HomeFeaturedเปิดอาณาจักรสีเขียว Superrich Thailand ความสุขของ ‘พนักงาน’ คือสิ่งสำคัญ

เปิดอาณาจักรสีเขียว Superrich Thailand ความสุขของ ‘พนักงาน’ คือสิ่งสำคัญ

แชร์ :

การเดินทางไปต่างประเทศนอกจากเราจะเตรียมเสื้อผ้าหน้าผมหรือพร๊อพแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับช้อปปิ้ง คือ  “เงิน” ในสกุลของประเทศนั้นๆ Brand Buffet จะพาเจาะเบื้องหลังธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ อาณาจักรสีเขียว ‘ซุปเปอร์ริช ไทยแลนด์’ (Superrich Thailand) ซึ่งรวมไปถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจ จากปากของ 2 ทายาทผู้บริหารรุ่นใหม่  คือ ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล (เจน) กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาองค์กร และ สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล (แพม) กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับปี 2559 ภาพรวมตลาดแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 420,000  ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 26% จากปี 2558 ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 333,000 ล้านบาท การเติบโตของธุรกิจนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอย่าง AEC หรือเทรนด์ของการท่องเที่ยวเติบโต  ทำให้เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจ ผู้เล่นรายใหม่จึงเพิ่มมากขึ้น และ ผู้เล่นเดิมต่างเร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้นเช่นกัน  รวมไปถึงกฏระเบียนการขอใบอนุญาติได้บ่อยขึ้น จากเดิมปีละ 2 ครั้ง ปัจจุบันไตรมาสละ 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้งต่อปี เลยทำให้มีผู้ประกอบการทั้งประเทศมี 1,900 ราย ส่วนใหญ่อยุ่ในกทม.

แม้ว่าจะมีผู้เล่นทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าเข้ามาในตลาดนี้ Superrich Thailand ดูแล้วจะไม่เกรงกลัวปัจจัยเหล่านั้นสักเท่าไหร่  สิตามนินท์ อธิบายอย่างมั่นใจว่า ธุรกิจนี้มีความไดนามิกมาก มีความเสี่ยงในเรื่องค่าเงินเพราะอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวไวมาก หากไม่ทันข่าวสารก็เป็นไปได้ที่จะ Gain Loss ได้ รวมไปถึงเรื่องโลเคชั่น และปัญหาธนบัตรปลอม ถ้าเจอปลอมเข้ามาก็เสียหายไม่น้อย สำหรับเราเองทำธุรกิจมายาวนานมีบุคลากรและมีวิธีการบริหารจัดการสกุลต่างๆอย่างมืออาชีพ ทั้งการนับธนบัตรได้รวดเร็วและสามารถสัมผัสก็รู้ได้เลยว่าเป็นธนบัตรปลอม

ปรับเปลี่ยนอย่างเข้าใจ

ธุรกิจแลกเงินต่างประเทศเริ่มต้นจากรุ่นคุณพ่อ เริ่มจากขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับเงินสกุลต่างๆจากโรงแรมไปขายให้กับธนาคาร ซึ่งทำให้รู้จักเงินสกุลต่างจนเกิดความชำนาญและเห็นโอกาสทางธุรกิจจึงทำเป็นธุรกิจเมื่อ 50 ปีที่แล้ว  โดยเริ่มต้นจาก “ศูนย์” ลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วน ทำงานกันในครอบครัวจริงๆ พนักงานก็คือ “พี่น้อง”

“เจนก้าวเข้ามาเห็นรูปแบบองค์กรที่ดูแลกันแบบครอบครัวมี อาเฮีย อาซ้อ ลูกน้องก็เป็นอาเจ๊ก อากู๋ ต่างๆ  แต่เจนได้ไปเรียนเมืองนอกกับทำงานในบริษัทต่างชาติ จึงทำให้เห็นรูปแบบการทำงานขององค์กรใหญ่  พอกลับมาช่วยที่บ้านก็เริ่มมีการวางโครงสร้างแบบบริษัทอย่างมากขึ้น เช่น เพิ่มฝ่าย HR (ฝ่ายบุคคล) เพื่อวางโครงสร้างองค์กร และจัดสรรแผนกการทำงาน จึงทำให้มีส่วนของงานระบบงานเทคโนโลยีเข้ามาด้วย  มันเหมือนเป็นการพัฒนาองค์กรในทุกๆแง่มุม นอกจากวางโครงสร้างพัฒนาคน  จะมีการทำเทรนนิ่ง  หรือ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้  แทนการระบบ Manual เช่นการดีดเครื่องคิดเลขแล้วปริ้นเอกสาร  เทคโนโลยีจะสร้างความสะดวกสบายให้กับพนักงานและลูกค้ามากขึ้น  ”

ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล (เจน) และ สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล (แพม)

คุณเจน และ คุณแพม เสริมต่อว่า  การเข้ามารับช่วงต่อเป็นความท้าทายอย่างมาก พอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงก็ทุกคนก็เริ่มกลัวกัน เพราะเราอยู่คุ้นชินกับวิธีการทำงานแบบเดิมมาตั้งนาน  ซึ่งทำให้เกิดความไม่เข้าใจและความขัดแย้งในความรู้สึก  รวมไปถึงการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่า (Baby boomer) กับ รุ่นใหม่ (Gen X,Y) ต้องทำให้แต่ละกลุ่มเห็นคุณค่าของแต่ละฝ่าย  เช่น คนรุ่นใหม่จะรู้เรื่องในเทคโนโลยี มีความว่องไว  ขณะที่คนรุ่นเก่า ก็เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในการทำงาน รู้วิธีการรับมือ แก้ปัญหาอย่างไร

“เราเห็นการทำงานของที่อื่นก็อย่างรีบเปลี่ยน รีบอยากพลิก แต่เคยรีบทำไปแต่มันไม่เวิร์ค  เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งที่แล้ว คือว่า ไม่ควรยัดเหยียดสิ่งที่ต้องการในหัวเราไปใส่หัวเค้า  เราควรให้เค้ามีส่วนรวมในการพัฒนาโปรแกรมด้วย เค้ามีความต้องการอะไรบ้างที่ต้องใช้ จากเดิมเครื่องคิดเลข  เค้ากังวลอะไร เอาตรงนั้นมาเป็นส่วนพัฒนาในโปรแกรม ทำให้เรารอบด้าน และเขาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ”

 

ชีวิตไม่ใช่แค่ “งานกับเงิน”

สำหรับความแตกต่างเพื่อไม่ให้ลูกค้าย้ายไปใช้บริการเจ้าอื่นๆ สองสาวผู้บริหาร กลับคิดสวนทางกลับการตลาดทั่วไปโดยเริ่มจากทำการตลาดภายในองค์กรก่อนนั้นก็คือ “พนักงาน” โดยใช้คอนเซ็ปต์ภายใน “ชีวิตไม่ใช่มีแค่เรื่องงานกับเงิน”  มนุษย์ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตทุกด้าน  ความสัมพันธ์ในครอบครัว  ความรัก  การเดินทาง ฯลฯ

“การเริ่มทำจากภายในองค์กร พนักงานได้ใช้ชีวิตจริงๆ วันหยุดไปเดินทาง มีเวลาจัดการชีวิต สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว พอพวกเขามาความสุขแล้วเค้าจะกลับมาทำงานอย่างมีความสุข  ไม่มีความกังวลใจ  และทำงานอย่างเต็มที่  สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ตรงจุดและเต็มที่  ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับ “ประสบการณ์” อันดีจากพนักงาน” ธณัทร์ษริน กล่าว

สองพี่น้องผลัดกันอธิบายอย่างออกรส

การอบรมหรือเทรน์นิ่งพนักงาน ไม่ใช่แค่ให้ทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แต่สอนการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข  สามารถแบ่งปันให้กับครอบครัวได้ด้วย  เหมือนสร้างเค้าให้เป็นเสาหลักเพื่อกลับไปดูแลที่บ้านด้วย เป็นการส่งคนไปพัฒนาสังคมอีกทางนึง จากจุดเล็กๆในองค์กรสู่สังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีนโยบายสำหรับพนักงานอื่น เช่น  วันเกิดได้หยุดไปทำบุญ,  อาหารกลางวัน , ชุดยูนิฟอร์ม เป็นต้น

