HomeFeatured#นมแม่สร้างอนาคตของชาติ UNICEF x SANSIRI ตอกย้ำแนวคิด เปิด “ห้องนมแม่” ในออฟฟิศ

#นมแม่สร้างอนาคตของชาติ UNICEF x SANSIRI ตอกย้ำแนวคิด เปิด “ห้องนมแม่” ในออฟฟิศ

แชร์ :

“เพราะนมแม่เป็นภูมิคุ้มกันแรกสำหรับลูก และมีสารอาหารชั้นยอดที่ไม่มีอะไรเทียบเคียงได้ ดังนั้นทารกที่ได้รับนมแม่มีโอกาสเจ็บป่วยจากการติดเชื้อน้อยกว่าและหายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วกว่า นอกจากนี้นมแม่ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา และมีผลต่อไอคิวและความสามารถในการเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้น”

องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก รวมทั้งภาคีเครือข่ายนมแม่ในประเทศไทย แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น แต่ในประเทศไทย ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี พ.ศ. 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีทารกเพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่หยุดให้นมแก่ลูก คือการต้องกลับไปทำงาน โดยที่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ยังขาดนโยบายที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น มุมนมแม่ ที่จะเอื้อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงส่งแคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ เริ่มรณรงค์ในเดือนสิงหาคมเดือนของแม่ สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดมุมนมแม่ให้กับพนักงานหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถจัดเก็บน้ำนมระหว่างวันเพื่อนำกลับไปให้ลูกกินที่บ้านได้

นอกจากนี้ ยูนิเซฟ ได้ชวนองค์กรชั้นนำที่ได้จัดมุมนมแม่ให้กับพนักงาน และประสบความสำเร็จ มาแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอื่น ๆ ว่า ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และประโยชน์ที่ได้กลับมาเกินความคาดหมายแน่นอน

แสนสิริ หนึ่งในองค์กรที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดทำ “มุมนมแม่” ในออฟฟิศ ณ อาคารสิริภิญโญ โดยโครงการมากว่า 8 ปีแล้ว  “แสนสิริมีนโยบายที่จะให้เราทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก และได้ประกาศเป็นนโยบายธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก หรือ Child-friendly Business Policy โดยเริ่มจากภายในองค์กร สร้างที่ทำงานให้เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว ซึ่งรวมถึงมุมนมแม่ด้วย” คุณ อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าว

นโยบายพร้อมลงมือทันที !

เมื่อปี 2554 แสนสิริ และยูนิเซฟ ได้มีโอกาสร่วมทำโครงการไอโอดีน พลีส (Iodine Please) ทำให้เราทราบประเด็นสำคัญ เรื่องพัฒนาการเด็กจะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นั่นหมายถึง การดูแลโภชนาการให้แม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ส่วนลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดจนโต และอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือนมแม่ เพราะมีสารอาหารครบถ้วนและคุณประโยชน์มากมาย แสนสิริจึงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และผู้บริหารไฟเขียวให้สร้างห้องนมแม่ทันที มียูนิเซฟเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความเชี่ยวชาญของแสนสิริคือการสร้างที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นเมื่อคิดจะทำมุมนมแม่ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่การศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในสำนักงาน  เก็บข้อมูลความต้องการของแม่จากเหล่าดีไซน์เนอร์ของบริษัทที่มีประสบการณ์การเลี้ยงลูก ทั้งสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ ช่วยกันออกแบบ จนได้มุมนมแม่ ที่ถูกสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงและอากาศที่เหมาะสม รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องปั้มนม ตู้แช่นม และอื่นๆ ที่ผ่านการคัดสรรตามมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของแม่เมื่อเข้ามาเก็บน้ำนม ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนไม่มากนัก และไม่ใช่เพียงสร้างเฉพาะมุมนมแม่เพียงอย่างเดียว แต่สร้างเป็นห้องเด็กอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ลูกหลานพนักงานสามารถเข้ามาใช้บริการ เรียกได้ว่า สร้างสภาพแวดล้อมในออฟฟิศให้เอื้อต่อพนักงานที่มีครอบครัวให้ดูแลครอบครัวและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันไป

เพราะเชื่อในคุณค่าของครอบครัว

คุณอุทัย เล่าว่า “เมื่อก่อนตอนยังไม่มีห้องนมแม่/ ห้องเด็ก แม่ ๆ ก็ต้องไปหามุมสงบ ในห้องน้ำก็ไม่ถูกสุขอนามัย ที่โต๊ะทำงานก็ไม่ส่วนตัว หรือหลบไปซอกไหนก็ไม่สะดวกนัก หรืออย่างช่วงปิดเทอม บางวันถ้าไม่มีใครดูแลลูก ก็ต้องพามาทำงานด้วย เด็กก็ไปนั่งเล่นนอนเล่นอยู่ใต้โต๊ะทำงานพ่อแม่ ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน แต่เมื่อเราสร้างห้องนมแม่/ ห้องเด็ก พนักงานมีความสุขถ้วนหน้า แม่ ๆ ก็มีที่เก็บน้ำนมอย่างเหมาะสม พอสบายใจไม่เครียด ก็มีน้ำนมมากพอที่จะให้ลูกและเหลือเก็บได้อีก ผลพลอยได้คือประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องนมลูกไปได้มาก ส่วนพ่อแม่ที่ต้องพาลูกมาทำงาน ก็ส่งเข้าไปอยู่ในห้องเด็ก เด็ก ๆ ที่โตพอดูแลตัวเองได้ ก็เข้าไปเล่น อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องอย่างเพลิดเพลินและปลอดภัย พ่อแม่ไม่ต้องห่วง หรือถ้าเด็กเล็กที่ต้องมีพี่เลี้ยงดูแล ก็เข้าไปรออยู่ในห้องนั้นได้อย่างสะดวก เมื่อพนักงานมีความสบายใจไม่ต้องกังวลกับเรื่องครอบครัว ก็ทำงานได้อย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพ เป็นผลประโยชน์กลับคืนมาให้บริษัทโดยตรง”

ปัจจุบัน แสนสิริ มีมุมนมแม่ในสำนักงานทั้ง 3 แห่ง คือ อาคารสิริภิญโญ อาคารรัชตภาคย์ และโรงงานพรีคาสท์ และยังมีนโยบายให้พนักงานชายลาเพื่อดูแลบุตรและภรรยาหลังคลอด โดยสามารถใช้สิทธิได้ 14 วันอีกด้วย

ความสุขจากองค์กรส่งต่อถึงลูกน้อย

คุณแม่ยังสาวจากแสนสิริ ผู้ใช้บริการห้องนมแม่  คุณศิริธร พิทยามงคลเจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายพัฒนาโครงการแนวสูง และคุณดรุณี กิจสุวรรณ Data Engineer

คุณศิริธร เล่าว่า พอรู้ว่าจะมีลูก ก็คิดถึงเรื่องนมแม่ ผู้จุดประกายคือเจ้านายที่บอกจะเอาตู้แช่นมมาให้ เราเริ่มหาข้อมูล พอได้เข้าไปสำรวจห้องนมแม่ของบริษัทก็สบายใจมาก เพราะเป็นห้องนมแม่ที่บรรยากาศดีมาก ตกแต่งทันสมัย อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ก็พร้อม ช่วยให้เราเก็บนมได้สะดวกขึ้น เลิกงานก็มาเอานมที่แช่ไว้เก็บกลับบ้าน ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องเดินทางนอกสถานที่เป็นประจำ ทำให้การเก็บสต๊อคน้ำนมมีความสำคัญมา โชคดีที่บริษัทมีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน ทำให้ทั้งผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานช่วยเหลือและสนับสนุนเราตลอด อย่างเวลาเจ้านายเรียกพบ แต่เรากำลังเก็บนมอยู่ ก็จะให้เวลาเราทำภารกิจนี้ก่อน เวลาประชุมยาว ๆ ต่อเนื่อง พอได้เวลาต้องเก็บนม เราก็สามารถปลีกตัวออกมาและกลับเข้าไปประชุมต่อไป ทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานทุกคนเข้าใจ หรือแม้แต่เวลาไปนอกสถานที่หรือไปต่างจังหวัด ทุกคนก็จะช่วยกันดูแล นั่งรถตู้ ก็จะจัดที่นั่งด้านหลังให้เป็นส่วนตัว เพื่อจะได้เก็บนมได้สะดวก สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะดูว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่จริงๆ แล้วสำคัญมาก เพราะลำพังต่อให้เราอยากจะให้นมลูกให้นานที่สุด แม่คนเดียวทำไม่สำเร็จแน่นอน ถ้าคนรอบตัวไม่เข้าใจและเห็นคุณค่า เพราะต้องสนับสนุนกำลังกายและกำลังใจ ซึ่งสำหรับตัวเองแล้ว ตั้งใจที่จะให้นมแม่ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนคุณดรุณี เป็นผู้ใช้บริการมุมนมแม่มาตั้งแต่ลูกคนแรก จนมาคนที่สองแล้ว ถึงคนแรกจะไม่ได้ให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพราะน้ำนมน้อย แต่ก็ยังให้นมแม่ควบคู่กับนมอื่น ๆ จนถึงขวบกับ 2 เดือน แต่คนที่ 2 ก็ให้นมแม่เพียงอย่างเดียวครบ 6 เดือน ประโยชน์ของนมแม่ที่สังเกตุได้จากลูกเรา คือ ลูกทั้ง 2 คน สุขภาพดี แข็งแรงมาก อาจจะมีเป็นไข้ตัวรุม ๆ บ้าง เวลาไปฉีดวัคซีน หรืออากาศเปลี่ยนฉับพลัน เวลามาที่ห้องนมแม่ ในระหว่างเก็บนมก็มีหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้อ่านได้ หรือเจอกับแม่ ๆ ก็มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กัน สำหรับตัวเองตอนนี้มีสต๊อคน้ำนมไว้ล่วงหน้าได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว และเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ขอบคุณและยืนยันความสำคัญของการสนับสนุนจากคนรอบข้าง สำหรับแม่ที่ทำงานนอกบ้าน นอกจากครอบครัวแล้ว หากที่ทำงานไม่มีนโยบาย ผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานไม่สนับสนุนก็คงไม่สามารถให้นมลูกได้แบบนี้แน่นอน

