HomeBrand Move !!รู้จักกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ป “เด็กสวนฯ” ทั้งๆ ที่ห่างกัน 29 รุ่น จนเป็นที่มาของ iWear ร้านแว่น ที่ “โตในปั๊มน้ำมัน”

รู้จักกันในเฟซบุ๊กกรุ๊ป “เด็กสวนฯ” ทั้งๆ ที่ห่างกัน 29 รุ่น จนเป็นที่มาของ iWear ร้านแว่น ที่ “โตในปั๊มน้ำมัน”

แชร์ :

การมี “หุ้นส่วนธุรกิจ” หรือ “Partnership” อาจไม่ใช่คอนเซ็ปท์แปลกใหม่มากนักสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะหากไอเดียไม่เจ๋งจริง แปลกใหม่ และเงินทุนมากพอ การจะปลุกปั้นแบรนด์ให้แจ้งเกิดในตลาดอย่างรวดเร็วด้วยตัวเองเพียงคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายทั้งสภาวะเศรษฐกิจซบเซา พฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงการแข่งขันกันอย่างรุนแรง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การมีหุ้นส่วนธุรกิจ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แบรนด์และธุรกิจเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาหลายธุรกิจจึงเลือกทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนโดยเฉพาะคนในครอบครัว หรือเพื่อนที่สนิทกันมายาวนาน เพราะด้วยวัยใกล้กัน บวกกับสายสัมพันธ์ความเป็นพี่น้อง ทำให้เมื่อเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน สามารถจะพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ง่าย แต่มีธุรกิจร้านแว่นตาแบรนด์หนึ่งกลับเลือกหุ้นส่วนที่มีความต่างวัยถึง 29 ปี แถมยังไม่มีสายสัมพันธ์กันในครอบครัวมาก่อน ที่สำคัญพวกเขาเลือก “ปั๊มน้ำมัน” เป็นทำเลแรกในการเปิดร้านแว่นตา สวนทางกับร้านแว่นตาทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะเลือกเปิดในห้างสรรสินค้า

นี่คือความ ไม่ธรรมดา ของร้านแว่นตา iWear ที่อยู่ในสนามนี้มาเกือบ 3 ปี แต่สามารถขยายกิจการจนปัจจุบันมีมากถึง 15 สาขา และใช้เวลาเพียง 1 ปีครึ่งธุรกิจร้านแว่นตาก็เข้าสู่ “จุดคุ้มทุน” ได้แล้ว ท่ามกลางตัวเลือกร้านแว่นตามากมายทั้งแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็ก แต่ทำไม iWear สามารถแจ้งเกิดและครองใจผู้บริโภคได้อยู่หมัด Brand Buffet พามาชวนคุยกับสองหุ้นส่วนต่างวัย คุณชลธิศ พรพัฒน์กุล (เบิร์ด) และ คุณศิรวิทย์ เกียรติวิทยาสกุล (อั้ม) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ iWear (ไอแวร์) ซึ่งมีคำตอบซ่อนอยู่ในเรื่องราวของพวกเขามากมาย

จากร้านแว่นตาในเฟสบุ๊ก สู่ร้านแว่นตา iWear

“ผมกับพี่เบิร์ดเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ พี่เบิร์ดอยู่รุ่น 99 ผมอยู่รุ่น 128 เราห่างกัน 29 ปี ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าแว่นตาจะขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่อยากลองทำและคิดว่าถ้าได้เรียนรู้กับคนเก่งๆ น่าจะทำให้ผมเก่งขึ้น”

คุณศิรวิทย์ เกียรติวิทยาสกุล Chief Executive Officer หจก. อายสเปิท บอกเล่า “ความต่าง” ระหว่างวัยที่ทำให้พวกเขาค้นพบการทำธุรกิจร่วมกัน โดยเริ่มจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งมาระดับหนึ่ง ได้เข้าไปใน “SM Mall” ซึ่งเป็น Facebook Group ของโรงเรียนสวนกุหลาบ เพื่อฝากโปรไฟล์ของตนเองในกลุ่ม จากนั้นพี่เบิร์ดทักกลับมาว่าทำธุรกิจแว่นตาอยู่ สนใจไหม ซึ่งตอนนั้นเขาไม่มีความรู้เรื่องแว่นตาเลย แต่พี่เบิร์ดบอกไม่เป็นไรจะสอนให้แถมใจดีให้สินค้ามาทดลองขาย แม้ในใจลึกๆ คิดว่าไม่น่าจะขายได้ เพราะการซื้อแว่นตาต้องลองเพื่อดูว่าเข้ากับใบหน้าไหม ใส่แล้วมองเห็นชัดหรือไม่

