HomeInsightฟัง! Accenture แนะ 3 ทางรอด “ธุรกิจ” ในปี 2020 ถ้าวันนี้ไม่ปรับ ก็ไม่เหลือที่ยืนอีกต่อไป

ฟัง! Accenture แนะ 3 ทางรอด “ธุรกิจ” ในปี 2020 ถ้าวันนี้ไม่ปรับ ก็ไม่เหลือที่ยืนอีกต่อไป

แชร์ :

หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นภาพการปรับตัวของหลายองค์กรเพื่อให้รอดพ้นเอื้อมมือการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีหลายองค์กรธุรกิจที่ยังคงยึดฐานที่มั่นและกรอบความคิดแบบเดิมๆ ไม่ว่าโลกธุรกิจจะหมุนเร็วขนาดไหน หรือคู่แข่งจะเข้ามาประชิดตัวอย่างไร แต่ในปี 2020 หากผู้ประกอบการยัง “ไม่” ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ อาจจะล้มทั้งยืน หรือถูกธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อนกลืนไม่รู้ตัว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นี่เราไม่ได้ขู่! เพราะโลกธุรกิจวันนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายและไม่แน่นอน “หนักข้อ” ขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน แม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ที่ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง หลายองค์กรยังไม่อาจต้านทานอำนาจการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วองค์กรที่ยังยึดติดกับการทำธุรกิจดั้งเดิม จะไปต่อได้อย่างไร ดังนั้น หากไม่อยากเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไปไม่รอด มีแนวทางอะไรบ้างที่จะช่วยให้ธุรกิจรอดพ้นและเติบโตต่อไปได้ มาดูบทวิจัย Make Your Wise Pivot to the New พร้อมแนวทางการปรับตัวจาก คุณนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ซึ่ง BrandBuffet ได้สรุปมาเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

1.Transform the Core Business ปรับประสิทธิภาพธุรกิจหลักให้แข็งแกร่ง

เป็นแนวทางที่ฟังดูคุ้นหูใช่ไหม และเชื่อว่าหลายองค์กรล้วนตื่นตัวและมีการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น โดยการทรานสฟอร์มธุรกิจหลักให้ดีขึ้นในมุมของเอคเซนเชอร์จะเป็นมากกว่าการใช้เทคโนโลยี โดยเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานและกลยุทธ์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การย้ายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีไปสู่คลาวด์ การปรับปรุงประสิทธิภาพกำลังแรงงาน รวมถึงการลดต้นทุนและการยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรให้มากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวและสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ขณะเดียวกันยังจะช่วยให้องค์กรสามารถแสวงหาโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจใหม่ได้มากขึ้นด้วย

โดยมีงานวิจัยชัดเจนว่าร้อยละ 76 ของบริษัทมีศักยภาพการลงทุนเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมให้คงอยู่ได้ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นโดยเฉลี่ยร้อยละ 49 นอกจากนี้ ร้อยละ 70 ของบริษัทที่ปรับทิศได้ดี ยังมีความสามารถในการลงทุนที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจใหม่ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นอีกร้อยละ 46

2. Grow the Core มุ่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจหลัก

ในวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ แม้ในยามที่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะสะดุดเสมอไป มีหลายธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ดีจึงไม่ควรหยุดนิ่ง เพราะการหยุดนิ่งนั้นเท่ากับธุรกิจนับถอยหลัง หรือปล่อยให้คู่แข่งนำหน้าไปด้วย โดยสิ่งที่ควรทำมากขึ้นคือ การผลักดันธุรกิจหลักให้เติบโต โดยอาจจะนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อทำให้เข้าใจลูกค้ายุคดิจิทัลที่มีอยู่ได้ดีขึ้น รวมทั้งนำ การตลาดดิจิทัลและประสบการณ์ที่ตอบโจทย์แต่ละบุคคล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจและทำให้ธุรกิจได้ใจลูกค้าไปเต็มๆ จนคู่แข่งต้องแอบอิจฉาทีเดียว

3.Scale New Business พลิกตลาดเก่า สู่ตลาดใหม่

นอกจากการเสริมประสิทธิภาพธุรกิจหลักที่ทำอยู่ในปัจจุบันแล้ว องค์กรต้องมุ่งไปข้างหน้า ด้วยการแสวงหา ธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตด้วย โดยผลวิจัยสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า องค์กรที่มีการใช้กลยุทธ์สร้างธุรกิจใหม่ จะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น จะเห็นได้จากบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างไมโครซอฟท์ที่สามารถก้าวข้ามจากธุรกิจเดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ ในอดีตเมื่อเอ่ยถึงไมโครซอฟท์ คนจะรู้จักในฐานะบริษัทผู้ผลิตระบบปฏิบัติการ “วินโดวส์” แต่วันนี้เมื่อพูดถึงไมโครซอฟท์ หลายคนนึกถึงคลาวด์ และทุกวันนี้รายได้มากกว่า 30% ของไมโครซอฟท์มาจากธุรกิจคลาวด์ แต่ขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ไม่ได้ละทิ้งธุรกิจเดิม ยังคงพัฒนาวินโดวส์ต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่เขาจะสามารถสร้างการเติบโตได้

หรือ Netflix แม้จุดเริ่มธุรกิจจะมาจากธุรกิจ Streaming โดยใช้คอนเทนต์คนอื่น แต่วันนี้ Netflix ทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ จาก content streaming เป็น content producer จนรายได้ Netflix ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นเอง โดยหัวใจของการทำธุรกิจใหม่ไม่ได้อยู่ที่การวางแผนลงทุนในสิ่งใหม่ แต่อยู่ที่ Timing เพราะไมโครซอฟท์และ Netflix คิดและทำสิ่งนี้ก่อนที่ธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะมีผลกระทบแล้วลงทุนในธุรกิจในอนาคตล่วงหน้า

แม้การขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ผลวิจัยสะท้อนชัดว่า ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่ในไทยและอาเซียนยังยึดติดกับธุรกิจหลัก และจะปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่เมื่อมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา สวนทางกับองค์กรในตลาดโลกที่จะวางแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ล่วงหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์กรส่วนใหญ่ไม่คิดว่าธุรกิจใหม่ข้างหน้าจะสร้างรายได้อย่างมีสาระสำคัญ จากผลวิจัยระบุชัดว่าใน 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ของบริษัทในอาเซียนจากธุรกิจใหม่จะไม่ถึง 50% ขณะที่ทั่วโลกมองว่า 33% รายได้จะมาจากธุรกิจใหม่ รวมถึงข้อจำกัดด้านความสามารถในการลงทุนด้วย

“ที่ผ่านมาธุรกิจอาจจะดำเนินไปได้ แต่หากธุรกิจจะอยู่รอดในยุคดิจิทัลไปได้ จะใช้กลยุทธ์ตั้งรับ (Reactive) แบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว จะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ หรือใช้กลยุทธ์เชิงรุกมากกว่านี้ (Proactive)”

สิ่งเหล่านี้ ฟังดูแม้จะเป็นกลยุทธ์พื้นฐานแต่หากผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวตอนนี้ เราเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ปีนี้ธุรกิจของคุณยังมีที่ยืนต่อไปในตลาดแน่นอน และถ้าลงมือปรับอย่างจริงจัง คุณอาจจะคว้าโอกาสจากธุรกิจใหม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย


แชร์ :

You may also like