HomeBrand Move !!ผ่าแนวคิดวิธีการทำงานของคน 2 เจนกับ “ตัน ภาสกรนที” และ “วริษา ภาสกรนที” ในวันที่พ่อต้องส่งมอบและลูกต้องรับไม้ต่อธุรกิจอสังหาฯ

ผ่าแนวคิดวิธีการทำงานของคน 2 เจนกับ “ตัน ภาสกรนที” และ “วริษา ภาสกรนที” ในวันที่พ่อต้องส่งมอบและลูกต้องรับไม้ต่อธุรกิจอสังหาฯ

แชร์ :


การสานต่อกิจการจากรุ่นสู่รุ่นนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายของธุรกิจครอบครัว เพราะผู้สร้างย่อมอยากเห็นธุรกิจเติบโตต่อไปอย่างมั่นคงแข็งแรง หลายธุรกิจครอบครัวจึงมักจะวางตัวทายาทที่ต้องเข้ามารับช่วงกิจการเพื่อให้เข้ามาเรียนรู้ธุรกิจจากผู้นำรุ่นปัจจุบันกันเนิ่นๆ แต่สิ่งนี้คงไม่สามารถใช้ได้กับ คุณตัน ภาสกรนที เพราะเขาต้องการให้ลูกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความผิดพลาดนอกธุรกิจครอบครัวให้แข็งแกร่ง นั่นจึงทำให้ในวันที่ คุณกิ๊ฟ-วริษา ภาสกรนที ทายาทคนโตตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เธอจึงสามารถนำบทเรียนจากการทำธุรกิจด้วยตนเองมาเป็นประสบการณ์ ผสานกับวิถีการทำธุรกิจของคนรุ่นพ่อได้อย่างลงตัว จนทำให้โครงการคอมมูนิตี้มอลล์มีเอกลักษณ์โดดเด่นและกลายเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่

และนี่คือบทสรุป ที่คุณตัน ภาสกรนที และคุณกิ๊ฟ-วริษา ภาสกรนที เล่าประสบการณ์การทำงานสไตล์ครอบครัว ไว้ใน งานสัมนาซึ่งจัดโดย เว็บไซต์ Brand Buffet ร่วมกับธนาคาร UOB ในหัวข้อเรื่อง ฮาวทู..Do Family Business ธุรกิจครอบครัวทำมั่วๆ ไม่ได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ฝึกให้เจ็บเล็กๆ เพื่อไม่ให้โดนมรสุมใหญ่ 

หลายคนที่อยู่ในแวดวงเครื่องดื่ม คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของ “คุณตัน ภาสกรนที” หรือคุณตัน เจ้าของอิชิตัน เจ้าพ่อชาเขียวที่มีหลักคิดธุรกิจไม่เหมือนใคร จนสามารถแจ้งเกิดและโด่งดังมาจนทุกวันนี้ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า นอกจากธุรกิจชาเขียวแล้ว เขายังมีธุรกิจ อาหาร และ อสังหาริมทรัพย์ ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างไม่แพ้ธุรกิจชาเขียวเช่นกัน

“หลายปีที่ผ่านมาเรามีแลนด์แบงก์สะสมไว้บ้าง เพราะพื้นฐานเป็นคนชอบพัฒนาที่ดินเพราะเชื่อว่าเมื่อพัฒนาแล้วจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการนำที่ดินที่สะสมไว้มาลงทุนพัฒนาด้วยตนเองทั้งในรูปแบบโรงแรม ออฟฟิศบิวดิ้ง คอมมูนิตี้มอลล์ และตลาดนัด โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 6 แห่ง คือ โรงแรมวิลล่า มาร็อค ปราณบุรี, คอมมูนิตี้ วัน นิมมาน, อาคารสำนักงาน T-One, ตลาดกล้วยกล้วย และตลาดนัดนินจาอมตะ”

แม้คุณตันจะมีธุรกิจมากมาย แต่ทายาทคนโตของคุณตันกลับเลือกเข้ามาสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว โดยคุณวริษา บอกว่า คุณพ่อไม่ได้เลี้ยงลูกแบบบังคับให้ทุกคนต้องมารับช่วงต่อธุรกิจ เพราะอยากให้เป็นลูกจ้างเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดก่อน ทำให้ที่ผ่านมาจึงได้ลองทำทุกอย่าง เริ่มจากแผนกการตลาด ติดตามคุณพ่อไปพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่คุณพ่อจะโยนเงินหลักสิบล้านบาทมาให้ไปทำกิจการของตัวเองเป็นครั้งแรก

