HomePR Newsสัมมนา “Asia – Pacific Music Creator Conference” ครั้งแรกในไทย หวังยกระดับ การจัดการลิขสิทธิ์เพลงไทย สู่มาตรฐานสากล [PR]

สัมมนา “Asia – Pacific Music Creator Conference” ครั้งแรกในไทย หวังยกระดับ การจัดการลิขสิทธิ์เพลงไทย สู่มาตรฐานสากล [PR]

แชร์ :

asiaบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด จัดประชุมสัมมนา Asia – Pacific Music Creator Conference” ครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งหวังยกระดับการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมเพลงไทยสู่มาตรฐานสากล พร้อมเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการค่าลิขสิทธิ์สำหรับผู้สร้างสรรค์ นักแต่งเพลงและประชาชนทั่วไป ตลอดจนหนุนเสริมเศรษฐกิจโต และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทยผงาดในตลาดโลก

การประชุมนี้  ได้รับเกียรติจาก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ร่วมด้วย มร.สก็อต มอร์ริส (Scot Morris) ประธานสมาพันธ์ผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (The International Confederation of Societies of Authors and Composers: CISAC) พร้อมตัวแทนจากสมาพันธ์ องค์กรด้านลิขสิทธิ์ดนตรีต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บินตรงมาร่วมงาน ตลอดจนผู้บริหารค่ายเพลงต่างๆ และศิลปินร่วมงานคับคั่ง โดยมี นายวิรัช อยู่ถาวร ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด และคณะผู้บริหาร บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมโซฟิเทล โซ ถ.สาทร

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จิตราภา พยัคฆโส ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “Asia – Pacific Music Creator Conference” นับเป็นการรวมตัวกันเป็นครั้งแรก ของบรรดานักแต่งเพลง ผู้สร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมดนตรีจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  ศิลปินและนักร้องและตัวแทนองค์กรเกี่ยวกับดนตรีต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการลิขสิทธิ์ด้านดนตรีของไทยสู่ระดับสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสนใจ ตื่นตัว เกี่ยวกับความสำคัญของ “ลิขสิทธิ์” มากยิ่งขึ้น  “ปัจจุบัน มูลค่าการจัดการและจัดเก็บลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในอุตสาหกรรมดนตรี มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาทโดยประมาณ และมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การดาวน์โหลด อุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้งานเพลงสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางด้านดนตรีเพื่อนำไปเสริมกับการประกอบธุรกิจของตนได้ง่ายขึ้น  นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลการใช้เพลง (Music Monitoring Technology) ก็ยังเป็นส่วนเสริมให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ทำได้อย่างเป็นระบบและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล อีกทั้งปัจจุบันผู้บริโภคก็มีความรู้ความเข้าใจและเคารพในสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ดนตรีมากยิ่งขึ้น”

“การสัมมนาครั้งนี้ เน้นรูปแบบการนำเสนอที่เป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย โดยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก การพบปะพูดคุยกับศิลปินนักแต่งเพลง และผู้สร้างสรรค์เพลงชื่อดัง ที่หยิบยกประสบการณ์ตรง มาร่วมแบ่งปันในเวทีการสัมมนา โดยมีประเด็นหลักในการนำเสนอในเรื่อง “การค้าโดยชอบธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี” หรือสัญญาที่เป็นธรรมสำหรับนักแต่งเพลง ลักษณะการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของประเทศไทยและสากล ผลกระทบของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่อการจัดการด้านลิขสิทธ์ เช่น การจำหน่ายเพลงผ่านระบบดิจิตอลต่อสัดส่วนการจัดเก็บและมูลค่าของลิขสิทธิ์ที่นักแต่งเพลงได้รับ และความสามารถในการสร้างรายได้ของนักแต่งเพลงและศิลปิน อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีต่อไป”

