HomeBrand Move !!“30 ปี เปรียบเหมือนคนหนุ่มไฟแรง” เปิดวิธีคิดแบบ Jaymart เดินหน้าขยายอาณาจักรต่อเนื่อง

“30 ปี เปรียบเหมือนคนหนุ่มไฟแรง” เปิดวิธีคิดแบบ Jaymart เดินหน้าขยายอาณาจักรต่อเนื่อง

แชร์ :


จากธุรกิจห้องแถวขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน สู่ธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือเมื่อ 30 ปีก่อน วันนี้ “เจมาร์ท” ไม่ได้ขายแค่โทรศัพท์มือถืออีกต่อไป แต่ได้สร้างอาณาจักร “J” ขยายธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่การติดตามหนี้ บริหารพื้นที่เช่า ไปจนถึงการลงทุนใน Fintech และสตาร์ทอัพ ด้วยกลยุทธ์ Synergy ที่ผสานจุดแข็งในแต่ละธุรกิจของเจมาร์ทเข้าด้วยกัน เสริมจุดยืนสำคัญที่ต้องการดูแลลูกค้าเหมือนเพื่อน และมอบสิทธิประโยชน์ที่แตกต่าง ให้แข็งแกร่งขึ้นแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เปิดธุรกิจเจมาร์ทยุคดิจิทัล

คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ Jaymart เล่าว่า ย้อนกลับไปช่วง 30 ก่อน เจมาร์ท ได้ผ่านช่วงเวลาที่เป็นอุปสรรคเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ แต่หลังจากที่บริษัทขยาย Business Model และปรับกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการจับกระแสเทคโนโลยีและบริการมานำเสนอให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลุ่มเจมาร์ท มี 6 บริษัทในเครือ ประกอบด้วย

  • Jaymart mobile บริษัทจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทดีไวซ์
  • JMT Network Service ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการติดตามหนี้
  • Jas asset บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารพื้นที่เช่าในส่วนของธุรกิจมือถือและศูนย์การค้าแบบคอมมูนิตี้มอลล์
  • J Fintech ธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสินเชื่อลิสซิ่งและสินเชื่อรายย่อย
  • SINGER ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายสินค้า ซิงเกอร์ เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงสินค้าอื่นๆ
  • J Venture บริษัทที่ลงทุนใน Fintech และสตาร์ทอัพเป็นหลัก

“วันนี้รายได้จากธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายได้รวมทั้งหมดเท่านั้น สำหรับเป้าหมายของในปี 2019 เจมาร์ทตั้งเป้ามีรายได้เพิ่มขึ้น 25% ในไตรมาสสองของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสสองในปีที่ผ่านมา จากปีที่แล้วที่ทำได้ 2,000 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้รวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อนที่ทำได้ 9,500 ล้านบาท” คุณอดิศักดิ่กล่าว

ส่งไม้ต่อ “เจ เอกชัย” Gen 2 ดูแลอาณาจักร “J”

เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ คุณอดิศักดิ์ ฉายภาพถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ โดยเปรียบช่วงเวลา 30 ปีของเจมาร์ท เป็นช่วงชีวิตของบุคคลวัย 30 ปี โดยมองว่าช่วงเวลานี้คือช่วงที่มีความแข็งแกร่งที่สุด เนื่องจากผ่านการเรียนรู้ เติบโต และมีศักยภาพพอที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง

หากคิดว่าจะเกษียณอายุตอน 60 ปี เรายังมีเวลาอีก 30 ปีต่อจากนี้ ที่ต้องดูว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร วันนี้ลูกชาย (คุณเจ เอกชัย สุขุมวิทยา) ซึ่งเกิดมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งเจมาร์ท จะมีอายุครบ 30 ปีเช่นกัน ซึ่งทิศทางธุรกิจของเจมาร์ทต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร จะพัฒนาและขยับขยายธุรกิจต่อไปในทิศทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยด้วย แต่เชื่อว่ากลุ่มเจมาร์ท ยังมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจไปได้อีกมาก

คุณอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า “สิ่งที่ผมบอกกับทีมผู้บริหารของบริษัท คือ วันนี้เราเดินทางมาแค่ 30% ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขที่สร้างให้เกิดภาพว่า เรายังเดินมาไม่ถึงครึ่งนะ ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงช่วงไหนของชีวิตก็ตาม ยังมีอีก 70% ให้เดินหน้าต่อ เพราะเรายังมีหลายสิ่งที่จะทำ เพื่อให้บริษัทในกลุ่มเจมาร์ทเติบโตเป็นครอบครัวใหญ่ ไปพร้อมกับทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่ง และผมจะพูดประโยคนี้ไปอีก 3 ปี 5 ปี ว่า เรามาแค่ 30% เท่านั้น เรายังมีโอกาสในตลาดอีกมาก ซึ่งต้องขอบคุณลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจ

คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน)

คุณเอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเวนเจอร์ จำกัด บอกว่า ในฐานะเป็นเจเนอร์เรชั่นที่ 2 ที่จะมารับช่วงต่อ หลังจากถูกวางมือให้นั่งหลายตำแหน่งกับธุรกิจในหลายบริษัทฯ ประกอบกับได้เห็นการทำงานของพ่อแม่ จากนี้จะนำจุดแข็งของทั้งสองท่าน มาปรับเป็นแนวทางในการทำงานของตัวเอง รวมถึงพยายามมองทุกอย่างให้เป็นโอกาส และคิดเร็วทำเร็ว

ปรับโฉมหน้าร้าน สู่ Destination ด้าน Gadgets 

แม้ว่าการส่งมอบธุรกิจเจมาร์ท จากรุ่นพ่อไปสู่ลูกจะยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนออกมา แต่สิ่งที่เจมาร์ทจะทำในปีนี้ คือการทำยอดขายแต่ละสาขาให้มากขึ้น โดยเจาะตลาดในกลุ่มสินค้า Wearable Device รวมถึงมีการปรับโฉมหน้าร้านใหม่ เพิ่มสินค้าในกลุ่ม Accessories เข้ามามากขึ้น เพื่อให้เป็น Destination ด้าน Gadgets

โดย คุณนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เล่าว่าสำหรับทิศทางการปรับตัวของเจมาร์ทในปีนี้ อาจจะไม่ได้ไปในกลยุทธ์การขยายสาขามากนัก แต่เน้นไปที่การทำยอดขายในแต่ละสาขาให้มากขึ้นแทน โดยในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นสัญญาณตัวเลขการขายที่ดีขึ้นในกลุ่ม Wearable Device หลังจากที่เจมาร์ทได้บริหารสินค้ารุ่นแฟลกชิพแบรนด์ อยู่ใน Location Premium เช่น Huawei Shop ที่พารากอน ไอคอนสยาม รวมถึง Head Quarter ซึ่งอยู่ในพื้นที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นเทรนด์ที่กำลังเข้ามา

นอกจากนี้เจมาร์ทจะปรับโฉมหน้าร้านใหม่ จำนวน 50 สาขา ให้มีภาพลักษณ์ที่ให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น โดยจะใช้งบประมาณรวม 50 ล้านบาท เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อสาขา

“จากการเรียนรู้ประสบการณ์ในการเข้ามาที่ร้านของลูกค้า การเปลี่ยนโฉมหน้าร้านใหม่ครั้งนี้ เราต้องการปรับหน้าร้านให้ดูเปิดกว้าง ต้อนรับลูกค้ามากขึ้น เปลี่ยนกล่องไฟเพื่อเพิ่มความสว่าง รวมไปถึงการเพิ่มสินค้ากลุ่ม Accessories และ Smart Device เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพราะต้องบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ยังนึกถึงเจมาร์ทในเรื่องสมาร์ทโฟน เรื่องมือถือเรายังหวังยอดขายที่เติบโต แต่เราเพิ่มในส่วนของ Accessories เข้ามามากขึ้น เพื่อให้เป็น Destination ด้าน Gadgets ของลูกค้า”

