HomeBrand Move !!เปิดตำนาน 143 ปี “บี.กริม” จากร้านขายยาสู่ ธุรกิจพลังงาน มูลค่า 7 หมื่นล้าน

เปิดตำนาน 143 ปี “บี.กริม” จากร้านขายยาสู่ ธุรกิจพลังงาน มูลค่า 7 หมื่นล้าน

แชร์ :

ภาพจาก facebook B.GRIMM.since1878

หากพูดถึงร้านขายยาสยามดิสเป็นซารี่ (Siam Dispensary) เชื่อว่าส่วนใหญ่จะต้องเกาหัวว่าคือใคร? เว้นแต่ใครที่มีอายุอานามประมาณ 100 ปีขึ้นไป แต่ถ้าบอกว่านี่คือร้านขายยาของ บี.กริม เชื่อว่าทุกคนต้องร้องอ๋อขึ้นมาในทันที

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เพราะอาณาจักรแห่งนี้ไม่เพียงอยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 143 ปี และทำธุรกิจหลากหลาย หนึ่งในธุรกิจหลักอย่าง บี.กริม เพาเวอร์ ยังเป็นดาวรุ่งพุ่งเปรี้ยงปร้าง ที่สร้างการเติบโตให้กับบี.กริม สุดๆ จนทำให้รายได้ในปี 2562 ที่ผ่านมา ทำยอดขายได้กว่า 5.9 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง “คุณฮาราล ลิงค์” ประธาน และทายาทรุ่นที่ 3 ของ บี.กริม กรุ๊ป ยังจัดเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยของไทยกับมูลค่าทรัพย์สิน 2.3 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 7.51 หมื่นล้านบาท

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ธุรกิจ บี.กริม ไม่ได้เริ่มจากเส้นทางพลังงานหรือว่าเครื่องปรับอากาศ ที่โด่งดังในตอนนี้ หากแต่เส้นทางธุรกิจของบี.กริม ในสยามประเทศเริ่มต้นที่ “ยา”

เริ่มต้นธุรกิจจากห้างขายยา

บี.กริม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2421 โดยชาวยุโรป 2 คนคือ คุณแบร์นฮาร์ด กริม เภสัชกรชาวเยอรมัน และคุณแอร์วิน มุลเลอร์ นักธุรกิจชาวออสเตรีย ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท บี.กริม ซึ่งเป็นชื่อของผู้ก่อตั้ง (แบร์นฮาร์ด กริม) และใช้มาถึงทุกวันนี้ โดยแรกเริ่มเปิดร้านขายยาชื่อ “สยามดิสเป็นซารี่” บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งเป็นร้ายขายยาสมัยใหม่แห่งแรกในไทย

ห้างขายยาสยามดิสเป็นซารี่ : ภาพจาก facebook B.GRIMM.since1878

กิจการร้านขายยาของพวกเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีร้านผลิตยา ทำให้ บี.กริมเห็นโอกาสและเปิดร้านผสมยาขึ้น แถมไม่ได้จำหน่ายให้กับประชาชนเท่านั้น ทว่ายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดยาตำรับตะวันตกสำหรับราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

ต่อมาในปี 2446 บี.กริม ได้รับ คุณอดอล์ฟ ลิงค์ เภสัชกรชาวเยอรมัน ผู้บริหารจากตระกูลลิงค์คนแรกเข้ามาร่วมงานในห้าง บี.กริม ซึ่งเขาได้บุกเบิกธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สัมปทานโทรเลขที่เกาะสีชัง การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในห้าง บี.กริม แอนด์โก เช่น ขวดยา กระบี่ นาฬิกา แว่นตา โคมไฟ เตียง จนถึงกระเบื้องที่ใช้สร้างวัดพระแก้วมรกตและวัดอรุณฯ ซึ่งสินค้าทั้งหมดถึงจะไม่ได้ผลิตโดยบี.กริม แต่ทุกชิ้นต้องติดแบรนด์ บี.กริม

จนกิจการเติบโตรุดหน้าไปอย่างมาก ในปี 2457 คุณอดอล์ฟ ลิงค์ ก็ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดและกลายเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว

โชคชะตาเล่นตลก จนต้องปิดกิจการ

หลังตระกูลลิงค์เข้ามาบริหาร บี.กริม สิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้บริษัทถูกยึดต้องปิดกิจการทั้งหมด เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นชาวเยอรมัน และคุณอดอล์ฟ ลิงค์ ต้องถูกส่งตัวไปค่ายกักตัวในประเทศอินเดีย เมื่อสงครามสงบลง คุณอดอล์ฟ ลิงค์ ก็กลับมาเปิดห้างใหม่อีกครั้ง โดยใช้เวลาทั้งหมด 11 ปี