คุณศิรวิทย์ เกียรติวิทยาสกุล Chief Executive Officer หจก. อายสเปิท

แต่ด้วยความอยากขอลอง เขาจึงลองถ่ายรูปแว่นตาแล้วโพสต์ขายในเพจส่วนตัว ปรากฎว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเข้ามาสอบถามและสั่งซื้อแว่นตาเป็นจำนวนมาก จนตอบข้อความไม่ทัน ทำให้ยอดขายเดือนแรกไม่สูงมาก และต้องให้พี่เบิร์ดเข้ามาช่วยตอบ จากนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทั่ง 2 ปีต่อมา จึงตัดสินใจร่วมหุ้นกับพี่เบิร์ดเปิดร้าน iWear ขึ้นเมื่อปี 2561

“ผมกับพี่เบิร์ดนั่งคุยกันว่าตอนนี้เราไม่มีหน้าร้านยังขายได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งไม่เน้นการลองแว่น ขอแค่ขนาดได้ ดีไซน์ถูกใจ ราคาย่อมเยาว์ แล้วถ้าเรามีหน้าร้านยอดขายจะดีกว่านี้ไหม ทั้งยังมองว่าการวัดสายตาสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพการมอง ซึ่งเดิมทีถ้าลูกค้ารายไหนต้องวัดสายตา จะส่งมาตรวจที่แล็บของพี่เบิร์ดในย่านทาวน์อินทาวน์ ซึ่งเป็นแล็บผลิตเลนส์แว่นตาส่งให้กับร้านแว่นทั่วประเทศ ลูกค้าหลายคนพอเห็นว่าไกล ก็ไม่อยากมา ทำให้สูญเสียโอกาสหลายครั้ง จึงเกิดไอเดียที่จะเปิดร้านแว่นตาเพื่อให้ลูกค้าเข้ามารับบริการได้สะดวกมากขึ้น”

นอกจากข้อจำกัดเรื่องการวัดสายตา คุณชลธิศ พรพัฒน์กุล Board President หจก. อายสเปิท ให้ข้อมูลเสริมว่า การขายแว่นตาผ่านช่องทางออนไลน์มากว่า 2 ปี ยังพบข้อจำกัดอีกมาก โดยเฉพาะในแง่กลุ่มลูกค้า แม้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีค่าสายตาไม่มาก รู้ค่าสายตาตัวเองอยู่แล้ว และค่าสายตาไม่เปลี่ยนแปลงมาก รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการแค่แว่นที่ใส่แล้วทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น และราคาไม่สูงมาก แต่ต้องยอมรับว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก จึงทำให้จำต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

คุณชลธิศ พรพัฒน์กุล Board President หจก. อายสเปิท

ทำเลห้างดี แต่ค่าเช่าแพง หันเปิดร้านแว่นตาใน “ปั๊มน้ำมัน” ไปเลย 

เมื่อคิดจะทำธุรกิจร้านแว่นตาร่วมกัน พวกเขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจด้วยกัน จนตกผลึกว่าอยากจะทำร้านแว่นตาที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เพราะเชื่อว่าความต้องการแว่นตาในตลาดยังมีอีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีปัญหาด้านสายตามากขึ้นและส่วนใหญ่มักจะมีแว่นตาเพียงหนึ่งอัน โดยใส่ในทุกโอกาสไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ทำงาน ขับรถ เล่นกีฬา เพราะราคาแว่นตาค่อนข้างสูง เมื่อบวกกับประสบการณ์ของคุณชลธิศในการผลิตเลนส์แว่นตามานาน จึงมองว่า แว่นตาดีๆ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง และหนึ่งคนสามารถมีแว่นตาได้มากกว่าหนึ่งอัน จนเป็นที่มาในการตัดสินใจสร้างแบรนด์ iWear ขึ้น โดยมาจากคำว่า Eye Wear เพราะอยากให้เป็นแบรนด์ที่พูดง่าย ฟังง่าย จำง่าย และสื่อสารถึงการตัดแว่น

หลังจากได้แบรนด์ในการทำตลาดแล้ว ก็มาถึงวันที่ต้องหาทำเลเปิดร้าน ซึ่งค่อนข้างเป็นโจทย์หินพอสมควร เพราะร้านแว่นตา Chain Store ส่วนใหญ่ยึดทำเลในห้างสรรพสินค้า เมื่อออกนอกห้างก็มีร้านแว่นตาเปิดทุกหัวมุมถนน ซึ่ง คุณชลธิศ ยอมรับว่า จากประสบการณ์ขายส่งเลนส์แว่นตาให้กับร้านแว่นต่างๆ ห้างสรรพสินค้าเป็นทำเลที่ดีสามารถสร้างยอดขายได้ต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดแว่นมีขนาดใหญ่และเติบโตทุกปี เนื่องจากคนหนุ่มสาวสมัยนี้มีปัญหาสายตามากขึ้น ส่วนผู้สูงวัยก็เพิ่มปริมาณสูงขึ้น และใช้สายตาในการใช้งานโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

