HomeBrand Move !!แค่สร้าง ‘ย่านการค้า’ ไม่พอ ต้องเชื่อมเป็น Super Core CBD ศึกษาวิธีคิด​​ ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ โปรเจ็กต์ปั้นกรุงเทพฯ เทียบมหานครโลก

แค่สร้าง ‘ย่านการค้า’ ไม่พอ ต้องเชื่อมเป็น Super Core CBD ศึกษาวิธีคิด​​ ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ โปรเจ็กต์ปั้นกรุงเทพฯ เทียบมหานครโลก

แชร์ :

หลังประกาศปิดปรับปรุงไปเมื่อ 5 ม.ค. 2562 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับแลนด์มาร์กใจกลางย่านสีลมอย่าง “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรม ด้วยการให้บริการโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวครั้งแรกในประเทศไทย บนพื้นที่ใจกลางย่านสีลม – พระราม 4 มานานกว่า 50 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

วันนี้ “กลุ่มดุสิตธานี” ประกาศจะนำโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ​ กลับมาพบกับคนไทยอีกครั้งในแบบที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับบริบทของการแข่งขันในโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งเดินหน้าโครงการใหม่ที่ผนึกกับพันธมิตรรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์อย่างเซ็นทรัลพัฒนา ร่วมทุนผุดโปรเจ็กต์ 36,700 ล้านบาท บนพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งต้องถือเป็น Super Prime Location อีกผืนหนึ่งของกรุงเทพฯ กับโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ​โดยหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของโครงการนี้ยังถือว่าเป็นการกำเนิดใหม่อีกครั้งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ นั่นเอง

แต่การมาคราวนี้ไม่ได้มีเพียงแค่โรงแรม 5 ดาว ให้บริการอยู่อย่างโดดเดี่ยวแบบที่ผ่านมา เพราะการกลับมาในครั้งนี้จะเป็นการมาพร้อมกันทีเดียวถึง 4 องค์ประกอบ ภายในโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ทั้งโรงแรม โครงการที่พักอาศัย ศูนย์การค้า รวมทั้งอาคารสำนักงานให้เช่า

เมื่อได้ Prime Location ต้องสร้าง Super Core CBD

ภายหลังบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)​ ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้ลงนามต่อสัญญาพื้นที่เช่าเดิมจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกไปอีกเป็นเวลา 30 ปี และยังได้สิทธิ์ในการเช่าต่อเนื่องต่ออีก 30 ปี รวมทั้งได้เวลาสำหรับการก่อสร้างอีก 7 ปี ซึ่งมากพอสำหรับการคืนทุนเมื่อต้องเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ ประกอบกับเมื่อประเมินศักยภาพของโลเกชั่นแล้ว สามารถลงทุนโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ได้ ประกอบกับได้พาร์ทเนอร์ที่ลงตัว​ นำมาสู่การประกาศเดินหน้า​โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค​ ​ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท วิมานสุริยา จำกัด สัดส่วนการถือหุ้นในฝั่งของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)​ 60% และฝั่งบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 40%

สำหรับโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะกลายมาเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่อยู่บนพื้นที่เดิมที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เคยตั้งอยู่ ซึ่งนอกจากจะมีโรงแรมดุสิตธานี ที่จะเปิดให้บริการหลังรีโนเวทเสร็จแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของโครงการที่อยู่อาศัยอย่าง Dusit Residences และ Dusit Parkside รวมทั้งศูนย์การค้า และสำนักงานออฟฟิศ บนพื้นที่รวมทั้งโครงการ​​ 23 ไร่ จากเดิมที่มีราว 18 ไร่ ​​พื้นที่ใช้สอยโดยรวมมากกว่า 440,000 ตารางเมตร จากเดิมที่มีเพียงพื้นที่ใช้สอยของโรงแรมประมาณ 1 แสนตารางเมตร รวมไปถึงมูลค่าโครงการที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 36,7000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง​ 3-4 เท่าตัวเลยทีเดียว

อย่างที่ทราบกันดีว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจ Retail และ Property หลายๆ รายให้ความสำคัญ คือความพยายามในการสร้างย่านการค้าใหม่ๆ หรือ CBD (Central Business District) ด้วยการผุดโครงการมิกซ์ยูสต่างๆ เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการปั้นให้แต่ละพื้นที่กลายเป็น New CBDพราะหลังโครงการแล้วเสร็จก็เท่ากับจะมีเมืองย่อยๆ เกิดขึ้นในแถบนั้น เพราะนำมาทั้งคนที่อยู่อาศัยในโครงการ ธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาเปิดภายในศูนย์การค้าหรือโรงแรม จำนวนพนักงานที่มาพร้อมกับบริษัทต่างๆ ที่มาเช่าออฟฟิศ สำนักงาน รวมทั้งในบางโครงการที่ยังมีการสร้างศูนย์ประชุมที่รองรับธุรกิจ MICE และสนับสนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศเติบโตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

