HomeBRAND HERITAGEถอดบทเรียนการปรับตัวจนทำให้ #พี่อยู่มาทุกยุค ของคุณป้า “บาร์บี้” เนื่องในวันเกิดครบ 60 ปีของเธอ

ถอดบทเรียนการปรับตัวจนทำให้ #พี่อยู่มาทุกยุค ของคุณป้า “บาร์บี้” เนื่องในวันเกิดครบ 60 ปีของเธอ

แชร์ :

มีของเล่นไม่กี่ชนิดที่เคยเป็นของเล่นของคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ และยังได้รับความนิยมมายาวนานจนสามารถยึดชั้นวางของเล่นของเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันได้อยู่ หนึ่งในนั้นคือ “ตุ๊กตาบาร์บี้” จากค่าย Mattel ที่จะมีอายุครบ 60 ปีในวันที่ 9 มีนาคม 2019 นี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ต้นกำเนิด “บาร์บี้”
โดยทาง Mattel เปิดตัวบาร์บี้ครั้งแรกในงาน American International Toy Fair ที่นิวยอร์กเมื่อปี 1959 (พ.ศ. 2502) ในราคา 3 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 95 บาท ส่วนชื่อและภาพลักษณ์ของบาร์บี้นั้น Ruth Handler ผู้ร่วมก่อตั้ง Mattel เป็นคนตั้งชื่อให้ โดยอิงตามชื่อลูกสาวของเธอ (Barbara) ส่วนชื่อของเคน (Ken) แฟนของบาร์บี้ ก็ตั้งตามชื่อลูกชาย (Kenneth) ของ Ruth เช่นกัน

แต่กว่าจะกลายเป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงผมบลอนด์ที่โด่งดังยาวนาน 60 ปี อาจกล่าวได้ว่าชีวิตบาร์บี้เริ่มต้นจากคดีความ โดย Ruth Handler ผู้สร้างบาร์บี้ยอมรับว่าเดินทางไปในยุโรป และพบตุ๊กตา Bild Lilli เข้า (Bild Lilli เป็นตุ๊กตาที่ผลิตโดย Louis Marx and Company เพื่อเลียนแบบสาวขายบริการทางโทรศัพท์ และวางจำหน่ายในร้านขายของเล่นสำหรับผู้ใหญ่) Bild Lilli จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาบาร์บี้ให้กับทาง Mattel ในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อบริษัทผู้ผลิต Bild Lilli ในเยอรมนีทราบก็ได้ยื่นฟ้องร้อง Mattel ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ และมีรายงานว่า ทาง Mattel จบคดีนี้ด้วยการจ่ายเงิน 21,600 เหรียญสหรัฐเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวจาก Louis Marx and Company

เท่านั้นยังไม่พอ ในการเปิดตัวบาร์บี้เวอร์ชันแรก ก็ไม่เป็นที่พอใจของผู้ปกครองมากนัก เนื่องจากสายตาของตุ๊กตาจะมองไปด้านข้างตลอด ซึ่งไม่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กผู้หญิงได้ ทางบริษัทจึงมีการปรับสายตาให้มองตรงไปข้างหน้า รวมถึงไม่ทำให้หน้าอกของบาร์บี้ใหญ่จนเกินไปด้วย

เปลี่ยนแนวคิดบาร์บี้ สร้างภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม – แคร์สังคม

นอกจากปรับบุคลิกภาพแล้ว เส้นทางของบาร์บี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนอีกหลายอย่าง เพื่อให้เด็กๆ เล่นบาร์บี้ได้อย่างสบายใจ ยกตัวอย่างเช่น จากที่เคยวางโพสิชันไว้ที่การเป็นเด็กสาวผู้สมบูรณ์แบบ หรือเด็กสาวที่ใครๆ ต่างอิจฉา Mattel เริ่มส่งบาร์บี้ในรูปลักษณ์ และอาชีพต่างๆ ออกมามากขึ้น เพื่อหวังให้ตุ๊กตาดังกล่าวเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ๆ แทน

ด้วยเหตุนี้ จากตุ๊กตาสาวแฟชันนิสต้าเมื่อแรกเริ่มเปิดตัว บาร์บี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงกลายเป็นสาวที่เป็นตัวแทนในหลายสาขาอาชีพ เช่น นักอนุรักษ์สัตว์ป่า นักดาราศาสตร์ นักชีววิทยา ช่างภาพสัตว์ป่า และนักกีฏวิทยา ฯลฯ นอกเหนือจากโปรไฟล์อื่น ๆ อีกกว่า 100 อาชีพที่บาร์บี้เคยเป็นมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น นักกีฬาเทนนิส ผู้บริหาร นักบิน นักข่าว ศัลยแพทย์ โปรแกรมเมอร์ นางงาม นักกีฬาเหรียญทองยิมนาสติก ทูตยูนิเซฟ ทันตแพทย์ และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

ขอบคุณภาพจาก Mattel

ส่วนใครที่อยากได้บาร์บี้เวอร์ชันนั่งรถเข็น ใส่ขาเทียม บาร์บี้ผิวสี บาร์บี้รูปร่างท้วม สูง ผิวตกกระ ผมหยักศก ฯลฯ ก็มีให้เลือกเช่นกัน