แต่เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก เพราะขณะที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปด้วยดี กลับต้องพบสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกครั้ง จนต้องหยุดกิจการอีก ซึ่งหากเป็นคนอื่นที่ต้องเจอมรสุมใหญ่ถึง 2 ครั้ง อาจจะเลิกกิจการไปแล้ว แต่นั่นไม่ใช่กับคนตระกูลลิงค์ เพราะหลังจบสงครามครั้งที่ 2 ลูกชายของเขาสองคนได้กลับมากอบกู้ธุรกิจให้กลับมาอีกครั้ง

โดย “คุณเฮอร์เบิร์ด” ผู้เป็นพี่ ดูแลบริษัทในกรุงเทพฯ ส่วน “คุณเกฮาร์ด” น้องชาย ดูแลกิจการอยู่ที่บาร์เซิลและเมือง ฮัมเบิร์ก พร้อมกับเริ่มขยายกิจการออกไปหลายด้าน เช่น วิศวกรรม สุขอนามัย โทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์การแพทย์ เภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ รวมถึงการผลิตไฟฟ้า

คุณฮาราล ลิงค์ ประธาน และทายาทรุ่นที่ 3 ของ บี.กริม กรุ๊ป : ภาพจาก facebook B.GRIMM.since1878

กระทั่งในปี 2521 คุณฮาราลด์ ลิงค์ บุตรชายของคุณเกฮาร์ด หลานของคุณเฮอร์เบิร์ด ได้เข้ามาสานต่อกิจการเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 โดยเขาเริ่มทำงานที่บี.กริม ด้วยวัยเพียง 24 ปี และอีก 8 ปีต่อมา ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานกลุ่มด้วยอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น

จากห้างขายยา สู่มหาเศรษฐีพลังงาน

หลังเข้ารับตำแหน่ง คุณฮาราลด์ ลิงค์ ได้เดินหน้าขยายกิจการด้านพลังงานมากขึ้น เพราะเล็งเห็นความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงมองหาธุรกิจใหม่ๆ ทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งเพื่อรุกธุรกิจสุขภาพ จนธุรกิจของ บี.กริม กรุ๊ป เติบโตเรื่อยมา กระทั่งปี 2527 บริษัทก็แทบจะล้มทั้งยืนอีกครั้ง เมื่อไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่งผลให้ บี.กริม มีหนี้สินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพราะธุรกิจหลักตอนนั้น เน้นนำเข้าสินค้ามาขายในไทย ทว่าเขาก็สามารถผ่านวิกฤติมาได้ แต่ก็ต้องมาประสบปัญหาค่าเงินอีกครั้งในปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤติที่แม้แต่คุณฮาราลด์ ลิงค์ ยังตั้งคำถามในใจว่า “บริษัทจะอยู่รอดได้อย่างไร” เพราะลูกค้าหยุดซื้อสินค้า ยอดขายลดฮวบ

เขาก็ยังไม่ได้ยอมแพ้กับมรสุมที่ถาโถมเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า และพยายามอย่างหนักหน่วงทุกวิถีทาง ทั้งขายที่ดินเปล่า ขายหุ้นและขายบริษัททำความสะอาด และรับเหมาก่อสร้าง จนในที่สุดก็สามารถฟื้นคืนชีพกลับมา ก่อนจะก้าวสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของเมืองไทย ปัจจุบันประกอบด้วย 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจพลังงาน 2.กลุ่มธุรกิจระบบภายในอาคารและอุตสาหกรรม 3.กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ 4.กลุ่มธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ 5.กลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ 6.กลุ่มธุรกิจด้านคมนาคม และ 7.กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

โดยมีธุรกิจไฟฟ้าอย่าง บี.กริม เพาเวอร์ เป็นหัวหอกที่สร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วให้บี.กริม โดยทำรายได้ประมาณ 75% ของในเครือ และในปี 2560 เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโตอย่างต่อเนื่อง

ภาพจาก facebook B.GRIMM.since1878

สำหรับรายได้ของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีดังนี้

ปี 2560 รายได้รวม 31,924 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,126 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้รวม 37,226 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,862 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวม 44,460 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,331 ล้านบาท

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 31 โรง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวน 13 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 15 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง และ โรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 1,779 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำรวม 380 ตันต่อชั่วโมง

ภาพจาก facebook B.GRIMM.since1878

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 143 ปี ที่แม้ต้องเจออุปสรรคมากมาย แต่การไม่ยอมแพ้ต่อพายุลูกแล้วลูกเล่าที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจร้านขายยาสามารถก้าวผ่านมรสุม และเติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน


แชร์ :

You may also like