HomeBrand Move !!เจาะเบื้องหลัง “Nomorewalk” เซิร์ฟสเก็ตแบรนด์ไทย ที่เริ่มธุรกิจจากความไม่อยากเดิน

เจาะเบื้องหลัง “Nomorewalk” เซิร์ฟสเก็ตแบรนด์ไทย ที่เริ่มธุรกิจจากความไม่อยากเดิน

แชร์ :

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจปั่นป่วน และต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อประคองตัวให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะอยู่กับเรายาวนานแค่ไหน แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างโอกาสธุรกิจใหม่เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ เซิร์ฟสเก็ต (Surfskate) จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาผาดโผน ทำให้นิยมเล่นกันในวงแคบๆ แต่วันนี้กลับมาแรงแซงทุกกีฬา ไม่ว่าจะหันไปทางไหนมีแต่คนพกเซิร์ฟสเก็ตติดตัวตลอด แถมฮิตจัดจนสินค้าขาดตลาด ราคาพุ่งปรี๊ดเลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Nomorewalk เป็นหนึ่งในเซิร์ฟสเก็ตแบรนด์ไทยที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดได้เพียง 10 เดือน จากแบรนด์เล็กๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไหร่ แต่สามารถแทรกเข้าไปสร้างตลาดของตัวเองได้ จนตอนนี้ยอดขายพุ่ง ผลิตไม่ทันทีเดียว อีกทั้งชาวต่างชาติยังชื่นชอบมากมาย อะไรคือ กลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์ไทยอย่าง Nomorewalk มัดใจคนเล่นเซิร์ฟสเก็ตทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ ตามไปฟังคำตอบจาก ดร.กิ่งกนก เสาวภาวงศ์ หรือ อาจารย์บู๋ตู๋ อาจารย์ประจำคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) และเจ้าของแบรนด์ Nomorewalk ไปพร้อมๆ กัน

เพราะไม่อยากเดิน จึงเกิดมาเป็น Nomorewalk

เมื่อพูดว่าเล่นเซิร์ฟสเก็ต ภาพในหัวของหลายๆ คนคงนึกถึงภาพของคนที่คล่องตัว ร่างเล็ก สูง แต่เมื่อได้เจอ ดร.กิ่งกนก พร้อมกับลีลาเล่นเซิร์ฟสเก็ต ก็ทลายภาพในหัวเราทั้งหมด เพราะหากมีใจรัก พร้อยลุย และมุ่งมั่น ไม่ว่าจะอ้วน ผอม หรือเป็นเด็ก ไปจนถึงสูงวัย ก็เล่นได้ ทั้งยังแสดงให้โลกเห็นว่าเซิร์ฟสเก็ตไทยก็มีคุณภาพไม่แพ้เซิร์ฟสเก็ตต่างชาติเช่นกัน

ดร.กิ่งกนก เสาวภาวงศ์ หรือ อาจารย์บู๋ตู๋ อาจารย์ประจำคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) และเจ้าของแบรนด์ Nomorewalk

โดยจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Nomorewalk เริ่มจากการที่ ดร.กิ่งกนก ชอบเล่นเซิร์ฟบอร์ดอยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นกีฬาที่สนุก ตอนนั้นเธอยังไม่ได้รู้จักแผ่นไม้ติดล้อที่มีชื่อว่าเซิร์ฟสเก็ต และเซิร์ฟสเก็ตยังไม่ได้ฮิตไปทั่วเมืองเหมือนปัจจุบัน แต่ใครจะคิดว่าความเป็นอาจารย์ จะกลายเป็นโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ให้กับเธอซะได้

“ตอนนั้นเริ่มจากแค่ไม่อยากเดิน เพราะต้องเดินรับส่งวิทยากรจากตึกหน้ามาตึกหลังประมาณ 6 รอบต่อวัน แต่ส่วนตัวเป็นคนขี้เกียจเดิน จึงตัดสินใจซื้อ Cruiser มา ซึ่งเป็นสเก็ตบอร์ดที่ออกแบบสำหรับการเดินทาง โดยขนาดของล้อจะใหญ่และมีความนุ่ม แม้ตอนนั้นยังเล่นไม่เป็น คิดในใจแค่ว่าถ้าได้เล่นทุกวัน ต้องมีสักวันที่เล่นได้ หลังเลิกสอนจึงนำเซิร์ฟสเก็ตมาไถคนเดียวทุกวัน ค่อยๆ ศึกษาแบบไม่มีความรู้อะไรเลย และหัดด้วยตนเองมาเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กว่าจะคล่องตัวและใช้สเก็ตบอร์ดเดินทางไปไหนมาไหนแทนการเดินได้”