ถึงแม้ทำเลในห้างสรรพสินค้าจะสร้างยอดขายได้ดี แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยนี้เน้นความง่ายในการเข้ามารับบริการมากขึ้น ซึ่งคุณศิรวิทย์ บอกว่า การจะมาห้างต้องฝ่ารถติด เมื่อมาถึงต้องหาที่จอด และหลายครั้งมักสูญเงินไปกับการซื้อสินค้าอื่นๆ มากมาย ประกอบกับ Brand Positioning iWear คือ การเป็นร้านแว่นตาคุณภาพดี ในราคาไม่แพง ทำให้พวกเขาไม่ได้มุ่งเจาะทำเลในห้าง แต่เน้นทำเลที่ผู้บริโภคสามารถเข้ามาใช้บริการได้ง่ายและต้องมีที่จอดรถ ในที่สุดพวกเขาก็เลือก “ปั๊มน้ำมัน” เป็นทำเลเปิด iWear สาขาแรก เพราะตอบโจทย์ทั้งในเรื่องที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับห้าง แถมมีร้านอาหาร และ Traffic คนเข้ามาใช้บริการสูง แต่ขณะเดียวกันข้อจำกัดของการเปิดในปั๊มน้ำมันก็มี อยู่ที่พฤติกรรมส่วนใหญ่เมื่อเติมปั๊มน้ำมันไหนมักจะเติมปั๊มนั้นตลอด ทำให้สูญเสียโอกาสสำหรับปั้มน้ำมันที่ iWear ยังไม่มีสาขาเข้าไปถึง

“ตอนมาคุยกับเจ้าของพื้นที่ครั้งแรก เขาก็งงและถามว่าจะเปิดร้านแว่นในปั๊ม จะรอดหรือ ผมก็บอกว่าทำได้ ขอผมลอง ตอนนั้นเป็นความรู้สึกอยากลองทำอีกเช่นกัน เพราะด้วย “ข้อมูล” ที่ผมและพี่เบิร์ดมี ทำให้คิดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ รวมถึงพี่เบิร์ดมองว่าการทำธุรกิจต้องลองผิดลองถูก เหมือนตอนที่ลองขายแว่นตาผ่านออนไลน์โดยที่ไม่มีหน้าร้านก็สามารถขายได้”

สำหรับข้อมูลที่ว่าคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้ามาก ไม่ได้ยึดติดกับการใส่แว่นตาแบรนด์เนม แต่ต้องการแว่นตาคุณภาพดีในราคาไม่แพง เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และรู้จักเลือกใช้สินค้า รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ทรงตัวมาหลายปี จึงน่าจะเป็นโอกาสของ iWear ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งนับวันขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะแม้แต่ตัวเขาเองเป็นคนที่ชื่นชอบแว่นแบรนด์เนมยังมองหาแว่นคุณภาพดีในราคาไม่แพงเช่นกัน และจะเห็นได้จากแบรนด์ใหม่ๆ ที่เน้นเรื่องคุณภาพราคาไม่แพง สามารถแจ้งเกิดในตลาดได้รวดเร็ว

จุดเด่นของร้านแว่นตา iWear จึงอยู่ที่คุณภาพแว่นตาที่ดีในราคาไม่แพง และไม่ขายแว่นตาแบรนด์เนม โดยคุณภาพแว่นตาที่ดีไม่ได้หมายความแค่กรอบแว่นเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงกรอบ เลนส์ และดีไซน์ที่ดี มีความทนทาน ซึ่งทุกอย่างได้รับการพิสูจน์มาแล้ว เพราะถ้าคุณภาพไม่ดีจริง คงไม่สามารถขายได้มาจนถึงทุกวันนี้แน่ แต่ก็เผื่อใจไว้เหมือนกัน หากสาขาแรกทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ถือว่าทำให้ได้เรียนรู้และนำไปปรับปรุงต่อไป

