HomeBrand Move !!SCG จัดงานใหญ่ SD Symposium 10 Years งัดแนวคิด Circular Economy จับมือ 45 องค์กรพันธมิตร สู้วิกฤติขยะล้นโลก

SCG จัดงานใหญ่ SD Symposium 10 Years งัดแนวคิด Circular Economy จับมือ 45 องค์กรพันธมิตร สู้วิกฤติขยะล้นโลก

แชร์ :

SCG เริ่มต้น จัดงาน Thailand SD Symposium ตั้งแต่ปี 2010 เพื่อจุดประกายแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร Passion for Better ซึ่งคำว่าดีขึ้นนั้นหมายรวมถึงการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดงานเปลี่ยนแปลงในเชิงเนื้อหาไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอคคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในระดับโลกและประเทศไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในปีนี้  SD Symposium จัดขึ้นภายใต้ธีม SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ แค่ตระหนักดูเหมือนจะไม่เพียงพอซะแล้ว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกของเรา ต้องการ “การลงมือทำ” และไม่ใช่ทำแค่คนเดียวแต่ต้องรวมกันเป็น “พันธมิตร”

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ประเดิมเวทีด้วยข้อมูลสนุกๆ ที่เมื่อคิดตามแล้วเศร้าเล็กๆ เมื่อรู้ว่า “มนุษย์ 1 คน ผลิตขยะวันละ 1.15 กิโลกรัม” คุณรุ่งโรจน์ยังสมมุติให้เห็นภาพขึ้นไปโดยยกตัวอย่างตัวเองขึ้นมาว่า คนอายุ 56 ปี เฉลี่ยแล้วสร้างขยะมาทั้งชีวิตราวๆ 24 ตัน และถ้าหากคิดถึงอนาคตที่ประชากรโลกจะมีถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 การทิ้งขยะหรือการขาดระบบบริหารจัดการที่ดีจะนำมาซึ่งปัญหาสารพัดอย่าง จึงเป็นที่มาของการที่ SCG มุ่งนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในองค์กรอย่างครบวงจรตั้งแต่ ผลิต – บริโภค- นำกลับมาใช้ซ้ำ  และในฐานะองค์กรใหญ่ที่มีองค์ความรู้ SCG จะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงกระบวนการผลิตให้เอื้อต่อการที่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายจะนำเอาโปรดักท์หนึ่งชิ้นกลับมาใช้ซ้ำ หรือมีแนวทางกำจัดเมื่อสินค้านั้นถูกใช้งานเสร็จแล้ว

จากการที่ SCG ได้ลงมือทำ Circular Economy ในองค์กรแล้ว จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้ นำเอากรณีศึกษาทั้งหลายมาแบ่งปันในงาน  SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ แห่งนี้ที่เชิญชวนภาคส่วนต่างๆ มาร่วมมือไปด้วยกัน

เวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในอาเซียนร่วมแสดงความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อม

Circular Economy คืออะไร?

แม้ว่า SCG จะเริ่มต้นพูดถึง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  มาตลอดในช่วง 2 ปีหลัง รวมทั้งมีหลายหน่วยงานพูดถึงแนวคิดนี้มากขึ้น แต่ก็ยังต้องถือว่า  Circular Economy เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย โดยสิ่งที่ SCG นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในองค์กร ผ่าน 3 กลยุทธ์หลักคือ

1. Reduce และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น เช่น การออกแบบกล่องลูกฟูกให้มีลอนขนาดเล็กพิเศษแบบ Micro flute จึงเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ใช้กระดาษน้อยลง แต่ยังคงมีความแข็งแรงสูง และการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE112 สำหรับท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย ที่มีคุณสมบัติทนแรงดันได้สูงขึ้น ทำให้ลดความหนาของผนังท่อลงได้ จึงใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง

2. Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ใช้งานได้โดยก่อให้เกิดของเสียบริเวณหน้างานก่อสร้างน้อยที่สุด อย่างห้องน้ำระบบโมดูลาร์หรือการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป หรืออิฐมวลเบาแบบ cut-to-size การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแบรนด์เฟสท์ (Fest) ที่ทำจากเยื่อธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้กล่องโฟม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Flexible Packaging) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง และนำกลับไปรีไซเคิลได้ง่าย และการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ช่วยลดน้ำหนักของรถยนต์ แต่ยังคงความแข็งแรง ทำให้ประหยัดพลังงาน

