HomeBrand Move !!8 สิ่งที่ธุรกิจต้องรู้ และ 5 เรื่องต้องระวัง หากอยากทำ Digital Transformation ให้สำเร็จ

8 สิ่งที่ธุรกิจต้องรู้ และ 5 เรื่องต้องระวัง หากอยากทำ Digital Transformation ให้สำเร็จ

แชร์ :

ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ การกลายพันธุ์ธุรกิจไปสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ธุรกิจให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในองค์กรเท่านั้น แต่จะทำให้ธุรกิจเข้าใจพฤติกรรม-ผู้บริโภค การแข่งขันที่แปรเปลี่ยนไป และสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมอย่างรวดเร็วได้ ทำให้ Digital Transformation จากที่เป็นแค่เทรนด์ จึงกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของทุกองค์กร เพราะถ้าไม่ปรับ เท่ากับรอวันเจ๊ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ดิจิทัลจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจโดยเฉพาะในยุคที่เต็มไปด้วยสภาวะความไม่แน่นอน แต่ปัจจุบันยังมีธุรกิจน้อยรายที่ทำแล้วจะสำเร็จ จากผลสำรวจของ Mckinsey พบว่าธุรกิจทั่วโลกที่ทำ Digital Transformation กว่า 70% ล้มเหลว และมีเพียง 16% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ และที่น่าสนใจกว่านั้น ข้อมูลจาก The Invincible Company ยังพบว่า ใน 1,000 โปรเจค มีแค่ 4 โปรเจคที่สำเร็จ หรือประมาณ 0.4% เท่านั้น อีกกว่า 60% ล้มเหลว ขณะที่ 30% ทำแล้วเสมอตัว ส่วนในประเทศไทย มีไม่ถึง 5% ที่ทำแล้วสำเร็จ จนกลายเป็นความกังวลให้ธุรกิจขณะนี้ เพราะไม่ปรับก็ตาย พอทรานส์ฟอร์มก็ Fail แล้วธุรกิจต้องทำอย่างไรท่ามกลางทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

คุณธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้เขียนหนังสือ Digital Transformation Canvas และ Digital Transformation In Action  รวมถึงอยู่เบื้องหลังการทำ Digital Transformation ให้กับธุรกิจ SME และองค์กรขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ 8 สิ่งต้องรู้ในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้สำเร็จแบบง่ายๆ และ 5 เรื่องที่อาจทำให้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ดิจิทัล Fail ได้แบบไม่รู้ตัว

สำหรับ “8 สิ่งที่ธุรกิจต้องรู้” เพื่อให้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ดิจิทัลประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย

1.เข้าใจเกมการแข่งขันและตลาดที่เปลี่ยนไปแล้ว

สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ธุรกิจต้องรู้ในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลคือ มองอุตสาหกรรมที่เราอยู่อย่างเข้าใจว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีดิจิทัล หรือคู่แข่งที่มาจากต่างอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพ หรือบริษัทเทคเจ้าใหญ่ที่เข้ามา Disrupt เพราะหลายๆ ครั้งเมื่อพูดถึงการ Transformation ธุรกิจไปสู่ดิจิทัล หลายคนมักจะมองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจ เช่น เปลี่ยนจากการขายออฟไลน์ไปอยู่บนออนไลน์ หรือทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในช่องทางออนไลน์ แล้วบอกว่านี่คือการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ ทำให้ธุรกิจลงทุนอย่างสูญเปล่า เพราะไม่สามารถจะทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่ดิจิทัลและสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ได้

2.ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า Core Business ของธุรกิจทำอะไร