โดยตอนนั้นเลือกที่จะทำธุรกิจร้านอาหารอิตาเลียน จากคำแนะนำของเชฟ พร้อมกับเชื่อว่าไม่มีทาง “เจ๊ง” เพราะประสบการณ์ที่เห็นคุณพ่อทำธุรกิจร้านอาหารจนประสบความสำเร็จมาตลอด จึงเชื่อว่าคุณพ่อต้องเข้ามาช่วยแน่นอน แต่เมื่อถึงเวลาลงมือทำธุรกิจจริง คุณพ่อไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะต้องการให้ได้ประสบการณ์จริง อีกทั้งบางอย่างอธิบายตอนนั้นก็อาจไม่ฟัง จึงต้องให้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง จนในที่สุดธุรกิจก็ประสบปัญหาและต้องปิดตัวลง

“ตอนนั้นเจ็บจนน่วมไปเลย โดยพ่อบอกว่าความล้มเหลวสำคัญมาก เขาไม่อยากให้เริ่มต้นธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จเพราะจะทำให้เรารู้สึกคึกคะนองและมีความมั่นใจแบบไร้สติ จนเกิดการลงทุนมากกว่านี้และเจ็บมากกว่านี้” คุณกิ๊ฟท์เล่าประสบการณ์

นอกจากนี้ บทเรียนสำคัญอีกประการที่คุณพ่อถ่ายทอกออกมาก็คือ “รายละเอียด” กับคำกล่าวที่ว่า God is in the DeTAILS ยิ่งในธุรกิจอาหารที่ทุกขั้นตอนการเลือกซื้อวัตถุดิบ ขั้นตอนและปริมาณหารปรุง ล้วนแล้วแต่มีผลต่อกำไร-ขาดทุน และความพึงพอใจของลูกค้าทั้งสิ้น

ลุยธุรกิจครอบครัวจากโปรเจ็คเล็กๆ

หลังผ่านความล้มเหลวครั้งแรกมาแล้ว คุณวริษาก็ตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว เพราะส่วนตัวชื่นชอบงานด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งบทเรียนจากการทำธุรกิจร้านอาหารทำให้มีประสบการณ์ในการก้าวเดินอย่างระมัดระวังมากขึ้น และทำให้ในครั้งนี้เธอจึงเลือกทำจากโปรเจคเล็กๆ มูลค่าไม่สูงก่อน

“ค่อนข้างโชคดีเพราะมีโปรเจ็คหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเราเป็นคนชอบเชียงใหม่อยู่แล้วและรู้สึกว่าโปรเจ็คนี้ตรงกับนิสัยของเราด้วย จึงเข้าไปบอกคุณพ่อว่าร้านที่วัน นิมมานอยากให้เป็นคอนเซ็ปท์แบบนี้ ซึ่งเขาโอเค จากนั้นก็ให้ทางเอเจนซี่ช่วยครีเอต แต่เอเยนซี่มองว่าร้านค่อนข้างติสต์อาจทำให้เข้าถึงคนยาก แต่เรามั่นใจในคอนเซ็ปท์ว่าเหมาะกับโปรเจ็ค คุณพ่อก็เลยบอกให้ไปลองขายดู ปรากฎว่าวันแรกที่ไปหาลูกค้าโดนลูกค้าปฏิเสธกลับมา เดินร้องไห้กลับมาตลอดทาง คุณพ่อก็บอกให้กลับไปใหม่จนถึงวันที่ลูกค้าเห็นความตั้งใจและขายได้” คุณวริษา เล่าให้ฟังถึงการทำงานอสังหาริมทรัพย์โปรเจ็คแรกและเป็นจุดเปลี่ยนในการเข้ามาทำธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัวในวันนี้

ในขณะที่คุณตันก็มั่นใจในฝีมือของลูกสาวมากขึ้นเช่นกัน โดยเขาบอกว่า ด้วยความที่กิ๊ฟเรียนจบมาทางด้านการออกแบบ จึงมีพรสวรรค์ด้านนี้ ประกอบกับการได้เดินทางท่องเที่ยวบ่อย ทำให้เห็นงานมากมาย ทั้งยังมีความเข้าใจความต้องการของวัยรุ่น จึงสามารถออกแบบโครงการได้แตกต่างในคอนเซ็ปท์อิตาเลียนล้านนา จนถูกใจวัยรุ่นอย่างมาก การันตีด้วยโปรเจ็คก่อนหน้านี้ที่คุณกิ๊ฟท์เคยดูแลการตกแต่งโรงแรมวิลล่า มาร็อค ที่ปราณบุรี มาแล้ว

หลายคนอาจคิดว่า การเป็นทายาทของเจ้าพ่อชาเขียว คงทำให้เส้นทางการสืบทอดธุรกิจของเธอโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เธอบอกว่า ทุกอย่างต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่การลงไปคุยกับผู้เช่า ไปจนถึงออกแบบ และก่อสร้าง ซึ่งทุกส่วนต้องอาศัยการสร้างความเชื่อมั่นอย่างมากไม่เว้นแม้แต่กับคุณพ่อ

โดยเคล็ดลับที่เธอนำมาใช้ก็คือ “ไม่ได้มองธุรกิจครอบครัวคือคุณพ่อ แต่ให้มองคุณพ่อเป็นนาย” ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องวางแผนการนำเสนอและอธิบายให้เขาเข้าใจและคิดว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นดีที่สุด