โดยประเด็นดังกล่าวนี้ ได้รับเกียรติจาก มร.โลเรนโซ เฟอร์เรโน (Lorenzo Ferrero) ประธานสภาสากลของผู้ประพันธ์เพลง (The International Council of Music Creators : CIAM) และ มร.ชุนอิชิ โตกุระ (Shunichi Tokura) นักแต่งเพลงชื่อดังชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานเพลง ยูเอฟโอ (UFO) ของ วงพิงค์ เลดี้“ (Pink Lady), อาซูสะ ทู โกอุ (AZUSA 2-GOU) ของวง คาร์ยูโด (Karyudo) และ นาย ณฐพล ศรีจอมขวัญ หรือ ก้อ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวงพีโอพี (P.O.P) วงดนตรีแนว ป๊อปร็อกที่ได้รับความนิยมสูงสุด หัวหน้าวง ‘Groove Riders’ วงดนตรีแนวดิสโก้ฟังก์ที่ถือเป็นตำนานระดับประเทศ โปรดิวเซอร์ ศิลปินดัง อาทิ ปาล์มมี่, ละอองฟอง พร้อมทั้งมีผลงานอัลบั้มเดี่ยว 2 ชุด The Workings Of The Soul, The Workings Of The Soul 02 ฯลฯ ร่วมเสนอมุมมอง ต่อจากนั้นพบกับเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงในประเด็น “เสียงจากผู้สร้างสรรค์เพลง”  จากตัวแทนศิลปินนักแต่งเพลงทั้งไทยและสากล ที่จะนำประสบการณ์ในอาชีพสายดนตรีเกี่ยวกับประโยชน์ อุปสรรคและสาระต่างๆ เกี่ยวลิขสิทธิ์ในมุมมองของศิลปิน มาถ่ายทอดให้เราได้รับทราบข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ “แนวทางและหลักการขององค์กรบริหารค่าสิทธิระดับสากล” นำเสวนา โดย มร.สก็อต มอร์ริส (Scot Morris) ประธานสมาพันธ์ผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ มร.เจ ซี ชอย (JC Choi) ตัวแทนจากสมาพันธ์ลิขสิทธิ์ดนตรีแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Korea Music Copyright Association) ได้ร่วมแบ่งบันประสบการณ์ และหลักการทำงานในองค์กรลิขสิทธิ์ของประเทศตน และระดับสากล รวมถึงการจัดการค่าลิขสิทธิ์เพลงไทยในต่างประเทศ และเพลงสากลในประเทศต่างๆ ทั้งด้านจำนวนผู้บริโภค ตัวแทนและองค์กรบริหารค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า และหนุนเสริมให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงจำกัดแต่ในประเทศเท่านั้น รวมไปถึงประเด็นการเซ็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal Agreement) ขององค์กรบริหารการจัดการลิขสิทธิ์ดนตรีต่างๆทั่วโลก เพื่อที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์ตอบแทนซึ่งกันและกันเป็นเครือข่าย ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการเซ็นสัญญาต่างตอบแทนกับองค์กรต่างๆ กว่า 40 องค์กรทั่วโลก และครอบคลุมผลงานเพลงไทยในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ปิดท้ายเวทีสัมมนา ด้วยการนำเสนอ “หลักปฏิบัติสากลในการจัดเก็บค่าสิทธิสำหรับวิทยุโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์” นำเสวนาโดย มร.สเปนเซอร์ ลี (Spencer Lee) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรนักแต่งเพลงและผู้ประพันธ์แห่งประเทศฮ่องกง(Composer and Authors Society of Hong Kong : CASH) และ มร.ซาโตชิ วาตานาเบ (Satoshi Watanabe) ตัวแทนองค์กรลิขสิทธิ์สำหรับผู้ประพันธ์ นักแต่งเพลง และผู้เผยแพร่ประเทศญี่ปุ่น (Japanese Society for Rights of Authors, Composers and Publishers) โดยชี้ให้เห็นว่าภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทยได้รับความนิยมสูง และเผยแพร่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับวิทยุโทรทัศน์ และโรงภาพยนตร์ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การนำระบบการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานเพลง (Music Monitoring Technology) ที่ทันสมัยมาใช้ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ค่าลิขสิทธิ์นั้น กลับคืนสู่ผู้สร้างสรรค์และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

 บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด มุ่งหวังให้การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเพลง ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการลิขสิทธิ์ด้านดนตรีของไทยสู่ระดับสากล และเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการลิขสิทธิ์ทางด้านดนตรี เพื่อให้คนไทยสามารถปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีไทยอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และสามารถนำรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญานี้กลับสู่ประเทศต่อไป


แชร์ :

You may also like