แต่ปรากฎว่าการเปิดร้านแว่นตาในปั๊มน้ำมันสาขาแรกของหุ้นส่วนต่างวัยคู่นี้กลับประสบความสำเร็จ “เกินคาด” สามารถสร้างการรับรู้และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมาก ทั้งยังสามารถคืนทุนได้ทั้งหมดในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่ง และเป็นที่มาของการขยายสาขาที่ 2 จนปัจจุบันมีทั้งหมด 15 สาขา และตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 18 สาขาในสิ้นปี 2563 ซึ่งมีทั้งสาขาในปั๊มน้ำมัน คอมมูนิตี้มอลล์ หมู่บ้าน และห้างสรรพสินค้า

iWear ไม่ต้องมีสาขามาก แต่ขอเป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจ

แม้หลายคนจะมองว่าการเปิดร้านแว่นในปั๊มน้ำมันเป็นเรื่องแปลกใหม่และสร้างความแตกต่างจากร้านแว่นตาอื่นๆ จนโดนใจผู้บริโภค แต่คุณศิรวิทย์ กลับมองว่าความสำเร็จของ iWear ไม่ได้เกิดขึ้นจากจุดนี้ แต่เกิดจากการ “ตั้งราคา” ที่ไม่ได้สูงมาก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในปัจจุบันที่มองหาแว่นคุณภาพดีราคาถูก โดยราคากรอบแว่นต่ำสุดอยู่ที่ 690 บาท ไปจนถึงราคา 8,990 บาท บวกกับ ส่วนผสมของแบรนด์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่วันแรกในการเป็นร้านแว่นตาที่ดีที่ไม่แพงและมีสไตล์

ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับการบริการ เพราะปัญหาการมองมีหลากหลาย และแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน โดยนอกจากการมีเครื่องมือในการตรวจวัดสายตาที่ครบและมีคุณภาพแล้ว ยังอบรมบุคลากรในการตรวจวัดสายตาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรับประกันความพึงพอใจ สามารถแก้ไข และปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้แว่นตาที่ดีและเหมาะสม

“จากประสบการณ์ในการตัดแว่นที่เจอมาตลอด คนส่วนใหญ่จะกลัวตัดแว่นแล้วใส่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะทำยังไง โดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนร้านตัดใหม่ แต่การเปลี่ยนร้านตัดใหม่ ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าแล้วร้านนี้จะเวิร์คไหม จะแก้ปัญหาได้หรือเปล่า ซึ่งร้านของเราไม่ใช่ไม่มีปัญหาเลย แต่เราจะแก้ไขปัญหาเพื่อให้ลูกค้าได้แว่นตาที่ดีที่สุด”

จากวันแรกจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีในการปลุกปั้นแบรนด์ iWear คุณศิรวิทย์ บอกว่า ค่อนข้างพอใจอย่างมากเพราะการที่ลูกค้ามาอุดหนุนแล้วร้านยังอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้โดยไม่ขาดทุน ถือเป็นตัวชี้วัดในสิ่งที่แบรนด์ส่งมอบให้ลูกค้าว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจริงๆ โดยทิศทางการทำธุรกิจในระยะจากนี้ไป มีแผนจะขยายสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีเปิดที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว และกำลังจะเปิดที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงมีแผนจะขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์

“ตอนนี้เรามีการพัฒนาระบบแล้ว แต่พอพูดถึงแฟรนไชส์ สิ่งที่ผมห่วงคือ คุณภาพ ดังนั้น คนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ต้องเข้าใจและสามารถทำตามแบบของเราทั้งหมด รวมถึงมี Attitude ไปกับเราได้”

สำหรับความท้าทายของการทำธุรกิจร้านแว่นในปัจจุบัน คุณศิรวิทย์ มองว่า เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาสายตาให้กับลูกค้าได้จริงๆ เพราะลูกค้าหลายคนมาด้วยปัญหาที่เขามีไม่ถูกแก้ เนื่องจากค่าสายตาของคนเราไม่ได้มีแค่บวกกับลบ อีกทั้งอาการของแต่ละคนก็แตกต่างกัน การนำไปใช้งานก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่จะตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคนให้ได้จริงๆ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการมองเห็นคือการมองด้วยตา แต่จริงๆ แล้วตามีหน้าที่แค่รับภาพแล้วส่งไปที่สมอง ดังนั้นการที่เราจะใส่แว่นแล้วสบายตา การวัดสายตาและการทดลองแว่นตาจึงสำคัญมากเพื่อให้รับรู้ว่าสมองของแต่ละคนรับได้ขนาดไหน บางคนวัดสายตาเสร็จ ภาพอาจจะคมชัดแต่อาจจะใส่ไม่สบายตา ก็ต้องยอมปรับให้ดรอปลงเพื่อให้ใส่ได้สบายตา”