แต่สำหรับซูเปอร์โปรเจ็กต์​อย่างดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ภายใต้การพัฒนาของสองพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มดุสิตและซีพีเอ็น ซึ่งแต่ละรายล้วนมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญทั้งในธุรกิจบริหารโรงแรมและธุรกิจค้าปลีกมากว่า 70 ปี ท้ังสองรายมองว่า หลังจากโครงการแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2567 หรืออีกราวๆ 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งโครงการนี้จะไม่ใช่แค่การเกิด New CBD เพิ่มขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นการเสริมศักยภาพที่แข็งแรงอยู่แล้วของพื้นที่ในย่านนี้ให้เหนือกว่าแค่การเป็น CBD ทั่วๆ ไป แต่จะกลายเป็น Super Core CBD  

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี และ คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ให้ข้อมูลร่วมกันถึงศักยภาพของโลเกชั่นย่านหัวมุมสีลม -พระราม 4 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว และหากมีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่อย่าง ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่จะมีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ออฟฟิศ​และที่อยู่อาศัย​ ถือกำเนิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว นอกจากโ​ครงการเองจะสร้างให้เกิด​ CBD​ แล้ว ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ยังทำให้ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค กลายเป็น CBD ที่แวดล้อมด้วยทำเลย่านธุรกิจรายรอบทั้ง 4 ทิศ และต่างสามารถเชื่อมโยงเข้ามาสู่โครงการได้ทั้งหมด ทำให้เป็นเหตุผลที่มองว่าพื้นที่นี้จะกลายเป็น Super Core CBD ในอนาคต

“โครงการนี้ถือเป็นการบุกเบิกและพลิกโฉม กทม. ให้สามารถเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญอย่าง CBD ทั้ง 4  ทิศ ที่กระจายกันไปอยู่ในแต่ละมุมของกรุงเทพฯ เข้ามาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ พื้นที่ฝั่งธนฯ แถบทิศใต้ พื้นที่ย่านสุขุมวิทในแถบตะวันออก และพื้นที่ในย่านเยาวราชทางทิศตะวันตก ทำให้สิ่งที่เราสร้างขึ้นมานี้เป็นมากกว่าแค่การสร้างย่านธุรกิจและการค้าใหม่แบบเดิมๆ แต่เป็นการเชื่อมให้แต่ละย่านสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงกันและเติบโตไปพร้อมกันได้ โดยมีโครงการของเราเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่อยู่ตรงกลางทั้งสี่ทิศ และถือเป็นครั้งแรกที่มีโครงการของภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ที่กระจายออกไปในแต่ละฝั่งให้เข้าหากัน”​

นอกจากการเชื่อมโยง CBD ในแต่ละย่านจากทั้ง 4 ทิศ เข้าหากันแล้ว ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ยังเป็นส่วนผสมที่ลงตังระหว่างความเป็น City Life และ Cultural Life เพราะยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างพื้นที่ทางธุรกิจและการเงินที่สำคัญของกรุงเทพฯ อย่างโซนสีลม เข้ากับเมืองเก่าที่มีเอกลักษณ์และรากเหง้าทางวัฒนธรรมอย่างเจริญกรุงและเยาวราช และยังเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจการค้าและย่านช้อปปิ้งที่สำคัญอย่างเซ็นทรัลเวิลด์และชิดลม รวมทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการจราจรที่เป็น Mass Transit ในทุกระนาบ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนทั้ง BTS, MRT ตลอดจนการจราจรบนท้องถนนต่างๆ

จึงเรียกได้ว่าทำเลของโครงการเป็นจุดตัดสำคัญหรือเป็น The New Junction ที่เชื่อมโยงทุกองค์ประกอบสำคัญของ กทม. เข้าหากัน นำมาซึ่งบริบทใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตและเตรียมพร้อมสู่​การยกระดับพื้นที่ให้สามารถกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของโลก จาก​ความมีคุณภาพของการวางผังเมืองที่เหนือระดับทั้งการมีที่พักอาศัย ที่ทำงาน ที่ช้อปปิ้ง และยังอยู่ติดกับสวนลุม ซึ่งเป็นสวนขนาดใหญ่ไม่ต่างจากการเป็นปอดของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับย่านดังๆ ในมหานครระดับโลกอย่างลอนดอน หรือนิวยอร์กซิตี้ ภายใต้การพัฒนาผ่านคอนเซ็ปต์​ Here for Bangkok” เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างครบวงจร และสะท้อนผ่านวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาโครงการที่ดีที่สุดเพื่อคนกรุงเทพฯ

