ตัวหนังสือสีดำบนการ์ดพลาสติกสีขาวสะอาดตาบรรจุด้วยข้อความที่ว่าด้วยหลักการจัดการ 23 ข้อที่พนักงานกว่าครึ่งแสนคนทั่วโลกต้องท่องจำให้ขึ้นใจ หลักการทำงานดังกล่าวนี้เป็นของ ทาดาชิ ยาไน(Tadashi Yanai) มหาเศรษฐีที่รวยเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งบริษัทฟาสต์รีเทลริ่ง (Fast Retailing) แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติเอเชียที่ดังไกลระดับโลก มีแบรนด์หลักอย่างยูนิคุโระ หรือที่รู้จักกันในนาม ยูนิโคล่ (Uniqlo) นั่นเอง
แม้ปัจจุบันยาไนจะมีอายุถึง 69 ปีแล้ว แต่กฎทั้ง 23 ข้อนี้เขาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่เขาอายุเพิ่งจะขึ้นเลข 3 เท่านั้น สมัยที่ยังเป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย Ogōri Shōji และมียอดขายประจำปีไม่ถึง 1 พันล้านเยนเลยเสียด้วยซ้ำ ก่อนที่บริษัทจะเริ่มขยายตลาดสู่เสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงและเปลี่ยนมาใช้ชื่อแบรนด์ว่า Uniqlo (มาจากคำว่า Unique และ Clothing-ว่ากันว่าอันที่จริง Uniqlo ตัว Q เกิดมาจากที่ลูกน้องของเขาเขียนผิดแล้ว ยาไน เกิดชอบชื่อนี้ขึ้นมาจริงๆ) โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ยาไนได้บริหารการจัดการอย่างมีระเบียบแบบแผน สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาในการบริหารงานที่ทำให้เขาสามารถประกอบธุรกิจเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าสืบทอดต่อจากพ่อได้ด้วยตนเอง
“จิตวิญญาณ” คือคำที่ยาไนใช้เรียกแทนหลักการเหล่านี้ เขากล่าวว่า
“จิตวิญญาณคือสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิต หากไร้ซึ่งจิตวิญญาณแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือบุคคลใด ก็ไม่ต่างอะไรจากเปลือกหอยว่างเปล่ายามไร้ไข่มุก”
ย้อนกลับไปตอนที่ยาไนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาใช้ชีวิตไปกับการร่วมกลุ่มฮิปปี้ต่อต้านระบบทุนนิยม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนหนุ่มสาวยืนหยัดรวมกลุ่มกันประท้วงเพื่อเรียกร้องสันติภาพในสงครามเวียดนาม แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ยาไนกลับตั้งคำถามกับตัวเขาเองว่า “ทำไมผมถึงเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แทนที่จะตั้งใจทำมาหากินกันนะ?”
อย่างไรก็ตามเมื่อเขาสำเร็จการศึกษา เขาก็ต้องเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริงเพราะต้องหาเงินทองเลี้ยงปากท้องตัวเอง โดยทั่วไปแล้วครอบครัวคนญี่ปุ่นที่แม้จะมีกิจการเป็นของตนเอง แต่ในเบื้องต้นนั้นผู้สืบทอดกิจการก็มักจะไปทำงานตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ แล้วจึงค่อยกลับมารับช่วงต่อของกิจการครัวเรือน ยาไนก็เช่นกัน เขาใช้เวลานับปีทำงานกับบริษัทค้าปลีกรายย่อย ก่อนจะมาลงหลักปักฐานที่ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าต่อจากพ่อในปี ค.ศ. 1972
ยาไนในวันวานอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้บริหารที่ทำให้บริษัทเข้าข่ายเป็น “บริษัทมืด” เลยก็ว่าได้ เพราะเขาค่อนข้างหยิ่งและอีโก้สูง จนทำให้พนักงานถึง 6 ใน 7 คนที่คิดว่าหากในอนาคตยาไนก้าวขึ้นมาเป็นประธานบริษัทก็คงร่วมงานกันไม่ไหวแน่ๆ จึงตัดสินใจลาออกไปเสียก่อน
แม้จะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เขาย่อท้อแต่อย่างใด เขายังคงทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานอย่างเต็มที่ “ผมต้องทำความสะอาดร้าน ปัดฝุ่นเสื้อในร้านเพราะไม่มีใครทำให้… ผมต้องทำมันทั้งหมดด้วยตัวเอง ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผมเรียนรู้งานได้ดีเลยทีเดียว” จากการที่เขาลงมือทำเองสารพัดอย่างก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าควรให้ความสำคัญกับลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก “หากไม่มีลูกค้าแล้ว บริษัทก็ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน”
ในขณะที่ธุรกิจค่อยๆ เติบโต มีการขยายสาขาและจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้หัวเรือใหญ่ขององค์กรอย่างเขา ตระหนักได้ว่าการทำงานๆ หนึ่งนั้นไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยคนเพียงคนเดียว เขาจึงเริ่มต้นแจกจ่ายการ์ดพลาสติกที่อัดแน่นไปด้วยจิตวิญญาณในการบริหารงานนี้สู่พนักงานในบริษัท เพื่อสร้างเป้าประสงค์ในการทำงานของทุกคนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลักการดังกล่าว ถูกคิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ยาไน ยังทำงานกับคุณพ่อ โดยตอนนั้นมีราว 7-8 ข้อ จะหลักการอื่นๆ ถูกเพิ่มเติมในภายหลังตอนที่เขาเป็นประธานบริษัทของตัวเองเต็มตัว
ปัจจุบันบริษัทฟาสต์รีเทลริ่งถือเป็นบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ระดับโลก นับจากจำนวนสาขากว่า 840 แห่งทั่วญี่ปุ่น และอีกพันกว่าแห่งทั่วโลก แม้จะเป็นรองตลาดค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ยาไนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันสักเท่าใดนัก เพราะเขาเชื่อว่าการที่บริษัทค้าปลีกจะประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้นั้น ก็ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของความฉลาดทางวัฒนธรรม หรือความสามารถในการปรับตัวในวัฒนธรรมที่แตกต่างอีกด้วย แม้ในช่วงหลายปีนี้ยานาอิจะไม่ได้เพิ่มหลักการใหม่ๆ ขึ้นมา แต่เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้เขาก็นิ่งไปชั่วขณะ สักครู่หนึ่งจึงเอ่ยออกมาว่า ต้องรู้จักตนเอง “เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับโลก เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนในโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกันและกันได้”
จากหลัก 23 ข้อ สรุปสั้น ๆ สู่แก่นของการปฎิบัติ 8 ข้อ ดังนี้
- ควรให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก หลักการข้อแรกของเขาก็คือ “ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างสรรค์ลูกค้าใหม่” เขาอธิบายว่า เพราะว่ามีลูกค้าเราถึงมีธุรกิจอยู่ได้นี่เป็นคอมมอนเซ้นส์ที่ง่ายมากสำหรับพวกเรา
- มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม “เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น เรามีซัพพลายเออร์ พนักงานจำนวนมาก เรามีผู้จัดการมาจากหลากหลายที่ผมพบว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่บริษัทของเราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม มิฉะนั้นเราก็ไม่มีความยั่งยืน” ยาไน กล่าว
- มองโลกในแง่ดี ยาไน เป็นคนที่มีความหวังกับอนาคต แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่หวังนั่งรออนาคตอย่างเดียว “ถ้าคุณมัวแต่รอคอยโชคอย่างเดียว มันจะไม่มีทางมาหาคุณ อย่าตั้งรับจนเกินไป ไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ ดังนั้นคุณต้องลงทุนและสร้างมันขึ้น สำหรับคนที่สร้างอนาคตขึ้นมาเอง นั่นแหละที่จะได้พบกับโชคดี” เขากล่าว
- เรียนรู้จากความล้มเหลว “บางครั้งมันก็มีอะไรบางอย่างที่ไม่เวิร์ค คุณอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน ทางออกมีเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้นแหละ นั่นก็คือ คุณต้องท้าทายตัวเองต่อไป” นี่คือสิ่งที่ซีอีโอระดับโลกคนนี้เรียนรู้จากความผิดพลาดของเขาเอง
- ให้ความสำคัญในรายละเอียดแม้แต่เรื่องเล็กน้อย เขาเชื่อว่าระยะห่างเพียงแต่หลักมิลลิเมตรก็มีความสำคัญ และทำให้บริษัทอาจจะก้าวต่อไปไม่ได้
- รู้จักวิจารณ์ตนเอง การรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง และใส่จิตวิญญาณของลูกค้า สำหรับยาไนแล้วเขาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวเองเช่นกัน
- เชื่อมโยงเข้ากับโลกที่ไร้ขอบเขตพรมแดน การที่ Uniqlo มีสาขาในเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ปารีส นิวยอร์ค ลอนอดอน น่าจะเป็นตัวอย่างของวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงานขององค์กรได้เป็นอย่างดี
- พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ การปรับตัวอย่างรวดเร็วเป็นหนึ่งในธีมหลักของบริษัท ไม่น่าเชื่อว่าบริษัทเสื้อผ้าแห่งนี้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก “โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นี่คือวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม การ Dirupt เคยเกิดขึ้นแค่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มันเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม ตัวอย่างที่สำคัญก็เช่น Amazon, Alibaba, Uber” เขากล่าว “เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ธุรกิจเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของผู้คน แต่เรากำลังจะล้าสมัย นี่คือโอกาสอันดีที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมของเราทั้งหมด ตอนนี้ผมพร่ำบอกกับใครหลายๆ คนว่า การ Disrupt เป็นเรื่องปัจจุบันที่ทุกบริษัทต้องเจอ และถ้าคุณทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ คุณก็ต้องคิดให้ทำในทุกๆ องคาพยพของบริษัท”
นี่คือความคิดของบุรุษที่ร่ำรวยที่สุดของญี่ปุ่น
กฎทั้ง 23 ข้อนี้ถูกใช้ทั่วโลก ในสาขาต่างประเทศผู้บริหารต้องท่องกฎดังกล่าวเป็นภาษาอังฤษ และต้องถูกต้องทั้งหมดด้วย ถ้าใครมีเพื่อนทำงานอยู่ที่ Uniqlo ลองบอกให้เขาท่องดูสิ :p
แปลและเรียบเรียงอังฤษ/ ญี่ปุ่น: Kornkanok C.