HomeBrand Move !!ถอดกลยุทธ์ “ยูนิเวนเจอร์” ขุมทรัพย์อสังหาฯ “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี”

ถอดกลยุทธ์ “ยูนิเวนเจอร์” ขุมทรัพย์อสังหาฯ “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี”

แชร์ :


“ยูนิเวนเจอร์”
บริษัทดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการลงทุน และกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจให้เช่าและบริการอาคารเพื่อการพาณิชย์ กิจการโรงแรม และธุรกิจผลิตและขายสังกะสีอ๊อกไซด์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท อเลฟอส จำกัด ของ “คุณฐาปน-คุณปณต สิริวัฒนภักดี”  2 ลูกชายเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเบียร์ช้าง ซึ่งวันนี้ “ยูนิเวนเจอร์” เป็นอีกหนึ่ง “จิ๊กซอร์” ชิ้นสำคัญ ที่มาต่อภาพธุรกิจของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ให้ขยายกว้างใหญ่ออกไปอีก เป็นการเข้ามาเติมเต็มธุรกิจต่างๆ ภายในเครือ  ไม่ใช่แค่มีขนาดใหญ่ แต่ยังแข็งแกร่งไปด้วยกันทั้งหมด เป็นการดำเนินธุริจที่สร้างผลประโยชน์แบบ win-win ในทุกธุรกิจ

แผนธุรกิจในปีนี้ ยังคงดำเนินตามกลยุทธ์หลัก (Core Strategy 2018-2020) ที่ให้ความสำคัญกับ 5 ส่วน ดังนี้ คือ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1.Optimization ความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ จะเห็นว่ากลุ่มยูนิเวนเจอร์มีธุรกิจในมือหลากหลาย ไม่เฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อขายเท่านั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องและอื่นๆ อีกด้วย ตามแผนระยะ 3 ปีนี้ เชื่อว่าถ้ามีโอกาสการลงทุนจะเห็นการ M&A (Mergers and Acquisitions) อีกหลายบริษัทเข้ามา

หากย้อนกลับไปดูเส้นทางธุรกิจของกลุ่มยูนิเวนเจอร์ จะมีเส้นทางการ M&A หลายกิจการ อาทิเช่น ถือหุ้น 100% ในบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด (Grand Unity) การถือหุ้น 50.64% ในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD การถือ 100% ในบริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) ผ่าน GOLD เป็นต้น

2.Diversification การขยายธุรกิจไปนอกเหนือจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม แต่ได้มีการขยายไปในธุรกิจบริการ เช่น การบริษัทการบริหารจัดการสินทรัพย์ ประเภทโบรคเกอร์ในการดูแลปล่อยเช่า เป็นต้น หรือแม้ธุรกิจอสังหาฯ​ ประเภทโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจให้รายได้ประจำ บริษัทก็ให้ความสนใจและขยายไปด้วยเป็นการบริหารความเสี่ยง และสร้างรายได้จากธุรกิจหลากหลายทางเข้ามาเติมเต็ม ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ประจำ 7% วางเป้าหมายเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 2563 รวมถึงเป้าหมายทางการตลาด ที่ต้องการจับกลุ่มหลากหลาย ตั้งแต่ระดับล่าง กลาง และระดับบน โดยนำเอาราคามาเป็นตัวกำหนด ตั้งแต่ 60,000 – 80,000 บาทต่อตารางเมตร ไปจนถึง 180,000-190,000 ต่อตารางเมตร สำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ในบริษัทมีแบรนด์เพิ่ม เช่น CIELA, ANIL, DENIM เป็นต้น