3. Reuse หรือ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น การผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในการผลิตสูงขึ้น การร่วมมือกับร้านค้า Modern Trade และซุปเปอร์มาเก็ตรับกล่องหรือเศษกระดาษกลับมารีไซเคิลเพิ่มขึ้น และการออกแบบสูตรการผลิตเม็ดพลาสติก (Formulation) โดยนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกจากเทคโนโลยี SMX ของเอสซีจีที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติของพลาสติกรีไซเคิลให้ดีขึ้น และสามารถเพิ่มสัดส่วนของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30

โดยในปีที่ผ่านมา SCG สามารถนำของเสียอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบทดแทนได้ถึง 313,000 ตัน และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 131,000 ตันของเสียต่อปี และในปีนี้ ยังคงเดินหน้าการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยได้ตั้งเป้าการลดการผลิตพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2025 และเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025

งานนี้ไม่ได้ทำคนเดียว

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สิ่งสำคัญที่ทาง SCG ได้เรียนรู้และวางแผนนำมาต่อยอดก็คือ “การสร้างเครือข่ายพันธมิตร” ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีทั้งสิ้น 45 รายแล้ว แต่ทาง SCG รู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้อย่างแท้จริง ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐบาล เอกชน ภาคประชาสังคม

“หัวใจสำคัญคือการสื่อสาร (Communication) เราต้องสร้างบทสนทนาที่เป็น Common Conversation เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วสร้าง Win-Win Situation สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด”

“ต่อมาก็คือ นวัตกรรม (Innovation) ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่านวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือที่พาเราไปสู่การแก้ปัญหาที่เดิมเราไม่เคยสามารถแก้ไขมันได้ หรืออาจจะทำได้ไม่ดีพอ สำหรับ SCG เราให้ความสำคัญกับ Circular Economy มากว่า 2 ปี และเราค้นพบว่าเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าแค่เราคนเดียวจะแก้ไขได้ ความร่วมมือจะสามารถส่งผลได้มากกว่า ดังนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้มาแล้วจะนำไปพัฒนาต่อก็คือ Collaboration ที่จากเดิมเราร่วมมือกับองค์กรใหญ่ ต่อจากนี้จะต้องนำเอาสิ่งที่เราคิดค้นไปถ่ายทอด หรือทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับกลางหรือแม้แต่ระดับย่อย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุด” คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจีกล่าว

องค์กรระดับโลกร่วมแชร์ไอเดียแห่งความยั่งยืน

ไม่ใช่แค่องค์กรภายในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจาก SCG มีธุรกิจระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน การขับเคลื่อนแนวคิด Circular Economy หรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงต้องดำเนินการในระดับโลกเช่นกัน จนเป็นที่มาของวิทยากรที่น่าสนใจจาก Global Company ที่มาแชร์เรื่องราว ซึ่งเซกชั่นนี้ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและกระตุกต่อมคิดให้ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรได้เป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็น Inspiration Talk จาก คุณ Lars Svensson, Sustainability and Communication Director, IKEA หัวเรือใหญ่ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากเฟอร์นิเจอร์อิเกีย ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะที่อิเกีย นอกเหนือจากการผลิตสินค้าแล้ว อิเกีย ยังทำธุรกิจครบวงจรด้านรีเทลของตัวเอง ซึ่ง คุณ ลารส์ เล่าว่า การสร้าง Circular Economy ตามแบบฉบับของอิเกีย ต้องเริ่มจากการที่แบรนด์มีความเข้าใจถ่องแท้ และมองไปให้ไกลกว่าแค่มุมมองจากผู้บริโภคเท่านั้น สำหรับอิเกีย ต้องคำนึงตั้งแต่ดีไซน์, กระบวนการผลิต, การใช้วัตถุดิบ กระทั่งหน้าร้านของอิเกียเอง เขายังยกตัวอย่างสาขาในประเทศไทย ที่มีความพยายามออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานสูงสุด และการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อนำเอาวัตถุดิบในพื้นที่มาจำหน่าย ที่สำคัญของคนทำงานก็คือ ต้องมองโลกในแง่บวก มีกำลังใจอยู่เสมอว่าการทำงานในเรื่องนี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และโลก ถึงแม้ว่าช่วงเริ่มต้นมันจะเป็นเรื่องยาก

ในส่วนของ ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชี้ประเด็นให้เห็นว่า การจะยกระดับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กลายเป็นประเด็นในสังคมได้ ในฐานะองค์กรใหญ่ จะต้อง “สร้างคำมั่นสัญญา” (Commitment) กับตัวเองก่อน ว่าตั้งใจจะทำแน่ๆ หลังจากนั้นก็พิจารณาถึง Key Strategic Partner เพื่อรวมกลุ่มตั้งต้น แล้วหลังจากนั้นภายในกลุ่มก็จะเกิดการแชร์คุณค่า ความเชี่ยวชาญของตัวเองออกมาจนกลายเป็นโซลูชั่นแก้ปัญหา และถ้าหากว่ากลุ่มที่เป็นแกนกลางทำสำเร็จ ก็จะเกิดเป็นกระแส, ตัวอย่าง แล้วเครือข่ายอื่นๆ จะตามขึ้นมาเอง

