HomeBrand Move !!จับตา ‘พริ้นซิเพิล’ โรงพยาบาลที่มาแรงสุด ประกาศกร้าว 5 ปี ขึ้นแท่นเบอร์ 6

จับตา ‘พริ้นซิเพิล’ โรงพยาบาลที่มาแรงสุด ประกาศกร้าว 5 ปี ขึ้นแท่นเบอร์ 6

แชร์ :

ธุรกิจสุขภาพ หรือ Health Care ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 5-6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 5-6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และแต่ละปีก็มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของ GDP ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดมีขนาดใหญ่เช่นนี้ เป็นเพราะเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น  รวมถึงวิทยาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวล้ำ ส่งผลให้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น เป็นการก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ผู้ประกอบการจึงมีสินค้าและบริการด้านสุขภาพออกมารองรับดีมานด์มหาศาลดังกล่าว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โฟกัสเฉพาะตลาดของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย  ก็เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเติบโตต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ดูตัวเลขรายได้ปี 2560 ที่ผ่านมา ของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะกลุ่มเฮลท์ ที่มีจำนวน 21 บริษัท ก็มีมูลค่ามากกว่า 1.56 แสนล้านบาท ขณะปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่เบนเข็มเข้ามาทำธุรกิจเฮลท์แคร์ อย่างเช่น บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มาชน) ที่มีธุรกิจหลักคือเรียลเอสเตท ได้ลงทุนประมาณ​ 4,900 ล้านบาท เตรียมเปิดโรงพยาบาลวิมุตติ ภายในปี 2563 บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (Principal Capital) ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักอสัหาฯ​ ในหลากหลายประเภท ที่ได้เข้าซื้อกิจการของกลุ่มบริษัท อลิอันซ์ เมดิคอล เอเชีย จำกัด ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ 6 แห่ง และมีโรงพยาบาลเปิดให้บริการอยู่แล้ว 4 แห่ง ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป็นบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด

การเข้ามาบุกตลาดโรงพยาบาลเอกชนของบริษัท พริ้นซิเพิลฯ ครั้งนี้ เป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะแม้ว่าจะเป็นหน้าใหม่แต่ประกาศวิชั่นชัดเจน ว่าจะขอก้าวขึ้นติดอันดับท็อป 6 ของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนในตลาดเมืองไทย ภายใน 5 ปีนับจากนี้ และมีรายได้ 4,000-5,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,700 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 15 การขึ้นมาอยู่ตำแหน่งที่ 6 นั่นหมายความว่ากลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซิเพิล  จะแซงหน้าโรงพยาบาลรายเดิมที่ทำตลาดมานานนับสิบปี ไม่ว่าจเป็นโรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลจุฬารัตน์  เป็นต้น

กลุ่มพริ้นซิเพิลฯ​ เป็นใครและมีกลยุทธ์อะไร ที่จะเป็นครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จ กับเป้าหมายท็อป 6 ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเมืองไทย เรามาดูกัน

1.กลุ่มพริ้นซิเพิลฯ เป็นเจ้าของโครงการโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ โรงแรมแมริออท เอ็คเซ็คคิวทีฟ อพาร์ทเม้นท์ สาทร วิสต้า-กรุงเทพฯ โครงการซัมเมอร์เซ้ท เอกมัยแบงค็อก มูลค่าลงทุน 2,450 ล้านบาท อาคารสำนักงานบางกอกบิสซิเนสเซ็นเตอร์ ขนาด 88 ยูนิต ที่ซอยสุขุมวิท 63 มูลค่า 510.7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีที่ดินในจังหวัดต่างๆ หลายแปลง อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี อ่างทอง ระยอง และอุดรธานี ที่สามารถนำที่ดินมาพัฒนาเป็นโรงพยาบาลในต่างจังหวัดได้

2.มีทีมบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเฮลท์แคร์ อดีตผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และเป็นหนึ่งคีย์แมนคนสำคัญที่ทำให้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ คือ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2520-2550 และดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บุตรชายของ นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2

ด้วยจำนวน 972,199,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30.01% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2561) ซึ่งมีประสบการณ์บริหารงานบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และบริหารธุรกิจเฮลท์แคร์ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพหลากหลายบริษัท ตั้งแต่ปี 2537-2550 ที่ผ่านมา จึงมีความรู้ความเข้าใจธุรกิจเฮลท์แคร์เป็นอย่างดี

3.เดินหน้าขยายโรงพยาบาลใหม่ 20 แห่ง ภายใน 5 ปี กับงบประมาณการลงทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการลงทุนในโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง จำนวน 5 แห่ง มูลค่าการลงทุนแห่งละประมาณ 1,500 ล้านบาท และการลงทุนในโรงพยาบาลขนาด 59 เตียง จำนวน 15 แห่ง มูลค่าการลงทุนแห่งละประมาณ 300 ล้านบาท จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือที่เปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลปากน้ำโพ 1 โรงพยาบาลปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลสหเวช จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ฮอสพิทอล สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ และเตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ฮอสพิทอล อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และโรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปี 2562

