HomeCreativityMBK GROUP ผู้นำ Creative CSR เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ศิลปะชิ้นเอก” สร้างคุณค่าให้ขยะด้วย “ดีไซน์”

MBK GROUP ผู้นำ Creative CSR เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “ศิลปะชิ้นเอก” สร้างคุณค่าให้ขยะด้วย “ดีไซน์”

แชร์ :

แต่ละวันคนไทยสร้างขยะมากถึง 1.14 กิโลกรัมต่อคน รวมทั้งปีจะมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 27.04 ล้านตัน  แม้จะมีความพยายามรณรงค์ลดการทิ้งขยะมาโดยตลอด แต่จำนวนขยะก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี  ทำให้ช่วงฝนถล่มกรุงที่ผ่านมา เมื่อน้ำลด ขยะก็ผุดขึ้นเกลื่อนเมือง  เช่นเดียวกับปัญหาขยะในทะเลที่มีความรุนแรงไม่แพ้กัน โดยประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศอันดับ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเล ขณะที่ขยะในทะเลจำนวนถึง 80 % มีแหล่งกำเนิดมาจากบนบก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การจัดการลดปริมาณขยะโดยการแปรรูปให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่โดยไม่สร้างขยะอีก หรือทำให้ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) จึงเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกนิยมนำมาใช้ รวมถึงประเทศไทย เช่นเดียวกับ “เอ็ม บี เค กรุ๊ป”  ที่นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นอนาคต Gift for Sharing” โครงการเพื่อสังคมแนวสร้างสรรค์เปลี่ยนขยะและกระดาษเหลือใช้มาแปลงโฉมเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายดีไซน์ ที่มีความสวยงามและสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพิ่มมูลค่าจนแทบไม่หลงเหลือเค้าโครงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพัฒนาจากวัตถุดิบที่เป็นขยะไร้ค่า อาทิ เครื่องประดับประเภทสร้อยคอและต่างหู ของตกแต่งบ้านที่เป็นโมเดลตั้งโต๊ะรูปช้าง และโคมไฟสีสันสดใส ของใช้ประจำวันประเภทแจกันที่สามารถแยกออกมาเป็นภาชนะใส่ของแบบ 2 อิน 1 และของเล่นฝึกทักษะอย่างโดมิโน เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาเป็นสินค้าลิมิเต็ด อิดิชั่น 6 ดีไซน์ ที่มีจำนวนเพียง 900 ชิ้น ภายใต้แบรนด์ว้าว (WOW: Worth of Waste) ซึ่งออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชั้นนำ  ไม่ว่าจะเป็น “จักรกฤษณ์ อนันตกุล” กราฟิกดีไซน์เนอร์ชื่อดัง “ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล” เจ้าของสตูดิโอออกแบบ MOHO Studio และ “พลอยพรรณ ธีรชัย” กับ “เดชา อรรจนานันท์” คู่หูนักออกแบบแห่ง Thinkk Studio ร่วมกับดีไซน์เนอร์เลือดใหม่ที่ผ่านด่านนักออกแบบกว่า 200 ทีม เข้ามาเป็น 3 ทีมผู้ชนะจากการประกวด “MBK WOW DESIGN AWARDS 2017” การออกแบบผลิตภัณฑ์และเครื่องประดับจากกระดาษเหลือใช้

กนกรัตน์ จุฑานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็ม บี เค กรุ๊ป ต้องการจุดประกายสังคมให้เห็นว่าขยะใกล้ตัวสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาออกแบบอย่างสร้างสรรค์ โดยดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการช่วยแก้ปัญหาขยะ ผ่านประกวด MBK WOW DESIGN AWARDS 2017 ขณะเดียวกัน ก็สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างงานสร้างรายได้ของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้อย่างแท้จริง

“สินค้าทั้งหมดถูกผลิตขึ้นโดยเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญาและการได้ยินจากโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ พระประแดง จ.สมุทรปราการ  โดยรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะส่งต่อให้มูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูล นำไปใช้ประดิษฐ์เก้าอี้บำบัดเสริมทักษะและพัฒนาการของผู้บกพร่องทางด้านสติปัญญา พร้อมพัฒนาช่องทางจำหน่าย  “เอ็ม บี เค โซเชียล คอนเนอร์”  คิออสเพื่อสังคมแห่งแรกที่อยู่ภายในศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ชั้น 2 โซนบี ประตูทางเข้า (เชื่อมไปยัง A La Art) และ ชั้น 6 โซนคราฟท์ วิลเลจ หรือสั่งซื้อออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก WowDesign ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะจำหน่ายจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น”

กนกรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  โครงการ ‘เปลี่ยนขยะเป็นอนาคต’ (Gift for Sharing) เป็นโครงการเพื่อสังคมโปรเจคใหญ่ของเอ็ม บี เค กรุ๊ป ในปีนี้ และปี 2561 ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักถึงปัญหาขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจในเครือถึง 8 กลุ่มธุรกิจ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรต้นแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดการขยะ แต่ยังสร้างความยั่งยืนรอบด้านทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ จาก Thinkk Studio เจ้าของไอเดียผลงาน Kadas ผลิตภัณฑ์ของใช้มีทั้งแท่นวางของ และผลิตภัณฑ์แบบ 2 อิน 1 ซึ่งเป็นแจกันหรือจะแยกมาเป็นภาชนะวางของกระจุกกระจิก เล่าถึงแนวคิดการออกแบบผลงานชิ้นนี้ว่า “เริ่มออกแบบโดยขึ้นรูปจากแม่พิมพ์รอบๆ ตัว ซึ่งเป็นของใช้ประจำวัน โดยใช้รูปทรงและสีสันจากธรรมชาติ ซึ่งการทำงานค่อนข้างยากและมีความซับซ้อน เพราะต้องสร้างแม่พิมพ์ผลิตภัณฑ์จากกระดาษเหลือใช้ให้มีความสวยงามและต้องทดลองวัสดุที่เหมาะสมในการหล่อหรือขึ้นรูปที่มีความแข็งแรง ใช้งานได้จริง และไม่ก่อให้เกิดขยะขึ้นมาใหม่ในการผลิตอีก”

ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล เจ้าของผลงาน Belephant ผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านจากกระดาษขึ้นรูปเป็นช้าง กล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้ผสมผสานระหว่าง Believe หรือความเชื่อมั่นในฝีมือผู้พิการ และ Elephant หรือช้าง สัตว์ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเลือกการขึ้นบล็อกกระดาษแทนการพับ เพื่อให้รูปทรงมีความแข็งแรงขึ้น โดยงานปั้นช้างจากการกระดาษครั้งนี้ได้ทดลองถึง 23 ครั้ง จึงสำเร็จ ขณะที่การเข้าร่วมโครงการนี้เราไม่ได้เป็นผู้ให้จากการสอนน้องๆ โรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ ฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นผู้รับจากการที่น้องๆ ช่วยสอนภาษามือ รวมทั้งการเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กระดาษเหลือใช้และลดขั้นตอนการรีไซเคิลและลดจำนวนขยะ ทำให้วงจรของกระดาษยาวนานขึ้น”

ด้าน สุรัชนา ภควลีธร และ แพร สฤษดิชัยนันทา จากทีม Local Ateliers อีกหนึ่งทีมที่ชนะการประกวดกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบว่า “เจอสมุดที่ถูกปลวกกินด้วยความบังเอิญ ทำให้เห็นถึงความสวยงามที่เกิดเป็นชั้นกระดาษ จึงนำไอเดียมาปรับใช้ในงานออกแบบเครื่องประดับ โดยผสมผสานกับลวดลายเรียงตัวสลับชิ้นคล้ายเขาวงกตของหินอาเกตเป็นต้นแบบ ซึ่งต้องอาศัยความพิถีพิถันในขั้นตอนการทำค่อนข้างมาก เพื่อให้เครื่องประดับแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก”

ทั้ง 3 ทีมผู้ชนะเลิศจากการประกวดต่างมีแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน  โดยเริ่มจากหาขั้นตอนการทำเพื่อให้น้องๆ เด็กพิเศษสามารถประดิษฐ์ได้โดยไม่ยาก และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายเพื่อพัฒนางานได้ต่อเนื่องแม้โครงการจะสิ้นสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามจากการลงไปคลุกคลีช่วยสอนน้องๆ เด็กพิเศษผลิตสินค้าทำให้พวกเขารู้สึกเกินความคาดหมายกับการทำงานที่รวดเร็วของน้องๆ ที่ไม่เพียงแต่ทำอย่างสนุกและเพลิดเพลินเท่านั้น  แต่ยังรู้จักประยุกต์วิธีการทำงานที่ช่วยให้เนื้อกระดาษมีความละเอียดยิ่งขึ้นและสร้างสรรค์ลวดลายแบบใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา

การจัดการขยะแบบสร้างสรรค์สไตล์ “เอ็ม บี เค กรุ๊ป”  สามารถช่วยเหลือสังคมได้แบบรอบด้าน ทั้งการหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของใช้ ของตกแต่ง รวมถึงสามารถเปลี่ยนมุมมองของสังคมต่อเด็กพิเศษจากภาระให้เป็นพลัง และความไม่พร้อมให้กลายเป็นความสามารถในการสร้างความแตกต่างหรือโดดเด่น ผ่านกิจกรรมศิลปะบำบัดที่สามารถสร้างขยะไร้ค่าให้กลับมามีคุณค่าได้อีกครั้งหนึ่ง


แชร์ :

You may also like