HomeBrand Move !!เกาหลี-ฝรั่งหรือจะสู้จีน WeTV เปิดตัวปีแรกขอเป็น Top3 ของแพลตฟอร์ม OTT ไทย ตั้งเป้าผลิตคอนเทนต์น้ำดีป้อนตลาดจีน

เกาหลี-ฝรั่งหรือจะสู้จีน WeTV เปิดตัวปีแรกขอเป็น Top3 ของแพลตฟอร์ม OTT ไทย ตั้งเป้าผลิตคอนเทนต์น้ำดีป้อนตลาดจีน

แชร์ :

ปักหมุดตลาดคอนเทนต์ไทยอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ Tencent กับการเปิดตัวแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง “WeTV” ที่ทางค่ายระบุว่าเป็นการบุกตลาดเอนเตอร์เทนเมนต์นอกเมืองจีนครั้งแรก โดยความน่าสนใจก็คือ แม้จะเปิดตัวในช่วงกลางปี แต่ทีมบริหารก็หมายมั่นปั้นมือ ตั้งเป้าขอเป็น Top3 ของแพลตฟอร์ม OTT ไทยในปีนี้กันเลยทีเดียว (วัดเฉพาะตัวเลข Paid Subscriber) ส่วนในปีหน้า WeTV ก็มีแผนจะผลิต Original Content สำหรับตลาดไทยไตรมาสละ 2 เรื่อง รวมถึงจะมีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ส่วนสาเหตุที่เลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกของการบุกตลาดนอกจีนแผ่นดินใหญ่นั้น คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ Tencent ประเทศไทย เผยว่า เป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มากติดอันดับโลกกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน และเป็นการดูวิดีโอ หรือทีวีออนไลน์มากกว่า 35% ของเวลาทั้งหมด

จากพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้บริการของ WeTV มีโอกาสสูงที่จะช่วงชิงผู้บริโภคจากตลาดที่มีการเติบโตในลักษณะนี้

โดย Tencent ยังพบอีกด้วยว่า คอนเทนต์ที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุดนั้น มี 3 กลุ่ม ได้แก่ ซีรีย์รักโรแมนติกคอมเมดี้, ซีรีย์ดราม่าย้อนยุค และซีรีย์แอคชั่นแฟนตาซี สะท้อนได้จากพาร์ทเนอร์ที่ WeTV จับมือในช่วงเริ่มต้น ซึ่งประกอบด้วย ช่อง One31, ค่าย GDH (เจ้าของลิขสิทธิ์ฉลาดเกมส์โกง – Bad Genius คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในจีนแผ่นดินใหญ่)

ส่วนอีกค่ายคือ Insight Technology ในฐานะผู้นำคอนเทนต์ไทยไปฉายที่จีน ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่ดูแลละครไทยที่อยู่ระหว่างการผลิตหลายเรื่อง เช่น เล่ห์เกมรัก, ฉลาดเกมส์โกง เป็นต้น

ใครคือกลุ่มเป้าหมายของ WeTV

หลังจากที่ได้ Soft Launch ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Tencent ประเทศไทยเผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม WeTV มากที่สุดคือกลุ่มที่ชื่นชอบคอนเทนต์จากจีน โดยมีอายุระหว่าง 18 – 34 ปี หลัก ๆ เป็นเพศหญิงถึง 85% และใช้เวลาบนแพลตฟอร์มเฉลี่ย 84 นาทีต่อวัน

จากกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ฟีเจอร์ที่ Tencent มองว่าจะตอบโจทย์พฤติกรรมชาวไทยได้มากขึ้น ก็คือการเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับรายการ เช่น การคอมเม้นท์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งนอกจากจะทำให้รายการน่าสนใจมากขึ้นแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังทำให้ตัว Tencent และแบรนด์สินค้าสามารถใช้ฟีเจอร์นี้เข้าถึงผู้ชมได้ด้วย (ดังภาพ)

ฟีเจอร์ของ WeTV ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ (สามารถปิดได้หากต้องการดูแต่ละคร)

คอนเทนต์แบบไหนที่อยู่บน WeTV

ผู้บริหาร Tencent ประเทศไทย เปิดเผยว่า คอนเทนต์ที่อยู่บน WeTV นั้น หลัก ๆ มีสองกลุ่ม นั่นคือคอนเทนต์ของแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นระดับ A Class และ S Class กับคอนเทนต์ที่จะผลิตขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนไทย โดยในกลุ่มหลัง มีโอกาสที่จะไปฉายต่อที่ตลาดจีนได้หากเข้าเกณฑ์พิจารณาของทางประเทศ ที่ระบุว่า ต้องเป็นคอนเทนต์น้ำดี ไม่มีเรื่องผี หรือไม่มีภาพโป๊

หรือหากแยกประเภทคอนเทนต์จากที่มาแล้ว พบว่ามาจาก Tencent Penquin Pictures คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของคอนเทนต์ทั้งหมด และยังมีคอนเทนต์จากประเทศไทย (20%) เกาหลีใต้ (10%) สหรัฐอเมริกา (5%) และอื่น ๆ (5%) ด้วย ส่วนรูปแบบรายการพบว่ามีทั้งซีรีย์ รายการวาไรตี้ อนิเมะ สารคดี ฯลฯ ไม่ต่างจากแพลตฟอร์ม OTT อื่น ๆ

การจับมือกับพาร์ทเนอร์ไทย เช่น GDH ยังทำให้ WeTV ได้รับสิทธิ์ฉายซีรีย์ยอดนิยม “ฉลาดเกมส์โกง” บนแพลตฟอร์ม โดยปัจจุบันละครชุดดังกล่าวอยู่ระหว่างการเขียนบท และมีกำหนดจะเปิดกล้องในต้นเดือนหน้านี้

หรือกรณีการจับมือกับช่อง One31 ทาง WeTV ก็ได้สิทธิ์เผยแพร่คอนเทนต์ละครของช่องแบบ Exclusive Rerun ด้วยเช่นกัน (โดยละครช่อง One31 แบ่งออกเป็น 3 ช่วง นั่นคือ ช่วง 19.00 น., 20.00 น. และ 21.00 น. ซึ่งสิทธิที่ WeTV ได้คือช่วง 19.00 และ 20.00 น.)

