ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจ “ขนส่งและโลจิสติกส์” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งมาแรงไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่การแข่งขันทวีความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มความต้องการของลูกค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปณท คือหนึ่งในผู้เล่นหลักในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่ต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน
ทำให้หลายปีที่ผ่านมา “ไปรษณีย์ไทย” ได้ปรับแผนงานมาอย่างต่อเนื่องจน พร้อมทั้งลบภาพจำเดิม สู่ภาพใหม่ที่ต้องเป็นมากกว่า “ขนส่งและโลจิสติกส์” หากแต่คือการบริการที่หลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของยุคสมัยจนประสบความสำเร็จในแง่การเติบโตตลอดช่วงที่ผ่านมา
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.) ไปรษณีย์ไทยทำรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดมาจาก กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48% ซึ่งเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ราว 3.34% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ
“ปริมาณงานธุรกิจขนส่งในประเทศ 2567 เปรียบเทียบกับ 2566 มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นผลจากเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของภาพรวมงานบริการ- โซลูชันที่ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความมุ่งมั่นในการสร้างประสบการณ์ของของลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งปรากฏว่าบริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศเติบโตที่ 18.45% ขณะที่บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) เติบโตราว 8.07% สะท้อนถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากคนไทย ยืนยันด้วยผลสำรวจความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทย 2567 สูงถึง 91.87%”
พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าเพิ่มปริมาณการจัดส่งสินค้าเพิ่มเติม ทั้งจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหม่อย่าง TEMU ที่อยู่ระหว่างการเจรจา และยังจะเพิ่มการส่งจากสินค้าภายใน ตั้งแต่สินค้าเฮาส์แบรนด์ ได้แก่ ข้าวสาร น้ำดื่ม กาแฟ มีรายได้ราว 20-40 ล้านบาท ควบคู่กับการมองหาพาร์ทเนอร์เข้ามาในการให้บริการลูกค้าในแง่มุมใหม่ๆ มากขึ้น
“อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเราก็คือการไม่หยุดส่งในช่วงเทศกาล ยกตัวอย่างในเทศกาลสงกรานต์ที่ จะปิดให้บริการตั้งแต่ 12-15 เมษายน เป็นต้นไปหากนับเวลาจริงก็คือเราหยุดแค่ 4 วัน แต่ในมุมลูกค้าเขาจะหยุดส่งของตั้งแต่ 10 เมษายน เป็นต้นไป และกว่าจะกลับมาส่งอีกครั้งก็หลังวันที่ 16 เท่ากับว่าเราหายจากการส่งสินค้าเป็นสัปดาห์ นั่นเท่ากับว่าทั้งรายได้และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าก็จะหายไป ดังนั้นเราจึงหันมาเปิดให้บริการในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ซึ่งแน่นอนได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี”
เปิด 4 กลยุทธ์ ปี 2568 สร้างเครือข่ายทั้ง Physical และ Digital เพิ่มบริการงานขนส่งครบวงจร
อย่างไรก็ดีท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจ “ขนส่งและโลจิสติกส์” ในปัจจุบัน ทั้ง ด้านการแข่งขัน ตลอดจนต้นทุนต่างๆ ไปรษณีย์ไทยยังคงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตแบบรอบด้าน โดยในปี 2568 ยังมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้ง Physical และ Digital และระบบงานไปรษณีย์ร่วมกับพันธมิตรสร้างประโยชน์ในหลากมิติ เพื่อให้มีบริการขนส่งที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น บริการทางการเงิน การส่งเสริมค้าปลีก การพัฒนาและสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับทุกความต้องการของลูกค้า โดยมี 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ
- เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง ไปรษณีย์ไทยจะขยายขอบเขตบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริการระหว่างประเทศ เช่น พัฒนาระบบงานคลังสินค้าครบวงจร บริการ document warehouse พัฒนาการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA พัฒนาการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address
- ปรับธุรกิจบริการดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสังคม สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ ของไทยให้เติบโตตามแนวทาง Connecting- the -dots นอกจากนี้ยังเตรียมบริการรองรับการยืนยันตัวตนในระบบที่เชื่อถือได้ D/ID ซึ่งเป็น Post ID ส่วนบุคคลที่จะมีการเริ่มใช้จริงต้นปี 2568 ด้วยระบบ QR CODE ที่จะเป็นทางเลือกการจ่าหน้า ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ
พร้อมระบบพิกัดตำแหน่งทั่วไปด้วยการบอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ Postman Cloud
และยังมีบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ ในการให้บริการ Postman as a Service เช่น การเก็บข้อมูล รับส่งสิ่งของแบบ Point to Point และ Matching เชื่อมโยง Demand กับ Supply พัฒนาแพลตฟอร์ม e-marketplace โครงการ Virtual bank ให้บริการสินเชื่อกับประชาชน สามารถทำธุรกรรมฝากถอนเงินได้ที่สาขาของไปรษณีย์ทั่วประเทศ
- ออกแบบบริการเฉพาะกลุ่ม เช่น บริการไปรษณีย์ตอบรับในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-AR) บริการ
Pick up Service สำหรับกลุ่ม e-marketplace ขยายจุด Drop Off ผ่านเครือข่ายพันธมิตร - เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ สร้างประสบการที่ดีกับไปรษณีย์ไทย เช่น ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ด้วยการเปิดร้าน POST Café เป็นพื้นที่ Cups of Connection ให้ทุกคนได้มาพบปะ และทำกิจกรรมร่วมกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยปีหน้าจะเปิด POST Café เพิ่มอีก 2-3 สาขา
จัดทัพรถ EV – แท่นชาร์จ ทั่วไปไทย รับเทรนด์พลังงานยั่งยืน
ทั้งนี้ ระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ย. 2567 ไปรษณีย์ไทยมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 34.54% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 12.14% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.48% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.85% และรายได้อื่น ๆ 1.15% ดร.ดนันท์ กล่าวปิดท้าย
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวคือการเปลี่ยน “รถส่งของ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจมาเป็นรถ EV แล้ว 250 คัน ซึ่งสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ 75% โดยในอนาคตมีแผนจะเพิ่มจำนวนรถ EV ในการบริการ พร้อมทั้งเปิดสถานีชาร์จสำหรับรถบรรทุก EV โดยเฉพาะผ่านสาขาไปรษณีย์ไทยที่มีมากกว่า 1,600 สาขา เนื่องจากมองว่าปัจจุบันสถานีชาร์จรถ EV ส่วนใหญ่ยังคละกับรถทุกประเภท ทำให้บางครั้งรถบรรทุก EV ก็ต้องรอชาร์จต่อจากรถยนต์ทั่วไปและใช้เวลานาน
“ปกติเราเติมน้ำมันรถส่งของ 700 ล้านบาทต่อปี การปรับใช้รถ EV ทำให้เราประหยัดน้ำมันลงได้มาก และยังลดปัญหาเรื่องต้นทุนน้ำมันผันผวนที่ค่อนข้างเป็นตัวแปรสำคัญอีกด้วย”
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE