HomeBrand Move !!ไทยไลอ้อนแอร์ ปักธงดอนเมือง ลั่นปี 2561 ขึ้นเบอร์หนึ่ง โลว์คอสต์เมืองไทย

ไทยไลอ้อนแอร์ ปักธงดอนเมือง ลั่นปี 2561 ขึ้นเบอร์หนึ่ง โลว์คอสต์เมืองไทย

แชร์ :

 

Lion-Air1

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

 

ส่งท้ายความแรงปลายปี 2556 กับการแข่งขันกันอันดุเดือดของตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ในไทย โดยเฉพาะสังเวียนสนามบินดอนเมือง เพราะเป็นการท้าชนกันของ 3 สายการบิน ทั้ง “นกแอร์” “ไทย แอร์เอเชีย” และล่าสุด “ไทยไลอ้อนแอร์” ผู้เล่นหน้าใหม่ 1 ใน 4 สายการบินของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซียอย่าง “ไลอ้อนแอร์” ซึ่งถือหุ้นในไทยไลอ้อนแอร์ 49% หลังส่งสัญญาณความพร้อมปักธงรบ เตรียมบุกให้บริการที่สนามบินดอนเมือง 29 พฤศจิกายนนี้

 

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมลัดฟ้าเยือนอินโดนีเซีย สัมภาษณ์พิเศษ “รัสดี คิรานา” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม “ไลอ้อนแอร์” เจ้าตลาดแห่งอุตสาหกรรมการบินอินโดนีเซีย ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% ชนะสายการบินแห่งชาติอย่าง “การูด้า อินโดนีเซีย แอร์ไลน์ส” ที่มีสัดส่วน 30% แถมยังประกาศศักดาความเป็นเจ้าตลาด ด้วยการสั่งซื้อเครื่องบิน “บิ๊กลอต” เซอร์ไพรส์ทั้งวงการ ไม่ว่าจะเป็นโบอิ้ง 230 ลำ จากฝั่งอเมริกาเมื่อปลายปี 2554 ก่อนจะกระจายความเสี่ยงสั่งซื้ออีกลอตจากแอร์บัสของฝั่งยุโรปอีก 234 ลำ เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

 

low cost airline Thailand

รวมจำนวนเครื่องบินทั้งหมดที่มีอยู่และรอรับมอบมีมากถึง 708 ลำ นับเป็นขุมกำลังมหาศาลสำหรับต่อกรกับคู่แข่งในอาเซียน !

จำนวนเครื่องบินมากมายขนาดนี้จะนำไปบินในเส้นทางไหนบ้าง “รัสดี” ซีอีโอไลอ้อนกรุ๊ปตอบว่า เพื่อรองรับผู้โดยสารของทั้ง 4 สายการบิน อย่าง “ไลอ้อนแอร์” ซึ่งบินตลาดในประเทศเป็นหลัก เพราะภูมิประเทศของอินโดนีเซียเป็นเกาะแก่งเยอะมาก ดีมานด์ด้านการบินจึงสูงตาม โดยบินไปยัง 31 แห่งในประเทศ และอีก 5 แห่งในต่างประเทศ รวมกว่า 580 เที่ยวบิน

นอกจากนี้ยังมีสายการบินฟูลเซอร์วิส “บาร์ติก แอร์” ให้บริการ 24 เที่ยวบินต่อวัน ไปยัง 8 จุดบินในอินโดฯ และสายการบิน “วิงส์ แอร์” ให้บริการ 180 เที่ยวบินต่อวันไปยัง 53 จุดบิน

“ตลาดของไลอ้อนแอร์ไม่เหมือนกับสายการบินอื่น ส่วนใหญ่เป็นตลาดในอินโดนีเซียที่แม้จะใหญ่สุดในอาเซียนและขยายตัวปีละ 15% แต่เรามองว่าโอกาสการโตของตลาดระหว่างประเทศยังมีอีกมาก จึงรุกเพิ่มศูนย์กลางทางการบินหรือฮับนอกเหนือจากจาการ์ตาไปยังเมืองอื่น ๆ ในอาเซียน”

