตะเทพ

10. ปีนี้ยอดเข้าพักได้เห็น 40-50% รอปกติปี 65 จากกลยุทธ์ฟื้นธุรกิจโรงแรมจากโควิดที่วางไว้ คุณวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานโครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ผู้บริหาร ทริปเปิ้ล วาย โฮเทล เชื่อว่าจะทำให้ยอดการเข้าพักปีนี้ น่าจะทำได้ 40-50%

แม้สถานการณ์โควิดในประเทศไทยจะดีขึ้นและธุรกิจเปิดดำเนินการเป็นปกติแล้ว แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงไม่กลับมาฟื้นเร็ว เพราะต้องรอการเปิดน่านฟ้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา ซึ่งแต่ละประเทศยังต้องเฝ้าระวังการระบาดซ้ำ เมื่อยังไม่มีวัคซีน นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยากที่จะกลับมาเร็ว จึงทำได้แค่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ มองว่าปี 2564 ก็น่าจะมียอดเข้าพักในอัตราเดียวกับปีนี้ที่ 40-50% และจะกลับสู่ปกติได้ในปี 2565


แชร์ :

You may also like