หลายคนอาจนึกขำอยู่ในใจคิดว่าใครจะไม่รู้จักธุรกิจของตัวเองว่าทำอะไร แต่หลายคนเจอคำถามนี้กลับตอบไม่ได้ ยกตัวอย่าง แอร์เอเชีย หลายคนเข้าใจมาตลอดว่าเป็นธุรกิจสายการบิน แต่แอร์เอเชียไม่ได้มองตัวเองเป็นธุรกิจสายการบิน แต่เป็น Travel Tech Company ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างลาซาต้า ช้อปปี้ เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ไม่ใช่อีคอมเมิร์ซ เพราะฉะนั้น ธุรกิจต้องสำรวจตัวเองให้ชัด ด้วยการตอบคำถามให้ได้ว่า เราคือใคร? ทำอะไร? และธุรกิจทำเงินจากสิ่งใด เพราะจะทำให้เรารู้จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และวางเป้าหมายองค์กรอย่างถูกทางต่อไป

3.ดาต้าคือ จุดเริ่มต้นของการทำ Digital Transformation
ดาต้าเปรียบเสมือนหัวใจของการทำตลาดยุคดิจิทัล เพราะช่วยให้รู้ Insight บางอย่างของผู้บริโภค และทำให้ธุรกิจสามารถนำไปพัฒนาสินค้าใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ แม้กระทั่งลดขั้นตอนการทำงาน ลดความผิดพลาด ก็ทำได้ แต่องค์กรส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยการเก็บดาต้าก่อน แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ดาต้าเพื่ออะไร ทำให้ต้นทุนบานปลาย แถมยังไม่สร้างรายได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้ตอนนี้ธุรกิจยังไม่มีดาต้า ก็สามารถทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลได้ หากมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปเป็นอะไร หรือต้องการนำดาต้ามาทำอะไร เมื่อเป้าหมายชัดเจน จึงมาพิจารณาว่าดาต้าไหนเกี่ยวข้องและต้องจัดเก็บอะไรเพิ่มเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่จะทำมากที่สุด แล้วจึงค่อยพัฒนาสู่แผนการทำนวัตกรรมอื่นๆ ต่อไป

4.ต้องสร้างความสามารถใหม่ๆ จาก Core Business เดิม
ธุรกิจต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนปรับเปลี่ยนว่าสามารถจะนำดิจิทัลเทคโนโลยีในปัจจุบันมาช่วยธุรกิจให้มีความสามารถใหม่ๆ หรือสร้างโมเดลการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ อะไรได้บ้าง อย่างเช่น ผิงอัน และ Adobe ที่สามารถเปลี่ยนจากธุรกิจประกันภัยและซอฟต์แวร์ไลเซนซ์ มาเป็นธุรกิจใหม่ด้านแพลตฟอร์มสุขภาพและเทคโนโลยีการตลาด ตามลำดับ หรือ RS Group ที่เปลี่ยนธุรกิจจากธุรกิจสื่อและบันเทิง มาสู่อีคอมเมิร์ซ และไปรษณีย์ไทย ที่ปรับเปลี่ยนจากการส่งจดหมาย มาสู่ธุรกิจ e-Fulfillment และฟินเทค

5.ต้องรู้ว่าปัจจุบันธุรกิจมีความสามารถด้านดิจิทัลอะไรบ้าง และอนาคตจะต้องมีความสามารถดิจิทัลอะไรเพิ่มเติม พร้อมสร้าง Roadmap สำหรับธุรกิจในอนาคต
เมื่อต้องนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล ต้องไม่มองแค่ว่าจะทำองค์กรให้มีดิจิทัลอย่างไร เช่น ทำอีคอมเมิร์ช เว็บไซต์ แต่สุดท้ายขายของไม่ได้ สิ่งสำคัญธุรกิจจึงต้องรู้ว่าจะนำดิจิทัลเทคโนโลยีไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้อย่างไร เช่น สร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ หรือรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมสร้าง Roadmap ที่เป็นแผนงานและระบุกรอบระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ

6.ไม่ใช่แค่หัวอยากเปลี่ยน แต่หัวและหางต้องกระดิกไปพร้อมกัน
การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากผู้นำองค์กรก็จริง แต่การจะปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัลให้ได้ผล คนในองค์กรทุกคนต้องเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ยอดขายยังเติบโตต่อเนื่อง ผู้นำจำต้องสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมธุรกิจต้องเปลี่ยน เพราะหากยังทำแบบเดิมๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป อนาคตธุรกิจอาจไม่รอด ซึ่งจะทำให้ทุกคนตระหนัก และร่วมมือเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