คุณชลธิศ บอกถึงความยากในการทำร้านแว่นให้ดีมีคุณภาพ พร้อมกับบอกว่า นอกจากเป้าหมายการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์แล้ว เขายังอยากจะเห็น iWear เติบโตไปไกลกว่านี้ นั่นคือ การเป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจของลูกค้า ซึ่งตอนนี้เขามองว่า แบรนด์ iWear สามารถเข้าไปเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้ากลุ่มหนึ่งแล้ว แต่ก็ต้องไม่หยุดนิ่งและเดินหน้าขยายการรับรู้แบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น

“ผมอยากเป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจของลูกค้ามากกว่าจะเป็นแบรนด์ที่มีจำนวนสาขามากที่สุด ถ้าคิดถึงร้านแว่นหรืออยากตัดแว่นอยากให้คิดถึง iWear รวมถึงลูกค้าต้องพึงพอใจหลังจากเข้ามาตัดแว่นกับเรา ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา และไม่ง่าย แต่ผมไม่กลัว ทำไปเรื่อยๆ เพราะ Positioning เราแตกต่างท่ามกลางตลาดที่มีความ Fragment และแข่งขันสูง ”

หุ้นส่วน “ต่างวัย” ไม่ใช่ปัญหา เติมเต็มธุรกิจให้ติดปีก

แม้ว่าการทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนจะมีข้อดีมากมายทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนไอเดีย เงินทุน รวมไปถึงคอนเน็คชั่น แต่เรามักได้ยินคำกล่าวที่หลายคนคุ้นเคยกันดีว่า การทำธุรกิจกับหุ้นส่วนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะเป็นเพื่อนสนิท หรือพี่น้องที่อยู่ในวัยใกล้กัน เพราะมีจำนวนไม่น้อยต้องแตกคอหลังเข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่คำกล่าวนี้คงไม่สามารถใช้ได้กับ คุณเบิร์ด และคุณอั้ม สองหุ้นส่วนที่มีอายุต่างกันถึง 29 ปี

2 หุ้นส่วนที่มีความต่างวัยถึง 29 ปี แต่เติมเต็มจุดอ่อนจนกลายเป็นจุดแข็งในธุรกิจร้านแว่นตาที่กำลังโตไม่หยุด

คุณศิรวิทย์ บอกว่า พี่เบิร์ดมีความเป็นวัยรุ่นมาก ติดตามและเปิดใจรับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาตัวเองให้ทันสมัยตลอดเวลา อีกทั้งวิธีคิดของเราสองคนมี Logic คล้ายกัน หลายสิ่งที่พี่เบิร์ดคิดและพูดออกมา ผมมักจะคิดเหมือนกัน เวลาคุยกันจึงไม่ค่อยมีปัญหาและน้อยมากที่ความเห็นจะไม่ตรงกัน แต่สำหรับผมด้วยความใหม่ในตลาดแว่น จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องแว่นตา

เราไม่แข่งกับแว่นตาแบรนด์เนม และร้านแว่นตาที่เป็น Chain Store เป็นเรื่องแรกที่เราเห็นไม่ตรงกัน เพราะตอนแรกผมอยากขายแบรนด์เนม เพราะก่อนหน้านี้ส่วนตัวเป็นคนเล่นแว่นแบรนด์เนมอยู่แล้ว แต่พี่เบิร์ดไม่อยากขายแบรนด์ เพราะเขาเชื่อว่าแว่นที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง และสุดท้ายพี่เบิร์ดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่พี่เขาคิดถูกต้อง”

ส่วนหุ้นส่วนวัยเก๋าอย่างคุณชลธิศ มองว่า เป็นการเสริมจุดแข็งของกันและกันจนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะสำหรับตัวเขาเองไม่ได้มีความรู้ในเรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เพียงแค่สนใจและเคยทดลองทำเพจเอง แต่ไม่ได้รับความสนใจ จนต้องพับโปรเจคเก็บใส่ลิ้นชัก ขณะที่อั้มมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ จึงสามารถนำมาเติมเต็มให้การทำธุรกิจแว่นตาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เวลาคุยกันพี่เบิร์ดจะทรีทเหมือนผมเป็นผู้ใหญ่ ผมก็จะเคารพเขาด้วยความที่เขาเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงการเคารพในบทบาทของความเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน ซึ่งการทำธุรกิจร่วมกับพี่เบิร์ด ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง พี่เบิร์ดสอนผมหลายเรื่อง โดนดุก็มี แต่ผมชอบ เพราะรู้สึกว่าการที่ใครสักคนหนึ่งดุแสดงว่าเค้ารัก กล้าที่จะบอกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ดีไม่ควรทำแบบนั้น” คุณศิรวิทย์ บอกถึงหัวใจของการทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนให้รอด

 


แชร์ :