ระดมสมอง นำเสนอกับนายกรัฐมนตรี

หลังจากได้รับฟังแนวทางการแก้ปัญหาจากองค์กรขนาดใหญ่แล้ว ในงาน SD Symposium ในครั้งนี้ ยังพาผู้เข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งของการหาแนวทางปัญหาขยะในประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่ง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องขยะแตกต่างกัน เช่น ผู้ที่ทำงานด้านการกำจัดขยะ, นักวิชาการ มาร่วมพูดคุย และหลังจากนั้นก็นำเอาบทสรุปนำเป็นแนวทางแก้ปัญหานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

โดยในช่วงนี้มีข้อคิดที่น่าสนใจมากมาย เช่น

อาจารย์วรุณ วารัญญานนท์ Industrial Partnership Advisor, PETROMAT / Assistant Project Manager, Chula Zero Waste, Chulalongkorn University ซึ่งมีประสบการณ์เซ็ทอัพคอมมูนิตี้ปลอดขยะภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์อินไซต์ที่น่าสนใจว่า

“ผู้บริโภคไม่รู้ว่าตัวเองจะทิ้งขยะอย่างไร และสังคมไทยก็มีขยะที่เป็นเศษอาหารเยอะมาก ดังนั้นวิธีการควรเริ่มจากการสร้างระบบที่ดี ในตอนนี้ที่เราทำมีการแยกขยะเป็น 3 ชนิด คือ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขั้นตอนที่สองคือการสื่อสารให้ความรู้ ไม่มีประโยชน์ถ้าหากว่าเราสอนเขาไปแล้ว แต่กลายเป็นว่าระบบเราไม่ดีพอ ขณะเดียวกันถ้าสร้างระบบเอาไว้ แต่ผู้บริโภคไม่รู้อยู่ดีว่าจะทิ้งอย่างไร ก็ไม่เกิดประโยชน์เพียงพอ และการคิดเรื่องขยะต้องคิดมาตั้งแต่ ผู้ผลิต ต้องดีไซน์มาตั้งแต่ต้นว่าเมื่อใช้สินค้าเสร็จแล้วและเกิดเป็นขยะจะแยกหรือบริหารจัดการอย่างไร ส่วน ผู้บริโภค ก็ต้องมีจิตสำนึก ซึ่งผู้บริโภคมี 3 กลุ่ม 1. คนที่อยากแยกขยะมาก 2. คนที่ทำตามกลุ่มที่แยกขยะไป 3. คนที่ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้อาจจะต้องใช้เรื่องของ Enforcement (กฎระเบียบ) เข้ามาช่วย แล้วก็ทำกันจนเป็นนิสัย”

ส่วน คุณกมล บริสุทธนะกุล Chief Financial Officer, TPBI PCL. มองว่าต้องเริ่มจากการที่ทำให้คนไทยมีแรงจูงใจซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาแรงจูงใจดังกล่าวสามารถออกมาในรูปแบบของ “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” หรือ “การทำบุญลุ้นโชค” ก็ได้

หลังจากนั้นไอเดียที่เกิดจการพูดคุยและระดมสมองร่วมกัน ถูกแปลงเอาไปเป็นข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะต่อภาครัฐ ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการบริษัท เอสซีจี เป็นตัวแทนนำเอาไอเดียที่ตกผลึกร่วมกันแล้ว 4 ประเด็นสำคัญประกอบด้วย 1.ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการจัดการขยะ โดยภาครัฐต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมแล้วทำให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องเพิ่มการจัดเก็บ ลดการฝังกลบ การคัดแยกนั้นจะต้องทำอย่างครบวงจร โดยอาจจะนำเอาตัวอย่างที่ดีในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวันเป็นแนวทาง 2. ผลักดันให้ภาคธุรกิจคำนึงเรื่องมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คิดถึงเรื่องการกำจัดขยะเมื่อใช้เสร็จด้วย 3. รณรงค์ให้ความรู้เรื่อง Circular Economy กับประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียน เผยแพร่องค์ความรู้โดยมีสื่อมวลชนช่วยขยายความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง 4.บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ในเรื่องการแยกขยะ

ซึ่งทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นด้วยในหลักการ รวมทั้งนำเอาแนวทางดังกล่าวไปทำงานในเชิงนโยบายและในภาคปฏิบัติต่อไป

 


แชร์ :

You may also like