HomeBrand Move !!GRAMMY ประกาศสงคราม “มิวสิคสตรีมมิ่ง” จับมือ OTV สตาร์ทอัพไทยขอแชร์ตลาด Global Platform

GRAMMY ประกาศสงคราม “มิวสิคสตรีมมิ่ง” จับมือ OTV สตาร์ทอัพไทยขอแชร์ตลาด Global Platform

แชร์ :

แม้ธุรกิจดนตรีในปัจจุบันอาจจะเลยจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากโลก Physical มาเป็น Digital แล้ว แต่แลนด์สเคปและองค์ประกอบต่างๆ ยังไม่นิ่งหรือไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องปรับตัว ด้วยการเปลี่ยนบทบาทจากบริษัทผู้ผลิตเพลงมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์หรือ Content Provider โดยที่มีเพลงเป็นประเภทหนึ่งของคอนเทนต์ทั้งหมดที่ต้องบริหารจัดการ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่พฤติกรรมคนฟังเพลงในปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ส่วนใหญ่จะฟังผ่านระบบสตรีมมิ่งเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ Audio หรือ Video ประกอบกับทิศทางในธุรกิจดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่แต่ละฝ่ายเคยแข่งขันกันมาเป็นการพยายามสร้างพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแรงระหว่างกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ความเคลื่อนไหวของพันธมิตรคู่ล่าสุดบนเวทีมิวสิคสตรีมมิ่ง คือ ความร่วมมือระหว่าง GMM GRAMMY เจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพลงยักษ์ใหญ่ของประเทศ และ OTV สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม VDO Content Network ที่มีพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 200  รายในกลุ่ม Publisher มีคอนเทนต์คุณภาพจาก Content Provider กว่า 1 แสนชิ้น รวมทั้งฐานผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 17 ล้านคนต่อเดือน ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม MV เพลงไทย ภายใต้ชื่อ โอมุ (OMU) ที่ให้บริการชม MV เพลงไทยได้ฟรีผ่านแอพพลิเคชั่น OMU และเว็บไซต์ของ OTV รวมทั้งพันธมิตรในกลุ่ม Publisher อาทิ เอ็มไทย ไทยทีวีพลัส ไทยทีวีเน็ต  รวมทั้งซัมซุง ซึ่งจะมีแอปพลิเคชันมาพร้อมกับระบบในสมาร์ทโฟนของซัมซุงด้วย

สู้แบบ Localize และพลังเครือข่าย

แน่นอนว่าการรุกตลาดในครั้งนี้ ต้องเจอกับเจ้าตลาด VDO Content อย่างยูทูป แต่ฟากฝั่ง OTV ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม OMU โดย คุณณัฐพงศ์ ตังเตชะหิรัญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โอทีวี จำกัด กล่าวถึงความแตกต่างและน่าสนใจของแพลตฟอร์ม OMU ว่า เป็นแพลตฟอร์มที่รองรับ MV เพลงไทย ทั้งปัจจุบันและในอดีต ภายใต้ความร่วมมือจากเจ้าของคอนเทนต์มากกว่า 20 ราย รวมทั้งยักษ์ใหญ่ในคอนเทนต์เพลงอย่างแกรมมี่ และยังเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระบบหลังบ้านไปยังพันธมิตรของ OTV ที่เป็น Publisher ไม่ต่ำกว่า 200 ราย จึงถือเป็นความร่วมมือที่ Win Win ทั้ง OTV และเจ้าของคอนเทนต์ที่จะมีช่องทางในการเผยแพร่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งรายได้จากโฆษณาที่จะเข้ามาในอนาคต

ขณะที่ทาง Publisher  หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของ OTV ก็สามารถนำคอนเทนต์บน OMU ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของลิขสิทธิ์  ส่วนผู้บริโภคเองก็มี Benefit จากการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น สะสมแต้มเพื่อแลกรับของรางวัล ที่จะมีการจัดขึ้นในอนาคตเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานบนแพลตฟอร์มได้บ่อยขึ้นและนานขึ้น เช่น บัตรสมนาคุณต่างๆ ตั๋วหนัง หรือตั๋วคอนเสิร์ต เป็นต้น

“เจ้าของ Content ยังคงเป็น King แต่ยุคปัจจุบันการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพก็มีความสำคัญเช่นกัน ถ้าเปรียบก็ไม่ต่างจาก Queen  จึงต้องมาคู่กันทั้งเรื่องของคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและการ Distribution อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็ชัดเจนว่ามากกว่า 50% ในทุกกิจกรรมที่ทำจะอยู่บนออนไลน์ แต่การเข้าถึงผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ของเจ้าของ Content Provider ยังมีหลายปัจจัยที่เป็นความท้าทายทั้ง การขาดช่องทางในการกระจายคอนเทนต์ การมีปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์ในงาน และไม่สามารถสร้างรายได้จากคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้น ซึ่ง OTV สามารถตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน  เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม OMU ที่อยู่ภายใต้  OTV ทำให้มีจุดแข็งในเรื่องเดียวกัน”