และฮับบินที่เขามองว่ามีศักยภาพอย่างมากก็คือ “กัวลาลัมเปอร์” และ “กรุงเทพฯ” จึงขยับขยายการลงทุนในมาเลเซียและไทย โดยได้ผนึกกับกลุ่มอุตสาหกรรมการป้องกันภัยอวกาศแห่งชาติของมาเลเซีย ตั้งสายการบิน “มาลินโด แอร์” วางตำแหน่งตลาดเป็นสายการบินลูกผสม “ไฮบริด แอร์ไลน์ส” ปัจจุบันบินไปยัง 12 จุดหมายในมาเลเซีย และเส้นทางระหว่างประเทศอีก 3 แห่ง

ขณะที่ไทยก็ถือฤกษ์ดีปลายปีช่วงไฮซีซั่น ส่งกองทัพ “ไทยไลอ้อนแอร์” ร่วมยกพลยึดฮับบินที่ดอนเมือง หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ไปแล้ว เมื่อ 27 กันยายน  โดยมี “ดาร์ซิโต้ เฮนโดร เซปุโตร” นั่งเก้าอี้ซีอีโอของไทยไลอ้อนแอร์ จะมาช่วยหนุนสายการบินนี้ให้ “ตั้งไข่” และเดินหน้าได้ด้วยดี เหมือนอย่างที่เคยช่วยผลักดัน “มาลินโดแอร์” ประสบความสำเร็จมาแล้ว

“สำหรับจาการ์ตาแล้วมันยากมากที่จะผลักดันให้เป็นฮับสำหรับเส้นทางระหว่างประเทศเราจึงมองที่กรุงเทพฯเพิ่มเติมซึ่งถือเป็นฮับบินที่ดีมาก ๆ มีตลาดให้เล่นอีกเยอะ ทั้งยังใกล้จีนและญี่ปุ่นกว่า บวกกับไทยมีบุคลากรด้านการบินรองรับการขยายธุรกิจของเรา แถมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังคงโตต่อเนื่อง”

ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ สยายปีกครอบคลุมฮับบินสำคัญทั้ง 3 จุดในอาเซียน

ทั้งนี้ไทยไลอ้อนแอร์เตรียมเทกออฟ 3 เส้นทางบินแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ-จาการ์ตา 2 เที่ยวบินต่อวัน, กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ 1 เที่ยวบินต่อวัน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 3 เที่ยวบินต่อวัน ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้

โดยเริ่มบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-900 อีอาร์ ความจุ 215 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ คาดมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารหรือเคบินแฟกเตอร์ไม่ต่ำกว่า 75%

“รัสดี” เล่าต่อไปว่า หลังจากนั้นเตรียมเปิดเส้นทางหลักจากกรุงเทพฯ ไปยังจุดบินอื่น ๆ เช่น เชียงราย พิษณุโลก อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต และหาดใหญ่

นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดเส้นทางบินรองอย่าง เชียงใหม่-กระบี่, หาดใหญ่-กระบี่ และหาดใหญ่-ภูเก็ต ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศเตรียมบินไปจีน โดยเล็งเมืองเสิ่นเจิ้น, ฮ่องกง, กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงอินเดียในปี 2557 ด้วย

“ปีหน้าเราจะมีเครื่องบิน 12 ลำ ต่อมาในปี 2558 จะมีทั้งหมด 22 ลำ ส่วนปี 2559 เราเล็งเปิดเส้นทางบินระยะไกลไปญี่ปุ่น หรือจีนตอนบนด้วย แต่คงต้องรอข้อสรุปอีกทีว่าจะใช้สายการบินแบรนด์ใด ซึ่งเราตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของไทย ที่สัดส่วน 35% ในปี 2560 และตั้งใจนำหุ้นของไทยไลอ้อนแอร์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2561”