นอกจากนี้ สิ่งที่ทั้งสองท่านพูดตรงกันคือ เรื่องความประหยัด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยให้ประหยัดค่านมประเภทอื่นไปเฉลี่ยขั้นต่ำ เดือนละ 4,000 บาท เมื่อลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนจากนมแม่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ประหยัดค่ารักษาพยาบาล ทั้งในส่วนสวัสดิการบริษัทและที่เราต้องจ่ายเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่แอบแฝง เช่น ค่าเสียเวลาต้องลางานไปเฝ้า หรือแม้แต่ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นต้น

และประโยคสำคัญที่คุณแม่ทั้งสองฝากไปถึง องค์กรอื่น ๆ คือ มุมนมแม่ในสำนักงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์แม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนม ขอให้องค์กรต่าง ๆ เข้าใจและให้การสนับสนุน ไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงผู้บริหารมีนโยบายชัดเจนและลงมือทำ ทำแล้วจะสร้างประโยชน์กับองค์กรอย่างคาดไม่ถึง

จากผู้บริหารถึงผู้บริหาร

อุทัยได้ฝากข้อคิดไปถึงองค์กรอื่นๆ ว่า “ถ้าเราเชื่อว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ก็ต้องสร้างเด็กให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ เริ่มต้นจากนมแม่ อาหารที่ดีที่สุดของลูก สิ่งที่ได้จากห้องนมแม่ อาจจับต้องหรือประเมินออกมาเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่จากสิ่งที่เราทำมาโดยตลอดพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ได้กลับมามีคุณค่าสูงเกินกว่าการตีเป็นตัวเลขจำนวนเงินได้ ขอให้ทุกองค์กรเริ่มลงมือตั้งแต่วันนี้ เพื่อร่วมสร้างอนาคตของชาติไปด้วยกันครับ”

เมื่อเราเชื่อว่า นมแม่สร้างอนาคตของชาติ ดังนั้นการที่จะเห็นมุมนมแม่เกิดขึ้นในองค์กรต่าง ๆในประเทศไทย คงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอย่างแน่นอน

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมสนับสนุนแคมเปญ #ออฟฟิศนี้มีที่เพื่อแม่ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ในสังคม สะท้อนให้ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน และผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขององค์กรต่อไป โดยสามารถติดตามข่าวสารแคมเปญนี้ ได้ที่ Facebook: UNICEF Thailand และองค์กรที่สนใจต้องการทราบรายละเอียดหรือคำแนะนำในการเริ่มต้นจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.unicef.or.th/breastfeeding/workplace

จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ พบว่า

๐   ทารกร้อยละ 39.9 ได้รับนมแม่ใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

๐   ทารกร้อยละ 23.1  ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก

๐   ทารกร้อยละ 33.3 ได้รับนมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 1 ปี

๐   เด็กร้อยละ 15.6  ได้รับนมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปี

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดอื่นที่เกี่ยวกับการให้อาหารทารกและเด็กเล็กก็ยังน่าเป็นห่วง เช่น ทารกได้รับอาหารเสริมตามวัย เช่น กล้วยและข้าว ก่อนวัยที่ควรได้รับ โดยพบว่าบางรายเริ่มตั้งแต่อายุ 1 เดือน

ปัจจุบัน การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงานถือเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับบริษัท องค์กรใหญ่ทั่วโลกจำนวนมากขึ้นมีโครงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อพนักงานหญิงตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บริษัทมักต่อยอดโดยมีนโยบายให้สถานที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว (Family-friendly workplace) มากขึ้น เพื่อมาดึงดูดผู้สมัครงานที่มีความสามารถ


แชร์ :

You may also like