หลังจากเล่นไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกชอบมากขึ้น เพราะนอกจากจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตนเองที่ไม่ต้องเดินแล้ว ใช้แค่การบิดตัว เพื่อถ่ายน้ำหนักไปมา เมื่อประกอบกับศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเซิร์ฟสเก็ตอย่างจริงจัง จนมีความรู้ความเข้าใจระดับหนึ่ง เลยอยากทำธุรกิจเซิร์ฟสเก็ต ต้นปี 2563 จึงนำเข้าแบรนด์เซิร์ฟสเก็ตจากต่างประเทศ 2-3 แบรนด์ มาลองทำตลาดในไทย ปรากฎว่า ขายหมดภายใน 5 นาที

เซิร์ฟสเก็ตแบรนด์ไทย ผลงานจากช่างฝีมือไทยแท้ๆ ภาพจาก FB: Nomorewalk

กระทั่งวันหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าเซิร์ฟสเก็ตที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์การเล่นหรือให้ฟีลลิ่งการเล่นในแบบที่ต้องการ เช่นเมื่อลงไปบนพื้นผู้เล่นต้องรู้สึกแบบนี้ จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาเซิร์ฟสเก็ตในสไตล์ของตนเองขึ้น และเริ่มศึกษากระบวนการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ด้วยความที่ไม่มีความรู้ด้านวิศวะมาก่อนเลย จึงเข้าไปขอคำแนะนำจากมูลนิธิสถาบันพลาสติก กระทั่งพัฒนายางบุชชิ่ง และแกนล้อ (Truck) ออกมาสำเร็จ ซึ่งแม้จะเป็นวัสดุชิ้นเล็กๆ แต่เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ฟิลลิ่งของเซิร์ฟสเก็ตแต่ละแผ่นแต่ละแบรนด์แตกต่างกัน จากนั้นก็เริ่มหาช่างฝีมือมาทำการผลิต จนกลายเป็นแบรนด์ Nomorewalk ในที่สุดเพื่อบอกเล่าให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงคอนเซ็ปท์และตัวตนของเธอที่เป็นคนไม่ชอบเดินได้อย่างชัดเจน

เล่นสนุกในราคาเอื้อมถึง

เซิร์ฟสเก็ตตัวแรกของ Nomorewalk ออกวางตลาดในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นรุ่นที่พัฒนาออกมาเพื่อตอบโจทย์มือใหม่ โดยเน้นความมั่นคง และราคาเอื้อมถึง ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าชาวไทยทั้งในกลุ่มครอบครัว และมือใหม่ที่เพิ่งเล่นเซิร์ฟสเก็ตครั้งแรก ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ผลิตไม่ทัน

ดร.กิ่งกนก บอกว่า ช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาด ตลาดเซิร์ฟสเก็ตเพิ่งเริ่มเป็นที่นิยม แต่ยังไม่ได้คลั่งไคล้เท่ากับตอนนี้ถึงขั้นสินค้าขาดตลาด หลายแบรนด์ผลิตไม่ทัน โดยมองความฟีเวอร์นี้ มีสาเหตุมาจากการที่เซิร์ฟสเก็ตเป็นกีฬาที่สนุกและสามารถเล่นคนเดียวได้ อีกทั้งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิมทุกที่ปิดหมด เมื่ออยู่บ้านก็ทำได้แค่การวิ่ง ทำให้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลายตัว ผู้คนจึงมองหากิจกรรมออกกำลังกายใหม่ๆ เทรนด์การออกกำลังกาย Outdoor จึงเข้ามาตอบโจทย์ เช่นเดียวกับหลายคนที่ชอบกีฬาเซิร์ฟจะไปทะเลโต้คลื่นก็ไม่ได้ เลยต้องหันมาเล่นเซิร์ฟบกแทน ทำให้ผู้เล่นเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น

“เซิร์ฟสเก็ตเป็นกีฬาที่มีมานานแล้ว เกิดจากการผสมผสานระหว่างการเล่นเซิร์ฟบอร์ดบนทะเล เข้ากับการเล่นสเก็ตบอร์ดบนถนนเข้าด้วยกัน แต่ที่ผ่านมายังเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มที่เล่นสเก็ตบอร์ด หรือกีฬาที่ใช้การบาลานซ์ ก่อนจะมาแรง ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ฮิตแค่ในไทย หลายๆ ประเทศก็นิยมเล่นมากขึ้น แต่ความต่างคือ ไม่ได้คลั่งไคล้ถึงขนาดสินค้าขาดตลาดเหมือนกับบ้านเรา และในต่างประเทศยังเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม ไม่แมสเท่าบ้านเรา”