สำหรับเงินลงทุนดังกล่าว 50% จะเป็นเงินลงทุนจากพันธมิตรต่างชาติ ที่มีโนว์ฮาวด้านเฮลท์แคร์ ที่จะเข้ามาร่วมทุนกับบริษัท ในสัดส่วน 30-40%  ส่วนที่เหลือจะมาจากการกู้เงินกับสถาบันการเงิน

4.ชูเทคโนโลยี เฮลท์แคร์ 4.0 ปั้นเชนรับบริหารโรงพยาบาล จากศักยภาพของกลุ่มพริ้นซิเพิล ที่บริหารงานในธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจโรงแรม ทำให้มีความเข้าใจในธุรกิจทั้งสองเป็นอย่างดี จึงวางแผนที่จะรับบริหารโรงพยาบาลเอกชน ที่เปิดให้บริการมานานแต่ประสบภาวะขาดทุน หรือเจ้าของไม่ต้องการบริหารงานต่อไปแล้ว กลุ่มพริ้นซิเพิลจะวางโมเดลการบริหารงานโรงพยาบาล เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทน เช่นเดียวกับเชนโรงแรมชั้นนำ

โดยระบบบริหารงานที่กลุ่มพริ้นซิเพิลจะนำมาใช้นั้น จะเป็นระบบไอทีและดิจิตอล เพื่อเป็นมาตรฐานการบริหารจัดการเดียวกัน และช่วยลดต้นทุน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย ซึ่งมีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศ ที่มีความพร้อมในเรื่องของดิจิตอล ได้แก่  บริษัท คอนเวอร์เจนซ์ซิสเทมส์จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านบริการวางระบบโปรแกรมสำเร็จรูป อาทิ ระบบซอฟต์แวร์ PeopleSoft ของออราเคิล (Oracle) ซึ่งให้บริการด้าน Human Capital Management (HCM) ระบบซอฟแวร์ HIS (Hospital Information System) ที่เป็นระบบที่ใช้ในด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาลต่างๆ การให้บริการคำปรึกษาและแนวทางในการจัดการระบบบริหาร ระบบบริหารงานโรงพยาบาล เป็นต้น

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า การขยายธุรกิจโรงพยาบาล เบื้องต้นจะเข้าไปซื้อหุ้นโรงพยาบาล เอกชนขนาดกลางขนาด 60 เตียง ในจังหวัดต่างๆ โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 60% และอาจจะมีการเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปเพื่อพัฒนาโรงพยาบาล แต่หากเจ้าของเดิมไม่ขายหุ้นก็จะเจรจาเพื่อรับบริหารโรงพยาบาลให้   ด้วยระบบการบริหารงานที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่การบริหารจัดการ การแพทย์ การบริหารการเงิน และบุคลากร ซึ่งบริษัทจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าบริหารจัดการ ที่สร้างโรงพยาบาลให้เติบโต หรือสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้ จนทำกำไรก่อนหักภาษี (Ebitda)ให้กับโรงพยาบาล

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในต่างจังหวัด และเป็นเป้าหมายที่บริษัทจะเข้าไปร่วมทุนหรือรับบริหารงาน 40 แห่ง จากจำนวนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากนี้ยังวางแผนรับบริหารงานให้กับโรงพยาบาลของรัฐด้วย เพื่อให้กลุ่มพริ้นซิเพิลมุ่งสู่การเป็น Hospital Management ซึ่งปัจจุบันได้ช่วยบริหารงานให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ 2 แห่ง

5.กลยุทธ์ราคาจับลูกค้าระดับกลาง ตลาดลูกค้าระดับกลางที่อยู่ในต่างจังหวัด มีจำนวนมากแต่มักจะไม่มีโรงพยาบาลเอกชนรองรับ การขยายเข้าไปในต่างจังหวัดจึงสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันได้กำหนดกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการให้บริการได้ จึงกำหนดราคาค่าใช้บริการต่างจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ 50% โดยโรงพยาบาลชั้นนำจะมีอัตราค่าใช้บริการเฉลี่ย 4,500 ต่อครั้ง ขณะที่โรงพยาบาลของกลุ่มพริ้นซิเพิลกำหนดไว้ประมาณ 1,500-2,000 บาทต่อครั้ง สำหรับผู้ป่วยในจะมีอัตราค่าบริการประมาณ 24,000 บาทต่อครั้ง ขณะที่โรงพยาบาลชั้นนำจะมีอัตราค่าบริการ 40,000-50,000 บาทต่อครั้ง


แชร์ :

You may also like