ภายหลังการเปิดตัว OMU คาดว่าจะมียอดดาวน์โหลดไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนครั้ง และเกิดการ View ผ่านแพลตฟอร์มไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านครั้ง ขณะที่การต้องเข้ามาชนกับ Global Platform ยักษ์ใหญ่ในตลาดวิดีโออย่างยูทูปก็ไม่ใด้เป็นปัญหาเพราะ Positioning ที่ชัดเจนว่าโฟกัสเฉพาะเพลงไทย ประกอบกับความแข็งแรงจากการมีพันธมิตรหลากหลาย ทำให้มีช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

“แต่ละแพลตฟอร์มมีความแข็งแรงและข้อดีที่แตกต่างกันไป  เราอาจไม่ใช่ห้างใหญ่เหมือนรายอื่นๆ แต่เป็นเพียงร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น ประกอบกับการเป็นแพลตฟอร์มที่มีเซ็กเม้นต์เฉพาะ ทำให้คนเห็นคอนเทนต์ได้ง่ายกว่าแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีคอนเทนต์มาก จนทำให้บางคอนเทนต์อาจจมหายไป ได้ ประกอบกับเราเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มี User Generated Content ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกคอนเทนต์ของเราจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมา”

นอกจากนี้ เป้าหมายของ OTV ยังไม่ได้หยุดอยู่เพียงตลาดในประเทศเท่านั้น  เพราะภายในปีนี้หรือปีหน้ามีแผนที่จะขยายตลาดไปยังประเทศกัมพูชาและพม่า ซึ่งเป็นตลาดที่เพลงไทยได้รับความนิยมเช่นกัน และนอกจากการนำเสนอเพลงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเองแล้ว ยังมองถึงการต่อยอดไปสู่กิจกรรม On Ground  เช่น นำศิลปินไทยไปโชว์ตัว แสดงคอนเสิร์ต หรือการมีโอกาได้เป็น Brand Ambassador ให้กับแบรนด์หรือสินค้าในประเทศต่างๆ  เช่นเดียวกับ  K Pop Model  รวมทั้งโอกาสในการเพิ่มช่องทางโฆษณาจากการ Insert Ads จากการ live หรือโชว์บิซต่างๆ ที่จะจัดขึ้นในต่างประเทศ เป็นต้น

แกรมมี่ มิวสิค เพิ่มโมเดลเร่งรายได้ดิจิทัล  

คุณภาวิต  จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม  มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือของทางแกรมมี่กับ OMU ว่า ในเบื้องต้นจะให้ลิขสิทธิ์ MV เพลงจากศิลปินในเครือทั้งเก่าและใหม่จำนวน 5 พันเพลง รวมทั้งเพิ่มเติมเพลงใหม่ๆ ให้ทุกสัปดาห์ โดยความแข็งแรงของแพลตฟอร์มนี้ ภายใต้การบริหารของ OTV ซึ่งมีพันธมิตรหลากหลายและจำนวนผู้ชมที่สูง เป็นโอกาสในการขยายช่องทางเผยแพร่คอนเทนต์ของแกรมมี่ไปยังกลุ่มเป้าหมายอีก 17 ล้านคน รวมทั้งความสามารถในการ Target Audience และแนวทางในการเพิ่ม Engage บนแพลตฟอร์มด้วยการจัด Localize Activity ต่างๆ ที่ช่วยรักษาและขยายฐาน Users ให้เพิ่มขึ้นได้

“นโยบายสำคัญของแกรมมี่ คือ พยายามมองหาช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ MV หรือการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งให้ทั่วถึง โดยปัจจุบันฐานใหญ่ของบริษัทในกลุ่ม VDO Content จะอยู่ที่ยูทูป และในกลุ่ม Audio จะเป็นแพลตฟอร์ม JOOX รวมทั้งยังพันธมิตรอื่นๆ อีกราว 7-8 ราย เพราะผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มเดียว และไม่ได้เข้าถึงแค่แพลตฟอร์มยอดนิยมเท่านั้น การมีช่องทางที่หลากหลายเพื่อกระจายการเข้าถึงให้มากที่สุดจึงเป็นเรืองสำคัญ ขณะที่หน้าที่สำคัญของแกรมมี่จากนี้ คือ การพัฒนาคอนเทนต์ที่แข็งแรงและมีคุณภาพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ที่เป็น Content Provider”

สำหรับทิศทางการพัฒนาคอนเทนต์เพลงของแกรมมี่จากนี้ จะเพิ่มรูปแบบคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และสามารถ Connect กับผู้คนผ่านโลกออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ  เช่น Music Video  ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นต่อปีไม่ต่ำกว่า 300-400 ชิ้น หรือการทำเพลงละคร รวมทั้งเตรียมพัฒนาคอนเทนต์  Artist Lifestyle  ซึ่งเป็นคอนเทนต์จากศิลปินในสังกัดที่ได้รับความนิยม รวมทั้งการทำเพลงละคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์แบบ Lyric ที่เป็นเนื้อเพลงประกอบภาพก็เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่เรามีอยู่

“ปัจจุบันรายได้ของแกรมมี่ มิวสิคจากช่องทางดิจิทัลเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าในอนาคตรายได้จากช่องทางดิจิทัลจะกลายเป็นหนึ่งรายได้สำคัญ สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทในอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก  ขณะที่ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่เกือบ 50% ยังมาจากโมเดล Sponsorship รวมทั้งมาจากรูปแบบอื่นๆ เช่น การแสดงสด งานโชว์บิซต่างๆ และรายได้จากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์”


แชร์ :

You may also like