ตี๋รี่เลอปา ดารานักแสดงยอดนิยม

ขอใช้โมเดล Freemium

โมเดลธุรกิจของ WeTV ทางคุณกฤตธีมองว่า Freemium น่าจะเหมาะสมที่สุด พร้อมให้เหตุผลว่า มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่ยอมจ่ายให้กับการรับชมซีรีย์ มากกว่าจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง 

“เราโฟกัสที่จำนวนคนดูมากกว่ารายได้ที่จะเข้ามาในปีแรก ๆ ดังนั้น เรามองว่า freemium น่าจะเหมาะสมที่สุด”

และเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขของจีนก็พบว่า Tencent Video ก็ใช้โมเดลดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่เป็นสเกลที่ใหญ่กว่ามาก นั่นคือมีผู้ใช้งานรายเดือนเฉลี่ย 550 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 89 ล้านคน หรือประมาณ 16% ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนต์แบบไม่ต้องมีโฆษณา

โดยในส่วนของการคิดค่าบริการหรือที่ Tencent เรียกว่ากลุ่ม VIP นั้น จะอยู่ที่ 139 บาทต่อเดือน และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

เปิดกว้างพาร์ทเนอร์ แม้เป็น OTT ด้วยกันก็ไม่เกี่ยง

การมาถึงของ WeTV ในมุมของคุณกฤตธียังมองว่า ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลของแพลตฟอร์ม OTT เจ้าอื่นในไทย เนื่องจากสามารถจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กันได้ทั้งหมด

“เราเปิดโอกาสในการเป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศไทย แม้จะเป็นแพลตฟอร์มด้วยกันเองก็รับ คือต้องบอกว่า ตลาดสตรีมมิ่งไทยยังไม่ใช่ Red Ocean ยังเป็น Blue Ocean อยู่ คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน และดูทีวีออนไลน์ราว 1 ใน 3 ของเวลา ซึ่งถือว่ายังน้อย เท่ากับว่าเรายังมีโอกาสอีกเยอะมากที่จะเจาะตลาดนี้”

ในอีกด้านสิ่งที่พาร์ทเนอร์จะได้จากการจับมือกับ WeTV คือ โอกาสในการบุกตลาดคอนเทนต์ที่มีผู้ชมหลายร้อยล้านคนในประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่ทราบกันดีว่า การส่งคอนเทนต์ไปบุกตลาดจีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจีนจะมีโควต้าในการเปิดรับคอนเทนต์จากต่างประเทศ ไม่ใช่เปิดรับทุกอย่างเข้าไปได้หมด

หยางหยาง กับคอนเทนต์เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟน ๆ ชาวไทย

จุดท้าทายผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย อย่าจำกัดตัวเองแค่ในประเทศ

จากภาพรวมของการแข่งขันในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งที่นำโดยแพลตฟอร์มต่างชาติทำให้เรามองเห็นอย่างหนึ่งว่า หน้าบ้านของผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยมีทั้งโอกาสและความท้าทายมาเคาะประตูอยู่พร้อม ๆ กัน เหตุที่บอกว่าเป็นโอกาสเพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้าเก่าอย่าง YouTube, LINE TV, Netflix หรือเจ้าใหม่อย่าง Facebook Watch และ WeTV ทุกคนต่างหาทางสร้างความแตกต่าง เพื่อดึงผู้ใช้งานจากการรับชมรายการในแบบดั้งเดิมไปอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตกันทั้งสิ้น ซึ่งทุกวันนี้ก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตอบรับ และเดินหน้าเข้าหาแพลตฟอร์มเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่น่าสังเกตก็คือ แม้ทุกเจ้าที่กล่าวมาจะมีนโยบายผลิต Original Content และมองหาพาร์ทเนอร์ที่สามารถผลิตคอนเทนต์คุณภาพเพื่อนำไปบรรจุอยู่บนแพลตฟอร์มได้ก็ตาม แต่หากไล่เรียงดู จะพบว่าไม่ใช่คอนเทนต์ไทยทุกรายจะไปปรากฏตัวอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านั้นได้ เนื่องจากคุณภาพคอนเทนต์ไม่เข้ากับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

การบุกของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านสตรีมมิ่งในวันที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยกลาย ๆ ว่า ละครสายหน้าวอก กรี๊ดกร๊าดจิกตา หรือตัวร้ายกร้านโลกแบบไร้ที่มาที่ไป อาจเหลือพื้นที่ให้ยืนได้อีกไม่มากนักในโลกการแข่งขันแบบใหม่ ส่วนในมุมของผู้บริโภค ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง เราอาจต้องขอบคุณแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เหล่านั้น ที่มาทำหน้าที่แทนหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับคอนเทนต์ไทยก็เป็นได้


แชร์ :

You may also like