 

แตกต่างด้วย เรท-บริการที่ดีที่สุด

นอกจากการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในองค์กรแล้ว สำหรับการสื่อสารภายนอกองค์กรก็มีเช่นกัน  Superrich Thailand เดินหน้ากลยุทธ์ Superrich Life เพื่อสร้างความแตกต่างในการให้บริการ  โดยเฉพาะการชูจุดเด่นเรื่อง ราคาที่ดีที่สุด (Best rate)  บวกกับการบริการที่รวดเร็วและสะดวกสบาย

“ธุรกิจแลกเงินต่างประเทศความต้องการของลูกค้าพื้นฐานก็ คือ ราคาที่ดีที่สุด (Best rate) Superrich Thailand จึงมีจุดเด่นเรื่องเรทราคาที่เหมือนกันทุกสาขาไม่ว่าจะสาขาไหนก็เรทเดียวกันหมด เท่านั้นยังไม่พ่อเราเสริมการบริการของพนักงานที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า ณ ช่วงเวลานั้นๆ เพื่อให้เกิดความประทับใจสูงสุด”

ตัวอย่างการบริการเช่น Smart Reception  ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูล หรือ ถ่ายเอกสาร  แต่ต้องพนักงานถูกเทรนน์มาให้มองเห็นความต้องการของลูกค้า เพราะแน่นอนว่าลูกค้าเดินเข้ามาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน ต้องเข้าไปต้อนรับและตอบสนอง ณ เวลานั้นๆ และเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ดิจิตอลของลูกค้าจึงเพิ่มช่องทางไม่ว่าจะเป็น Line@ และ Facebook   นอกจากนี้ยังมีโปรโชั่นกับพันธมิตรชั้นนำระดับเอ็กซ์คลูซีฟ ได้แก่ King Power, Royal Caribbean, Hong Kong Fanclub, Samurai Wifi, Bangkok Sea Life, Madame Tussauds

Smart Reception

“หลักการ 3 ข้อ ของการให้บริการ คือ Commitment ความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพขององค์กรในทุกด้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า, Customer Experience ประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้ลูกค้าในทุก ๆ แง่มุม และ Care หัวใจแห่งการบริการที่เป็นมิตร”

และเพื่อเร่งการขยายฐานลูกค้าใหม่และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าปัจจุบัน จึงมีแผนการขยายสาขาที่มุ่งเน้นทำเลไปที่ศูนย์การค้าและย่านชุมชน เพราะคำนึงถึงไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าจากการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยสามารถเลือกใช้บริการในสาขาที่สะดวกที่สุด

“ปัจจุบันเราเปิดให้บริการไปแล้วทั้งสิ้น 14 สาขา และมีแผนการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ บริษัทได้เตรียมเปิดสาขาเพิ่มในศูนย์การค้าชั้นนำอีกอย่างน้อย 3 สาขา ซึ่งในล่าสุดเปิดสาขาใหม่ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค และดำเนินการขยายพื้นที่สาขาอีก 3 สาขา เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการและเพิ่มจำนวนพนักงาน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว 2 สาขาได้แก่ สยามพารากอน และดิ เอ็มโพเรียม ส่วนอีก 1 สาขาคือท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จะแล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหนาแน่น โดยการออกแบบตกแต่งในทุกสาขาเรายังคงคอนเซ็ปต์ ซุปเปอร์ริช ไลฟ์ ที่สอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าและพื้นที่ตั้งสาขา ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของเราที่จะเติมเต็มประสบการณ์การแลกเงินที่แตกต่าง และสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า นอกเหนือไปจากการให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด”

 

FYI 

– ปี 2559 ภาพรวมตลาดแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 420,000  ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 26% จากปี 2558 ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 333,000 ล้านบาท

– Big Player :  1.Superrich Thailand (สีเขียว)  2. Superrich 1965 (สีส้ม) 3. Twelve Victory

 

รูป : ธีรพงศ์ ต๋าอ่อน


แชร์ :

You may also like