HomeInsightไม่ใช่แค่ความเชื่อ เมื่อคนไทยเกินครึ่งใช้ชีวิตแบบ Cashless ได้ทั้งวัน และมีถึง 45% ที่อยู่แบบไม่ใช้เงินสดเลยถึง 3 วัน   

ไม่ใช่แค่ความเชื่อ เมื่อคนไทยเกินครึ่งใช้ชีวิตแบบ Cashless ได้ทั้งวัน และมีถึง 45% ที่อยู่แบบไม่ใช้เงินสดเลยถึง 3 วัน   

แชร์ :

แม้เงินสดจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการจับจ่ายหลักๆ ของคนไทยถึง 92% แต่เริ่มเห็นรูปแบบในการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายและในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก ความพร้อมของไทยที่จัดเป็นประเทศในกลุ่ม​ Tier 1 ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเหมาะสำหรับการเติบโตของ e-Payment Industry ด้วยหลากหลายปัจจัยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความพร้อมของระบบพื้นฐานที่จำเป็น หรือในส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก แม้ว่าจะไม่มีเงินสดติดตัวเลยก็ตาม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ความเชื่อนี้สะท้อนผ่านผลจากการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Survey 2018) ซึ่งทำการศึกษาต่อเนื่องมากว่า 5 ปีแล้ว เพื่อทำความเข้าใจถึงทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นการเฝ้ามองแนวโน้มรวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวมากกว่าแค่การเก็บข้อมูลในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น

สำหรับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า จัดทำโดย Intuit Research ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา จากการศึกษาผู้บริโภคใน 8 ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานจากประเทศไทย จำนวน 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ครอบคลุมในทุกระดับการศึกษาและมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาท เป็นต้นไป

การศึกษาครั้งนี้พบว่า 57% ของคนไทยนิยมทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบ e-Payment ซึ่งใกล้เคียงและมีปริมาณมากกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการทำธุรกรรมผ่านเงินสด โดยการจ่ายผ่าน e-Payment ที่คนไทยนิยม มีทั้งผ่านบัตรเดบิต /เครดิต แอปพลิเคชันการชำระเงินบนสมาร์ทโฟน และคิวอาร์โค้ด ขณะที่อีก 43% ยังนิยมใช้เงินสด

แต่สิ่งท่ีเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ จำนวนคนที่พกเงินสดน้อยลงในปีนี้ มีปริมาณสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยคนไทยถึง 2 ใน 5 ​หรือ 42% เริ่มพกเงินสดน้อยลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา จากตัวเลขในปีก่อนหน้าคนที่พกเงินสดน้อยลงอยู่ที่ราวๆ 26% ​รวมทั้งหากศึกษาลึกลงไปจะพบว่า คนไทย 4 ใน 5 หรือราว 78% มีความพยายามที่จะใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด (Cashless) เพิ่มมากขึ้น​ และเลือกที่จะชำระค่าบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2560 ที่มีสัดส่วน  51%

คุณสุริพงษ์​ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของประเทศไทยจะพบว่า อยู่ในสภาพท่ีเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ e-Payment ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรที่ขยายตัวจนเกือบแตะ 70 ล้านคน การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรในสัดส่วน 82% การถือครองสมาร์ทโฟน 133% นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยแต่ละคนมีมือถือกันมากกว่าคนละเครื่อง รวมทั้ง 71% ที่มีการใช้งานโซเชียลเน็ตเ​วิร์ก และอัตราการถือครองสมุดบัญชีเงินฝากอยู่ท่ี 83% เป็นต้น

ประเทศไทยค่อนข้างพร้อมสำหรับการขยายตัวของธุรกิจ e-Payment ทำให้เห็นการพัฒนาทั้ง Form & Function ของการชำระเงินที่หลากหลาย และมุมมองที่ดีต่อการใช้จ่ายผ่าน e-Payment มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความสะดวกซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคจะใช้ในการตัดสินใจว่าจะจ่ายด้วยเงินสดหรือเป็นแบบ Cashless ซึ่งในมิตินี้ในมุมมองของผู้บริโภคไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก​ ไม่ว่าจะจ่ายด้วย Cash หรือ Credit Card แต่สิ่งที่การจ่ายแบบ Cashless มีเหนือกว่าคือ การบันทึกข้อมูลในการใช้จ่ายแต่ละรายการ รวมทั้งการได้สิทธิประโยชน์จากผู้ให้บริการที่ต้องการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรของตัวเอง” 