7.ต้องปรับวิธีคิดให้มีความเป็น Agile

โลกดิจิทัลเป็นโลกที่หมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้ธุรกิจต้องรู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวให้เร็วกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆ และหาโอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

8.ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเองใหม่ทั้งหมด

ในกระบวนการสร้างความสามารถด้านดิจิทัล ธุรกิจไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นพัฒนาจากศูนย์ องค์กรอาจจะมองหาเครื่องมือ แพลตฟอร์ม หรือพันธมิตรที่สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น แอปพลิเคชั่น อีคอมเมิร์ซ เพื่อนำสร้างหรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบนิเวศทางธุรกิจ และช่วยให้การทรานส์ฟอร์มประสบความสำเร็จเร็วขึ้น

ส่วน 5 เรื่องที่อาจทำให้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจล้มเหลวที่ธุรกิจต้องระวัง ประกอบด้วย 

1.ทำโดยไม่มีหลักและเป้าหมายที่ชัดเจน

ส่วนใหญ่ทำโดยไม่ได้เข้าใจหลักการสร้าง Innovation อย่างแท้จริง เห็นคนอื่นทำกัน ก็อยากทำบ้าง

2.ยึดติดกับความสามารถหรือวิธีการเดิมๆ แล้วคาดหวังว่าจะสำเร็จได้เหมือนในอดีต

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธรรมชาติของคนและธุรกิจไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังมีความ Agile ไม่มากพอ จึงยึดติดกับรูปแบบการทำธุรกิจเดิมๆ ไม่กล้าเปลี่ยนมุมคิด โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในอดีต ทั้งๆ ที่ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้มากกว่าเดิม

3.ทำเยอะเกินไป

เรียกว่ามีครบทุกอย่างที่ธุรกิจยุคดิจิทัลต้องมี ไม่ว่าจะเป็น Website, Facebook, E-commerce แม้กระทั่งแอปพลิเคชั่น บิ๊กดาต้า แต่สุดท้ายกลับทำได้ไม่ดีสักอย่าง ทั้งยังไม่ตอบโจทย์ทิศทางและเป้าหมายธุรกิจในระยะยาว เพราะฉะนั้น ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำครบทุกไอเดีย แต่อาจเริ่มต้นทำโปรเจคริเริ่มก่อน ยกตัวอย่างเช่น มี 100 ไอเดีย อาจจะทำแค่ 10 ไอเดีย และจาก 10 อาจเหลือแค่ 3 ไอเดียที่นำมาทำต้นแบบจริง

4.ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง

การทรานส์ฟอร์มส่วนใหญ่มักจะเป็นการทดลองทำในโปรเจคใหม่ด้านดิจิทัล ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องและมากพอ อีกทั้งเมื่อทำโปรเจคใหม่แล้ว ไม่สามารถจะขยายผลเพื่อประยุกต์ใช้ในองค์กรจริงได้

5.ขาดความเข้าอกเข้าใจลูกค้า

ธุรกิจยังขาดความเข้าอกเข้าใจต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ลูกค้ามีความต้องการหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม หากธุรกิจไม่เข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง จะทำให้ไม่สามารถสร้างให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้ เพราะผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่สร้างขึ้นมาได้ไม่มีข้อเสนอทางคุณค่าหรือมีความแตกต่างจากของเดิมในตลาด

จากคำแนะนำทั้ง 13 เรื่อง เราเชื่อว่าบางข้อนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ล้วนเคยผ่านตากันมาแล้ว แต่หลายธุรกิจอาจเผลอลืมไป ดังนั้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่เร่งให้ทุกคนต้องเปลี่ยน ลองใช้จังหวะนี้สำรวจธุรกิจตัวเองและปรับเปลี่ยนกันอีกครั้ง การทำ Digital Transformation อาจจะกลายเป็นเรื่องง่าย และทำให้ธุรกิจแจ้งเกิดโมเดลใหม่ๆ ที่สร้างรายได้มากขึ้นก็เป็นไปได้

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like