การขยายธุรกิจโรงแรม  บริษัทได้เริ่มต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ชื่อโมเดน่า บายเฟรเซอร์ บุรีรัมย์ (Modena by Fraser Buriram) สาเหตุสำคัญแม้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดเมืองรอง แต่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว เพราะมีอัตราการเติบโตด้านรายได้ถึง15% ถือเป็นเมืองรองเพียงจังหวัดเดียวของไทยที่เติบโตได้ในระดับนี้ ที่สำคัญแบรนด์ช้างได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักของสนามกีฬา “ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต” ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวไปเยือนจังหวัดบุรีรัมย์ จากจำนวนไม่ถึงล้านทะลุ 1 ล้านรายต่อปี จังหวัดบุรีรัมย์มีโรงแรมต่างๆ รวมจำนวน 2,784 ห้องในปี 2556 และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,850 ห้องในปี 2559 ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 40.29% เพิ่มเป็น 58.54% ขณะที่โรงแรมโมเดน่า บายเฟรเซอร์ ต้องการอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงถึง 60% และมีแผนทำตลาดเพิ่มอัตราเข้าพักเป็น 70% หากดูจำนวนโรงแรมของกลุ่มทีซีซี จะพบว่ามีโรงแรมอยู่ถึง 80 ประเทศทั่วโลก แต่ละธุรกิจจึงต่างส่งเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน

3.Supply Chain การมองหาโอกาสต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งตลอดระยะเส้นทางการดำเนินธุรกิจ

4.Synergy การผนึกกำลังกับบริษัทต่างๆ ทั้งภายในกลุ่มยูนิเวนเจอร์ และ TCC Group หรือ กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่น บริษัท อะเฮดออล จำกัด ขายงานระบบ อาทิ ระบบกันขโมย ระบบ Smart Home เข้าโครงการอสังหาฯ ต่างๆ บริษัท สโตนเฮ้นจ์​ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ STI เป็นหนึ่งในผู้ก่อสร้างโครงการวัน แบงค็อก โครงการร่วมทุนของ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

แม้แต่โครงการสามย่านมิตรทาวน์ ของ Goldenland  ได้ดึง Big C ธุรกิจค้าปลีกภายใต้การบริหารงานของบริษัท เบอร์ลียุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มทีซีซีเช่นกัน มาเปิดโมเดลใหม่  Big C FoodPlace ที่ใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท ให้การบริการจำหน่ายสินค้าแบบ 24 ชั่วโมง  (อ่านข่าวประกอบเพิ่มเติม) ถือเป็นการผนึกกำลังกันสร้างความแตกต่างในโครงการ หรือแม้แต่การไปพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดเพื่อพัฒนาโครงการ หากมีโอกาสและศักยภาพของพื้นที่ กลุ่มบิ๊กซีจับมือกับ Goldenland ไปด้วยกัน อย่างกรณีการพัฒนาโครงการที่จังหวัดเชียงราย

5.Opportunistic Investment การมองหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ทำกำไร และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในเครือ อย่างเช่น การเข้าไปลงทุนในบริษัท สโตนเฮ้นจ์ฯ ซึ่งเป็นธุรกิจบริหารโครงการ บริหารการก่อสร้าง การออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้าง ซึ่ง STI มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 10%

คุณวรวรรต ศรีสอ้าน กรรการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า แผนธุรกิจในปีนี้จะมีการพัฒนาโครงการใหม่ ซึ่ง Grand Unity วางแผนเปิดโครงการใหม่ จำนวน 6 โครงการ มูลค่า  9,600 ล้านบาท  ส่วน Goldenland วางแผนเปิดโครงการใหม่ 25 โครงการ มูลค่า 28,600 ล้านบาท ซึ่งวางเป้าหมายรายได้รวม 25,800 ล้านบาท และยอดขาย 38,000 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทประจำปี 2561 (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) มีรายได้รวม 20,994 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขาย 16,812 ล้านบาท ธุรกิจอสังหาฯ​ เพื่อเช่าและโรงแรม 1,688 ล้านบาท ธุรกิจอื่น 2,373 ล้านบาท และรายได้อื่น 121 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิของบริษัท 1,006 ล้านบาท

 

 

 


แชร์ :

You may also like