HomeInsightเผยจุดแข็งที่ทำให้ “กรุงเทพฯ” คว้าแชมป์เมืองจุดหมายปลายทางโลก ปี ’59

เผยจุดแข็งที่ทำให้ “กรุงเทพฯ” คว้าแชมป์เมืองจุดหมายปลายทางโลก ปี ’59

แชร์ :

rresize-shutterstock_317551277

“มาสเตอร์การ์ด” รายงานผลสำรวจ “สุดยอดจุดหมายปลายทางโลก ประจำปี 2559” (Mastercard Global Destination Cities Index) ที่จัดทำติดต่อกันเป็นปีที่ 6 พบว่า “กรุงเทพมหานคร”ว้าแชมป์อันดับหนึ่งเมืองที่มีผู้เดินทางมาเยือนมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 21.47 ล้านคน ซึ่งมากกว่า “ลอนดอน” และ “ปารีส” ที่เป็นจุดหมายปลายทางอันดับสอง และอันดับสาม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผลสำรวจครั้งนี้ มาจากการสำรวจ 132 เมืองทั่วโลกที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด ประกอบกับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในปีปฏิทิน 2559 พร้อมกับนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เข้าใจรูปแบบการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในเชิงลึก

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่าการเดินทางระหว่างประเทศและการใช้จ่ายยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่รวดเร็วกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าเมืองต่างๆ ยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกจุดหมายปลายทาง 10 อันดับแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ประเภทที่มีการค้างคืนมากที่สุด ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร 21.47 ล้านคน
2. ลอนดอน  19.88 ล้านคน
3. ปารีส  18.03 ล้านคน
4. ดูไบ  15.27 ล้านคน
5. นิวยอร์ก  12.75 ล้านคน
6. สิงคโปร์  12.11 ล้านคน
7. กัวลาลัมเปอร์  12.02 ล้านคน
8. อิสตันบูล  11.95 ล้านคน
9. โตเกียว  11.70 ล้านคน
10. โซล  10.20 ล้านคน
2-2-2

ดร. ยูวา เฮดริค-หว่อง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และประธานสถาบันที่ปรึกษาด้านวิชาการ ประจำศูนย์มาสเตอร์การ์ดเพื่อการเติบโตแบบองค์รวม ให้ความเห็นว่า “ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นหนึ่งในความหวังของการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 – 2009 กระแสนี้สืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชาการคนชั้นกลางตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง สำหรับครอบครัวคนชั้นกลาง การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากครอบครัวเหล่านี้มีเงินสำหรับจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

จากรายงานของเรา จะเห็นได้ว่าเมืองสำคัญทั้ง 132 เมือง ปรากฏการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางจากทั่วโลกในช่วงปี 2009 ถึง 2016 โดยมีจำนวนมากกว่ามูลค่ามวลรวมประชาชาติของโลกถึง 2.5 เท่า แสดงให้เห็นความสำคัญของการเติบโตที่ผนวกรวมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการเติบโตในรูปแบบที่ให้ประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคม และยังสร้างอุปสงค์ในประเทศแม้สภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะอ่อนแอ สำหรับเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทาง กุญแจสู่ความสำเร็จในปีต่อๆ ไป จะอยู่ที่ความสามารถในการเข้าถึงชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเมืองที่ป้อนนักเดินทางให้แก่จุดหมายปลายทางเหล่านั้น”

ชี้ “จุดแข็ง” กรุงเทพฯ คว้าแชมป์ และ “จุดอ่อน” ที่ต้องปรับปรุง

เมื่อเจาะลึกเฉพาะ “กรุงเทพมหานคร” พบว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ “มาสเตอร์การ์ด” จัดทำผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลก “กรุงเทพฯ” ติดอันดับ Top 3 ทุกปี โดยในปี 2555, ปี 2556 และ ปี 2559 สามารถครองอันดับหนึ่งเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด

rresize-bkk-top-3

ปัจจัยหลักที่เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมเดินทางมากรุงเทพฯ ประกอบด้วย
1. ทำเลที่ตั้งของกรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อการเดินทางจากทั่วโลก
2. มีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคมนาคม
3. ค่าครองชีพไม่สูง เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ของโลก
4. ความหลากหลาย ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เช่น วัฒนธรรม อาหารการกิน และมีสินค้า-บริการที่รองรับตั้งแต่ระดับ High End ไปจนถึง Mass
5. เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย

ด้วยจุดแข็งเหล่านี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลาง “จุดแข็ง” ก็มี “จุดอ่อน” ที่กรุงเทพฯ ต้องพัฒนาปรับปรุงต่อเนื่อง คือ การพัฒนาเมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้ดีขึ้น และรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย การเมือง แต่ทั้งนี้ ไม่ว่ากรุงเทพฯ จะผ่านเหตุการณ์อะไร ก็สามารถ “ฟื้นตัว” ได้เร็วมาก

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมากรุงเทพฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. จีน
2. ญี่ปุ่น
3. สหรัฐอเมริกา
4. อินเดีย
5. เยอรมนี

“การท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ควรผสมผสานนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากรุงเทพฯ มาเพราะหลากหลายวัตถุประสงค์ บางคนมาเพราะ Value for Money ขณะที่บางคนมาเพื่อใช้จ่ายเงิน พักผ่อน ใช้ชีวิตหรูหรา เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ ควรรองรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ระดับ High End ไปจนถึงกลุ่มทั่วไป เพื่อกระจายรายได้ครอบคลุมและเข้าถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ไปจนถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือธุรกิจ SME” ดร. ยูวา เฮดริค-หว่อง อธิบาย

เมืองในเอเชียครองตำแหน่งเมืองจุดหมายปลายทางที่มีการเติบโตสูงสุด

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา “โอซากา” เป็นเมืองที่มีการเติบโตด้านนักเดินทางจากต่างประเทศมากที่สุด ตามด้วย “เฉินตู” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวนของจีน ทั้งนี้ 10 เมืองปลายทางที่มีการเติบโตสูงสุด คือ

1. โอซากา  24.15%
2. เฉิงตู  20.14%
3. อาบู ดาบี  19.81%
4. โคลัมโบ  19.57%
5. โตเกียว  18.48%
6. ริยาดห์  16.45%
7. ไทเป  14.53%
8. ซีอาน  14.20%
9. เตหะราน  12.98%
10. เซียะเหมิน  12.93%

5-5

การเติบโตของโอซากาในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นผลจากความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวจากจีน และเกาหลีใต้

สำหรับเมืองในประเทศจีนทั้ง 3 เมืองคือ เฉิงตู ซีอาน และเซียะเหมิน การเติบโตของทั้งสามเมืองแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ดึงดูดนักเดินทางจากต่างประเทศได้มากขึ้น ส่วนโคลัมโบซึ่งอยู่ในอันดับที่สี่ ก็แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังจากสงครามกลางเมืองจบลง

ความแตกต่างระหว่าง 10 อันดับจุดหมายปลายทางสุดยอดของโลก และจุดหมายปลายทางที่มีการเติบโตสูงที่สุด แสดงให้เห็นว่าเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยหลายจุดหมายปลายทางในการสำรวจมีการเติบโตที่น่าประทับใจ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนรู้สึกสนใจที่จะเดินทางเพื่อมาท่องเที่ยว หรือย้ายที่อยู่มากยิ่งขึ้น

เจาะลึกพฤติกรรมการใช้จ่าย

นับเป็นครั้งแรกที่การสำรวจชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจุดประสงค์ของนักเดินทาง : เดินทางมาเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจหรือท่องเที่ยวพักผ่อน พร้อมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการใช้จ่ายของผู้มาเยือน ทั้งการรับประทานอาหาร ที่พัก และการจับจ่ายใช้สอย

ผลการสำรวจประจำปี 2559 ชี้ให้เห็นว่า นักเดินทางส่วนใหญ่มาเยือนจุดหมายปลายทางระดับโลก 20 อันดับแรก เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนมากกว่าจุดประสงค์อื่น (กรุงเทพฯ 85.6%) ยกเว้นเซียงไฮ้ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของนักเดินทางไปเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ (54.6%)

ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังเมืองจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ยกเว้นอิสตันบูล

4-4

การใช้จ่ายด้านที่พักชี้ให้เห็นความหลากหลายของค่าครองชีพในเมืองต่างๆ เพราะการใช้เงินไปกับที่พักในเมืองอย่างปารีส มิลาน โรม อัมสเตอร์ดัม และเวียนนาอาจสูงถึง 40% ในขณะที่ค่าที่พักในกรุงเทพฯ โซล โอซากา เซียงไฮ้ และอิสตันบูล คิดเป็นน้อยกว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โซลติดอันดับเมืองที่นักท่องเที่ยวใช้เงินไปกับการช้อปปิ้งมากกว่าส่วนอื่นๆถึงร้อยละ 58.7 ตามมาด้วยลอนดอน (46.7%) โอซากา (43.4%) และโตเกียว (43.1%)

 

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

 


แชร์ :

You may also like