หากมองดูเผินๆ หลายคนอาจคิดว่า เซิร์ฟสเก็ต กับ สเก็ตบอร์ด เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของล้อ และการเล่น โดย ดร.กิ่งกนก อธิบายว่า สเก็ตบอร์ดนั้นต้องใช้เท้าไถอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขนาดล้อค่อนข้างเล็กและมีความแข็ง แต่เซิร์ฟสเก็ตไม่จำเป็นต้องใช้เท้าไถ ขนาดล้อจึงใหญ่ ทำให้ผู้เล่นใช้เพียงแรงเหวี่ยงบิดสะโพกก็สามารถพาบอดร์ดเคลื่อนไปข้างหน้าได้

ไม่เพียงแค่นั้น เซิร์ฟสเก็ตแต่ละแผ่น ยังให้ “ฟีลลิ่ง” ต่างกันสิ้นเชิง แม้หน้าตาจะคล้ายคลึงกันหรือแทบจะเหมือนกันหมด เพียงแต่มีหลักคิดในการพัฒนาเหมือนกันคือ พัฒนาทุกอย่างให้เหมือนการเล่นเซิร์ฟในทะเล ดังนั้น เมื่อเป้าหมายคือ เซิร์ฟในทะเล แต่ละแบรนด์ในโลกจึงไม่เหมือนกัน เพราะฟีลลิ่งของการเล่นเซิร์ฟในทะเลของคนพัฒนาแตกต่างกัน อีกทั้งทะเลแต่ละพื้นที่ก็มีความต่างกัน

อีกหนึ่งผลงานจาก Nomorewalk เพื่อตอบโจทย์คนเล่นที่ต้องการเซิร์ฟสเก็ตน้ำหนักเบา ภาพจาก FB: Nomorewalk

ดร.กิ่งกนก บอกว่า จุดแข็งของ Nomorewalk นอกจากการเป็นแบรนด์ที่เล่นสนุกปลอดภัยในราคาเอื้อมถึง โดยวางราคาตั้งแต่ 3,990-5,990 บาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเล่นแบบรักษ์โลก โดยวัสดุที่นำมาผลิตต้องทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่นการใช้ลายไม้มาทำแผ่นบอร์ดเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อีกทั้งทุกแผ่นยังถูกผลิตขึ้นแบบ Hand Made ทั้งหมด รวมถึงพัฒนาบุชชิ่งเองเพื่อให้ได้ฟีลลิ่งการเล่นตามความต้องการของลูกค้า โดยปัจจุบันมี 3 สูตรคือ Stable, Light Weight และ Super Performance และมีเซิร์ฟสเก็ตทั้งหมด 13 รุ่นแล้ว

“เราทำไป และพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของลูกค้า โดยเดือนหน้าวางแผนจะออกเซิร์ฟสเก็ตที่ไม่ใช่กระดาษทรายแบบทั่วไป แต่จะใช้พื้นผิวชนิดเดียวกับเซิรฟ์บอร์ด และซีรีส์ทะเลไทย เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม และทำให้คนรู้จักสัตว์ทะเลไทยมากขึ้น โดยออกแบบเป็นสัตว์ทะเล 4 ตัวลงบนแผ่นเซิร์ฟ ได้แก่ ปลากระเบนแมนตา วาฬบรูด้า โลมาหัวปลาลายเรียบ (เช็คชื่อ) และพยูน ลายละ 25 แผ่น โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิทางทะเล”

ใช้คุณภาพ-ความเป็นไทย แจ้งเกิดแบรนด์เซิร์ฟสเก็ตไทยในระดับโลก

ปัจจุบันนอกจากลูกค้าชาวไทยจะตอบรับเซิร์ฟสเก็ตแบรนด์ไทยอย่าง Nomorewalk แล้ว ชาวต่างชาติยังให้ความสนใจเช่นกัน โดยตอนนี้เริ่มมีประเทศสเปน มาเลเซีย และอินเดียติดต่อเข้ามา โดย ดร.กิ่งกนก บอกว่า ส่วนใหญ่เห็นแบรนด์จากโซเชียลมีเดีย และมองว่าสินค้าน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของคนในประเทศเขาได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันอยู่ แต่ส่วนตัวเธอก็สนใจเพราะถือเป็นการนำแบรนด์เซิร์ฟสเก็ตไทยออกไปให้โลกได้รู้จัก