“นำพล รุ่งสว่าง” ผู้จัดการแผนกฝ่ายขายและการตลาด สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เสริมว่า สำหรับแผนเปิดตัวสายการบิน แน่นอนว่าจะมุ่งสร้างการรับรู้ในแบรนด์ให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องราคาขายตั๋วบินจะอยู่ภายใต้แนวคิด “Consistency Low Fare” คงที่และถูกกว่าคู่แข่ง

หมายความว่าเป็นราคาตั๋วบินที่ไม่มีการบวกเพิ่มค่าธรรมเนียม แม้แต่การนำกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องก็ให้นำขึ้นฟรีที่ 15 กิโลกรัม

“ไทยไลอ้อนแอร์ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากการเช่าฝูงบินจากไลอ้อนแอร์ซึ่งสั่งซื้อเครื่องบินไว้มากส่งผลให้ไทยไลอ้อนแอร์จะเป็นอีกหนึ่งสายการบินที่โตอย่างรวดเร็ว คุณรัสดีบอกทีมงานไว้ว่าขอให้ทำตลาดอย่างเต็มที่ เพราะเครื่องบินมีไม่อั้น ตามแผนปี 2561 ไทยไลอ้อนแอร์จะมีฝูงบินไม่ต่ำกว่า 50 ลำ”

ก่อนหน้านี้ “ทัศพล แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินไทย แอร์เอเชีย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภายในปี 2560 ไทย แอร์เอเชียจะมีฝูงบินทั้งหมด 61 ลำ โดยสิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 35 ลำ รุกขยายตลาดเส้นทางบินในประเทศจีน และอินโดจีนส่วนการแจ้งเกิดของไทยไลอ้อนแอร์นั้นก็ถือเป็นอีกแรงสำคัญช่วยกระตุ้นตลาดโลว์คอสต์ในไทยให้ใหญ่ขึ้นเป็นทางเลือกของผู้โดยสารต่อไป อย่างไรก็ตาม ไทย แอร์เอเชียจะยังคงเป็นสายการบินที่ให้บริการในราคาถูกที่สุด

ด้านสายการบิน “นกแอร์” แผนธุรกิจจะมุ่งโฟกัสเพิ่มเส้นทางบินและความถี่ให้ครอบคลุมเมืองไทยมากที่สุด เพราะเป็นเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำและทำกำไรได้มาก

ส่วนแผนบินต่างประเทศจะเน้นเจาะทั้งเมืองหลักและเมืองรองที่เศรษฐกิจขยายตัวดีตั้งอยู่ใกล้เมืองไทยและเป็นเมืองที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่งบินลงมากนัก อย่างเช่นเส้นทางบินจากแม่สอดไป 2 เมืองของเมียนมาร์ ทั้งเมาะละแหม่งและย่างกุ้ง และเส้นทางดอนเมือง-ย่างกุ้งที่มีแผนเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

สำหรับฝูงบินของนกแอร์ ในปี 2558 จะมีทั้งหมด 30 ลำ เป็นโบอิ้ง 737-800 จำนวน 22 ลำ และเอทีอาร์ 8 ลำ แม้ขนาดฝูงบินของนกแอร์จะเป็นรองอีก 2 สายการบิน แต่ “นกแอร์” ก็มั่นใจว่าธุรกิจจะเติบโตดี ตามทิศทางตลาดและเปิดเกมรุกในเส้นทางบินที่พวกเขาถนัด

การแข่งขันของทั้ง 3 สายการบินที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิ๊กทรี” ของสนามบินดอนเมือง เหมือนหนังม้วนยาวที่ต้องตามดูกันต่อว่า แต่ละฝ่ายจะงัดไม้เด็ดอะไรมาสู้กันเพื่อแย่งชิงบัลลังก์เบอร์ 1 สายการบินโลว์คอสต์ในไทยและเจ้าถิ่นอย่าง “ไทย แอร์เอเชีย” กับ “นกแอร์” จะมีแผนรับน้องใหม่อย่าง “ไทยไลอ้อนแอร์” อย่างไร…

แค่ฉากเปิดตัวก็รับประกันว่ามันเกินพิกัดแน่นอน !

 

Partner : ประชาชาติธุรกิจ 


แชร์ :

You may also like