3 ปี เปิดส่วนแรก​​ ประเดิมด้วย โรงแรมดุสิตธานี

สำหรับรายละเอียดขององค์ประกอบต่างๆ ภายในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค และกำหนดเปิดให้บริการต่างๆ มีดังต่อไปนี้

1. โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่แม้จะสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงมนต์เสน่ห์ของโรงแรมดุสิตธานีเดิมไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยและคุณภาพการให้บริการที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก รวมทั้งรูปโฉมใหม่ที่จะยังคงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอาคารเดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นยอดชฎาสีทองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรม ได้ถูกนำกลับมาออกแบบใหม่บนชั้นดาดฟ้าให้กลายเป็นจุดชมวิวบนยอดสูงของอาคาร พร้อมพื้นที่จัดแสดงแกลลอรี่แบบดิจิทัล และร้านอาหารกับรูฟท็อปบาร์ รอบๆ ฐานชฎา

ในส่วนของห้องพัก มีจำนวน 250 ห้อง ความสูง 39 ช้ัน โดยทุกห้องสามารถมองเห็นวิวสวนลุมได้ทุกห้องทั้ง 100% และด้วยจำนวนห้องที่ลดลงจากราว 500 ห้อง ทำให้แต่ละห้องจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพดานสูงขึ้น ก่อสร้างภายใต้มาตรฐานสากลในเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนส่วนอื่น และพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2565

2. อาคารที่พักอาศัย โครงการสูง 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต พื้นที่ 80,000 ตารางเมตร โดยทุกห้องในมุมสูงสามารถมองเห็นวิวแบบพาโนรามาของสวนลุมพินี และวิวเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ และถือเป็นการเข้ามาลงทุนในโครงการที่พักอาศัยเป็นคร้ังแรกของกลุ่มดุสิต จากที่ก่อนหน้าจะเน้นการรับบริหาร โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

– ดุสิต​ เรสซิเดนเซส (Dusit Residences) เริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 30-69 จำนวน 159 ยูนิต เจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา มีความเป็นส่วนตัวสูง สำหรับครอบครัวขนาดกลางและใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และนักธุรกิจที่เดินทางมาทำงานและอยู่ประจำในประเทศไทย

– ดุสิต พาร์คไซด์ (Dusit Parkside) เริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 9 -29 จำนวน 230 ยูนิต ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง ด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย มีระดับ  เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก โดยเป็นอาคารที่พักแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาวหรือลีสโฮลด์ คาดว่าจะเริ่มเปิดให้จองได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ คาดสร้างยอดขายได้ราว 16,000 -17,000 ล้านบาท และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเข้าอยูอาศัยได้ในราวปี 2567 ซึ่งจะเป็นส่วนสุดท้ายของโครงการมิกซ์ยูสที่จะเปิดให้บริการ

3. เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศ (Central Park Offices) อาคารสำนักงานเกรด A สูง 43 ชั้น พื้นที่รวม 90,000 ตารางเมตร พัฒนาขึ้นตามเทรนด์ออฟฟิศยุคใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์และ Professional Hub ที่คำนึงถึงความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ทุกอย่างต้องการความรวดเร็วและเชื่อมโยงเข้าถึงกัน บนพื้นที่ 90,000 ตร.ม. รองรับการเป็นที่ตั้งของบริษัทตั้งแต่ Innovative Start-Ups ไปจนถึงสำนักงานบริษัทระดับโลก มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการราวไตรมาส 3 ในปี 2566

4. ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) บนพื้นที่กว่า 80,000 ตร.ม. พร้อมเพิ่มการเชื่อมโยงการใช้ชีวิตในทุกมิติของคนเมืองจากภายในสู่ภายนอกด้วย Rooftop Park และเพิ่มพื้นที่สีเขียวกว่า 1,000 ตารางเมตร ร่มรื่นที่สุดใจกลางกรุง และจะเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของโครงการเข้าด้วยกัน นำเสนอประสบการณ์รีเทลแห่งอนาคตเพื่อสร้าง New Urbanised Lifestyle ระดับเวิลด์คลาส อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผสมผสานไลฟ์สไตล์อินดอร์และเอ้าท์ดอร์เข้าด้วยกัน โดยรวบรวมแบรนด์ดังระดับไอคอนของโลกและประเทศไทยครอบคลุมทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ พร้อมกับส่วนของออฟฟิศ ในราวไตรมาส 3 ปี 2566​

ในส่วนของการบริหารแต่ละส่วนของโครงการนั้น ทั้งโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โครงการที่พักอาศัย และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค จะบริหารโดยบริษัทร่วมทุนคือ วิมานสุริยา แต่ในส่วนของออฟฟิศสำนักงาน จะเป็นการลงทุนและบริหารงานโดยซีพีเอ็นเป็นหลัก


แชร์ :

You may also like