ตลาดมือถือไม่โต โอเปอเรเตอร์โปรฯ แรง ต้องเอาใจลูกค้ามากกว่า

ด้านภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนไทยในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายแง่ของยูนิตอยู่ที่ 17 ล้านเครื่อง แต่ในแง่รายไดกลับคาดว่าจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 5% 

สำหรับสมาร์ทโฟนที่ขายดีในตอนนี้มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มราคา 5,000 – 10,000 บาท และกลุ่มราคา 2 หมื่นบาทขึ้นไป โดยเฉพาะรุ่นแฟลกชิพของแบรนด์จีนที่กระแสกำลังมาแรง โดยทั้งสองเซกเมนต์นี้คิดเป็น 50% ของตลาด

ภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนไม่เติบโตนัก ขณะที่ฝั่งโอเปอเรเตอร์ 3 ค่าย ก็แข่งขันกันทำสงครามราคา มอบส่วนลดค่าเครื่องถือ ที่ถือว่าแรงและน่าสนใจ รวมทั้งเจออิทธิฤทธิ์การเติบโตของช่องทางการขายออนไลน์

ฝั่งร้านค้าอย่าง เจมาร์ท จึงต้องออกแรงสู้อย่างหนักเพื่อให้พ้นภาวะยอดขายลดลง!

กลยุทธ์ของ Jaymart จึงต้องผสานพลังทุกส่วนในเครือ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในแง่ของการบริการและความรู้สึกของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น Jaymart Mobile, เจพี ประกันภัย และ J Venture ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูกค้า และมอบสิทธิประโยชน์ ในแบบที่โอเปอร์เรเตอร์ทำไม่ได้

โดยจากการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนบน Social Listening พบปัญหาความต้องการในการเปลี่ยนเครื่องของลูกค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาที่มาจากทางผู้ผลิตเอง หรือจาก Customer Journey ของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ซื้อมาแล้วไม่ชอบ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายต่อที่ไหน เอาไปขายต่อแล้วโดนกดราคา ซื้อมาได้ไม่นานแล้วอยากเปลี่ยนรุ่นใหม่

“ก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อสมาร์ทโฟน เขาก็จะไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จากนั้นเดินไปที่ร้านค้าเพื่อสัมผัสเครื่องจริง แน่นอนว่านั่นไม่ใช่การเอามาใช้จริงในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นเมื่อซื้อมาแล้วผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่า Body จับไม่ถนัดมือถือ กล้องยังไม่ได้เท่าที่ต้องการ และต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่” ดังนั้นแคมเปญใหญ่ แคมเปญแรกของปีนี้ เจมาร์ทจะใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท ให้สิทธิ์ลูกค้าที่ซื้อสมาร์ทโฟนราคา 5 พันบาทขึ้นไปสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ภายในเวลา 30 วันทั้งในกรณีเครื่องเสียหรือไม่พอใจครั้งละ 1 สิทธิ์” รวมทั้งประกันอุบัติเหตุอื่นๆ

ใช้ธุรกิจปัจจุบันต่อยอดธุรกิจอนาคต

นอกจากนี้ยังมี JFIN Coin ซึ่งเป็นนวัตกรรมอีกอย่างของ เจมาร์ท “ถามว่าวันนี้ลูกค้ารู้จัก Digital Token มากน้อยเพียงใด ก็ต้องบอกว่ายังน้อยอยู่ แต่เราก็ต้อง Educate ตลาด เพื่อสร้างให้เกิด Value ได้โดยการแลกรับของ เมื่อลูกค้าเรียนรู้จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้เหรียญ และบอกต่อไปยังคนอื่นๆ ต่อไป” คุณนราธิปกล่าว


แชร์ :

You may also like