ขณะเดียวกัน คุณตัน ก็ยอมรับว่า ด้วยความที่ลูกๆ เป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะมีมุมมองธุรกิจสมัยใหม่มากกว่าเขา ทำให้หลายครั้งมักจะมีความคิดเห็นต่างกันบ้าง จึงต้องมีการอธิบายเหตุผลให้เกิดการยอมรับในความคิดของกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้มุมมองธุรกิจจากคนรุ่นใหม่มากมาย ขณะที่คุณวริษา ก็ได้มุมมองและเรียนรู้วิธีคิดในการเลือกธุรกิจที่ไม่ค่อยเหมือนใครของคุณพ่อเช่นกัน

“การที่เรานั่งคุยกันบนโต๊ะอาหารหรือทำงานด้วยกันทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองหลายอย่างจากเขา ทุกการตัดสินใจที่เราคิดว่าดีแล้ว แต่หลายครั้งที่คุณพ่อทำ เมื่อผลออกมาก็ดีจริงๆ เราก็ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโปรเจ็คต่อไป ซึ่งเราค่อนข้างโลคดีเพราะคุณพ่อเปิดกว้างไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องสร้างกำไรเท่าไหร่ แต่เน้นสร้างความเจริญ และความพอใจให้กับลูกค้าเป็นหลัก” คุณวริษา บอกถึงโจทย์ท้าทายที่เธอต้องเข้ามาสานต่อนับจากนี้

แนะทุกธุรกิจปรับตัวรับมือโควิด

คุณตัน ถือเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ผ่านสถานการณ์วิกฤตต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วน แต่สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ เขาถึงกับบอกว่า เมื่อนำวิกฤตที่เขาผ่านมาทั้งหมดรวมกันยังไม่เท่ากับโควิด-19 เพราะส่งผลกระทบไปทั่วโลกและทุกระดับชั้น ซึ่งธุรกิจโรงแรมและตลาดนัดของเขาได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะต้องปิดให้บริการ ส่วนอิชิตันอาจไม่ได้กระทบเท่ากับสองธุรกิจแรก เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดพอดี และผู้บริโภคให้การตอบรับอย่างดี

“ธุรกิจเสียหายพอสมควรแต่เรายังพออยู่ได้ ยอดขายอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายและหาผลิตภัณฑ์ใหม่มาเสริม ดังนั้น ในวิกฤติจึงยังมีโอกาสอยู่เสมอ”

แต่สำหรับคุณวริษาที่เพิ่งก้าวขึ้นมารับช่วงต่อกิจการอย่างเต็มตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นี่ถือเป็นวิกฤตแรกของเธอ ซึ่งเธอมองว่า ถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในวิกฤต จึงทำให้องค์กรต้องปรับตัว รัดเข็มขัดมากขึ้น รวมถึงทีมงานอาจจะต้องเล็กลงทำงานให้ตรงจุดโฟกัสให้มากขึ้นด้วย

“เวลาไม่มีโควิดเราอาจจะมองไม่เห็นปัญหา พอโควิดมาทำให้เราเห็นหลายอย่าง หลายสิ่งที่เราเคยคิดเคยทำสมัยก่อน อาจจะไม่ถูกในครั้งนี้ วิกฤตยังสอนให้เราเรียนรู้ว่าเงินสดสำคัญมาก และไม่ควรทำอะไรเกินตัว ถ้าทำเกินตัว ผมตายแน่ เหมือนเมื่อปี 2540 แม้ผมจะยังมีหนี้อยู่แต่ยังมีสัดส่วนเงินสดอยู่ รวมถึงทำให้รู้ว่าการทำธุรกิจไม่มั่นคง การบริหารความเสี่ยงจึงสำคัญ”

คุณตัน บอกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนโควิด และในฐานะผู้ประกอบการที่แทบจะคลุกคลีกับผู้บริโภคทุกกลุ่มทุกตลาด เขาแนะการปรับตัวให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า สำหรับพ่อค้าแม่ค้าควรมีนิสัยออมเงินมากกว่าเดิมอีก 2-3 เท่า ส่วนกลุ่มบริษัทต้องมองหารายได้อื่นๆ มาเสริม ไม่ได้มองแต่ธุรกิจเดิมๆ ผลิตภัณฑ์เดิมๆ ขณะที่คนทำงาน ต้องพยายามมีรายได้หลายทางมากขึ้น ส่วนธุรกิจใหญ่ ทำใหญ่ได้แต่ต้องไม่ลงทุนเกินตัว

ฟังคลิปเต็มๆ

เว็บไซต์ BrandBuffet ขอขอบคุณ ธนาคารยูโอบี ที่เห็นความสำคัญของ “ธุรกิจครอบครัวไทย”


แชร์ :

You may also like