การใช้บาร์บี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ยังทำผ่านอนิเมชัน เกม เพลง หนังสือ และรายการทีวีด้วย ซึ่งบางเวอร์ชันก็ทำได้ดี กับการนำความท้าทายในช่วงวัยรุ่นของเด็กผู้หญิง ทั้งเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ เพื่อน การหาเป้าหมายในชีวิต ฯลฯ มาให้บาร์บี้แก้ไขสถานการณ์ แต่ความพลาดก็มีเช่นกัน และส่งผลให้บาร์บี้ต้องเผชิญมรสุมในแบรนด์อยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการลดน้ำหนัก ที่ Mattel เคยทำหนังสือเล่มเล็กพร้อมคำแนะนำภายในข้อหนึ่งที่ว่า “Don’t Eat” หรือห้ามกิน แนบมากับเครื่องชั่งน้ำหนัก ออกมาขายเด็ก ๆ ในปี 1965 ก่อนที่ของเล่นชุดนี้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก และเครื่องชั่งน้ำหนักในเซ็ทนั้นได้ถูกเอาออกไปใน 1 ปีต่อมา

ขอบคุณภาพจาก Tumblr

หรือกรณีของหนังสือ I Can Be a Computer Engineer หนังสือสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่โดนถล่มอย่างหนักเช่นกัน เพราะภายในเรื่อง คอมพิวเตอร์ของบาร์บี้ติดไวรัส แต่เธอแทบไม่ได้ทำอะไรเลย จนมีเพื่อนผู้ชายเข้ามาช่วยแก้ไขคอมพิวเตอร์ที่ติดไวรัสให้แทน

บาร์บี้ในวัย 60 ปี เสื่อมถอย หรือแข็งแกร่ง?

ในวัย 60 ปีที่เพื่อนร่วมรุ่นเริ่มมีร่างกายเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา บาร์บี้เองก็หนีความจริงเรื่องผลประกอบการไปไม่พ้น เพราะถึงแม้จะเป็นแบรนด์ของเล่นที่ขายได้ในยุคปัจจุบัน แต่นับจากปี 2012 เป็นต้นมา ยอดขายของบาร์บี้ก็ถือว่าลดลงพอสมควรเลยทีเดียว โดยข้อมูลจาก Statista รวบรวมยอดขายของบาร์บี้ในช่วงปี 2012 – 2017 เอาไว้ดังนี้

อย่างไรก็ดี ทาง Mattel ก็ไม่ยอมแพ้ เตรียมกิจกรรมใหญ่สำหรับฉลองแซยิดให้บาร์บี้เอาไว้เช่นกัน โดยในปีนี้ ทางบริษัทได้เปิดตัวตุ๊กตาที่พัฒนามาจากบุคคลต้นแบบประจำปี 2019 ทั้งสิ้น 9 ตัวซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ประกอบด้วย

(ซ้ายไปขวา) Maya Gabiera นักกีฬากระดานโต้คลื่นจากบราซิล, Naomi Osaka นักเทนนิสจากญี่ปุ่น, Kristina Vogel แชมป์จักรยานจากเยอรมนี, Tessa Virtue นักกีฬาสเก็ตน้ำแข็งจากแคนาดา, Yara Shahidi นักแสดงจากสหรัฐอเมริกา, Adwoa Aboah นักเคลื่อนไหวและนางแบบจากสหราชอาณาจักร, Dipa Karmakar นักกีฬายิมนาสติกจากอินเดีย, Chen Man ช่างภาพจากจีน และ Ita Buttrose นักข่าวจากออสเตรเลีย

ปัจจุบันนนี้ “บาร์บี้” มีอาชีพต่างๆ ให้เด็กๆ เป็นแรงบันดาลใจมากกว่า 200 อาชีพ นอกเหนือจากความแตกต่างหลากหลายทั้ง อาชีพ เชื้อชาติ สีผิว และสภาพร่างกายแล้ว ยังมีอาชีพใหม่ๆ เข้ามาให้เข้ากับยุคสมัย เช่น นักเขียนโค้ด นักสร้างโรบอท ไปจนถึง นักกีฏวิทยา

Sven Gerjets  หัวหน้าทีมเทคโนโลยีของ Mattel กล่าวว่า “เราตั้งคำถามอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ ผู้หญิง มีส่วนสัมพันธ์กับวงการวิศวะ การคิดคำนวณ และเทคโนโลยีมากกว่านี้”

“สำหรับเรา มันเป็นหน้าที่ๆ ต้องสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้พวกเธอรู้ว่า พวกเธอทำได้ อย่างน้อยเรากระตุ้นให้พวกเธอเริ่มต้น และเราก็รู้ดีว่าพวกเขาจะเติบโตมาเป็นบุคลากรที่เข้มแข็งในทศวรรษหน้า”

นอกจากเปิดตัวคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ แล้ว ทาง “บาร์บี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการขายจะจัดต่อเนื่องกันไปทั้งปี โดยมีห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 รายเข้าร่วม ได้แก่ Walmart, Target และ Amazon

อีกทั้ง ยังตั้งโครงการชื่อ Dream Gap Fund ขึ้นมาด้วย โดยหากขายตุ๊กตาบาร์บี้ได้ 1 ตัว โครงการนี้จะบริจาคเงิน 1 เหรียญสหรัฐให้กับองค์กรเพื่อสังคมต่อไป

ถึงตอนนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า บาร์บี้เป็นแทบทุกอย่างที่คาดว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงได้มาแล้ว โดยอาจเหลือสิ่งเดียวที่บาร์บี้ยังไม่เคยทำ นั่นคือการเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ในวัยสูงอายุ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นคำถามว่าสาวน้อยบาร์บี้ จะกลายเป็นคุณป้าบาร์บี้ หรือแม้แต่คุณยายบาร์บี้ เพื่อตอบรับ Aging Soceity รวมทั้งจับตลาดคนอีกกลุ่มหนึ่งได้หรือไม่ ซึ่งนั้นก็อาจสร้างแรงจูงใจแบบใหม่ๆ ได้เช่นกัน

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like