“หากมองในแง่คุณภาพ เราสู้ได้ ช่างไทยฝีมือดีมีคุณภาพ และเราผลิตแบบ Hand Made 100% โอกาสจึงยังมีอีกมาก แต่ด้วยความที่เซิร์ฟสเก็ตเป็นตลาดนิชมาร์เก็ต ทำให้การเข้าตลาดค่อนข้างยากเพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้น เราต้องสู้ด้วย คุณภาพ และ ความเป็นไทย โดยใส่ฟีลลิ่งความเป็นทะเลไทยเข้าไปในแผ่นเซิร์ฟสเก็ต เพราะการเล่นเซิร์ฟเล่นในทะเลฮาวายต่างจากทะเลภูเก็ต” ดร.กิ่งกนก ย้ำถึงโอกาสของแบรนด์ไทยในตลาดเซิร์ฟสเก็ตระดับโลก

ขณะเดียวกัน เมื่อหันกลับมามองเซิร์ฟสเก็ตในประเทศไทย ดร.กิ่งกนก เชื่อว่า ยังเป็นเทรนด์มาแรงและมีโอกาสเติบโตอีกมากเช่นกัน เพราะหากดูจาก Surfskate Thailand Marketplace คอมมูนิตี้ของผู้คนที่หลงใหลในการเล่นเซิร์ฟสเก็ต จะพบว่าตอนนี้มีฐานสมาชิกบน Facebook ประมาณ 133,300 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2564) ซึ่งมีทั้งคนที่เข้ามาหาเซิร์ฟสเก็ตเล่น และซื้อขายอุปกรณ์กันตลอดเวลา ส่วนธุรกิจเซิร์ฟสเก็ตในประเทศไทยมีการประมาณกันว่าในปี 2563 มีมูลค่าราว 500 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 100%

เพราะถึงแม้ปัจจุบันผู้เล่นจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่คนเล่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70-80% ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ ขณะที่ในต่างจังหวัด เริ่มมีการเล่นบ้างแต่ยังน้อย จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันเซิร์ฟสเก็ตเป็นกีฬาสนุก และมีความ Challenge หากได้ลองเล่นสักครั้งหนึ่งแล้วสามารถขึ้นไปยืนทรงตัวอยู่บนบอร์ดได้ ผู้เล่นจะรู้สึกถึงความสำเร็จ

สำหรับ ทิศทางของแบรนด์ Nomorewalk วางแผนจะพัฒนาเซิร์ฟสเก็ตให้ตอบโจทย์การเล่นเพิ่มมากขึ้น ส่วนในแง่การผลิต ดร.กิ่งกนก ยอมรับว่า แม้ตอนนี้ความต้องการจะสูง แต่ด้วยความเป็นงานผลิตด้วยมือ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก โดยกำลังผลิตตอนนี้สามารถผลิตได้ 20-30 แผ่นต่อสัปดาห์เท่านั้น และทุกแผ่นเธอจะต้องตรวจสอบเองทั้งหมด

“เราไม่ได้คิดว่าแบรนด์ต้องติดตลาด เพราะเป็นแค่แบรนด์ไทยเล็กๆ แค่อยากให้คนมาเล่นเซิร์ฟสเก็ตอย่างสนุกและปลอดภัย วันนี้จึงถือว่ามาไกลจากที่คาดหวังไว้มากๆ โดยในอนาคตอยากจะเห็นเซิร์ฟสเก็ตกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับการเดินทางแบบรักษ์โลก เพราะในต่างประเทศคนนิยมไถสเก็ตไปตามทางเท้าเพื่อเดินทางไปยังขนส่งสาธารณะ แม้วันนี้เซิร์ฟสเก็ตจะยังดูไม่ปลอดภัยสำหรับการนำมาใช้บนท้องถนน แต่ถ้ามีคนนำมาใช้เดินทางแล้วตระหนักถึงความปลอดภัย ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เซิร์ฟสเก็ตหรือยานพาหนะที่ไม่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์อาจจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเดินทางของบ้านเราได้เช่นกัน” ทั้งหมดนี้คือฝันของ ดร.กิ่งกนก บนเส้นทางธุรกิจแผ่นติดล้อ

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Nomorewalk นอกจากจะได้รู้จักธุรกิจเซิร์ฟสเก็ตมากขึ้นแล้ว ยังทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจวันนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หากทำด้วยความตั้งใจและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ คำว่าความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งอีกไม่นานเราคงได้เห็นแบรนด์เซิร์ฟสเก็ตไทยโลดแล่นอยู่ในเวทีระดับโลกเช่นกัน


แชร์ :

You may also like