ไม่ต้องใช้เงินสด ก็อยู่ได้

เหตุผลที่ทำให้คนไทยเริ่มพกเงินสดน้อยลง สาเหตุสำคัญมาจากการคำนึงเรื่องความปลอดภัย 65% ความหลากหลายของระบบต่างๆ ในการชำระผ่านดิจิทัลที่มีมากขึ้น 65% และความไม่สะดวกในบางกรณีสำหรับการใช้เงินสด 39%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะในส่วนของผู้บริโภคที่พยายามใช้ชีวิตในรูปแบบ Cashless มากขึ้น จะพบว่า ผู้บริโภค 40% สามารถใช้ชีวิตใน 1 วันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสดเลย ขณะที่ 27% สามารถอยู่ได้ 2-3 วัน 16% อยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ 7% อยู่ได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน และมีถึง 10% ที่อยู่ได้นานกว่า 1 เดือนขึ้นไป

ในส่วนของความมั่นใจของผู้บริโภคคนไทย ที่คาดว่าจะสามารถใช้ชีิวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสดนั้น ในแต่ละ Level มีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อเทียบกับตัวเลขในปีก่อนหน้า โดยมีถึง 45% ที่เชื่อมั่นว่าจะอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินสดถึง 3 วัน 35% เชื่อมั่นว่าจะอยู่ได้ราว 1 สัปดาห์ 34% คาดว่าจะอยู่ได้ราว 1 เดือน และมีถึง 30% ที่คาดว่าจะอยู่ได้นานมากกว่า 1 เดือน โดยเฉพาะตัวเลขในกลุ่มที่คาดว่าจะอยู่ได้เกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเป็นเท่าตัวในทุกระดับ 

เหตุผลที่คนไทยเชื่อมั่นว่าจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจาก เริ่มมองเห็นแนวโน้ม​การชำระเงินแบบ e-Payment ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น​ รวมทั้งจะเริ่มขยายไปในหลากหลายอุตสาหกรรม ที่ไม่เพียงแค่การช้อปปิ้งออนไลน์ หรือจำกัดการใช้จ่ายได้เพียงแค่ในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่จะกระจายไปสู่การใช้จ่ายในธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ใช้ชำระค่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ใช้ในการเดินทางสาธารณะทั้งแบบ Mass Transit หรือ On Demand Service ต่างๆ รวมทั้งร้านขายของชำดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า Mom & Pop Store รวมทั้งร้านค้ารายย่อยของผู้ประกอบการต่างๆ ที่แม้จะยังมีจำนวนไม่มาก แต่ผู้บริโภคเริ่มรับรู้ว่าสามารถจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้และเชื่อว่าในอนาคตจะมีจำนวนการชำระด้วย e-Payment ในจำนวนที่มากขึ้นในทุกๆ ธุรกิจ ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เริ่มมีผู้ให้บริการพัฒนาให้มีความหลากหลายสำหรับการใช้จ่ายได้มากขึ้นทั้ง QR Code, Credit Card หรือ Contactless

“การที่คนไทยหันมาชำระเงินผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้น เนื่องจาก มองเห็นข้อดีทั้งในเรื่องของความปลอดภัยที่พัฒนามากขึ้น ความสะดวกที่สามารถชำระได้สะดวกในทุกเวลาที่ต้องการ และไม่จำเป็นต้องไปต่อคิวตามจุดรับชำระต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการควบคุมค่าใช้ได้ตามต้องการ ประกอบกับเทคโนโลยีการชำระเงินที่มีหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับมีร้านค้าที่รับชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถชำระเงินด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลาย อาทิ สมาร์ทโฟนแอปพลิเคชัน อุปกรณ์สวมใส่ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยสำหรับร้านค้าที่เคยรับแต่เงินสดเพียงอย่างเดียว ยังมีคิวอาร์โค้ดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการรับชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และคุ้มค่า”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่หลากหลายของ e-Payment Industry ยังส่งผลให้คนไทยกว่า 1 ใน 3  เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต ภายใน 3 ปี เพิ่มขี้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 11% เท่านั้น  ส่วน 39% เชื่อว่าจะใช้เวลา 4-7 ปี และมี 6%  ที่คาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี

 


แชร์ :

You may also like