HomeBrand Move !!ความท้าทายรอบใหม่ “หมอเสริฐ” เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่เอเชีย

ความท้าทายรอบใหม่ “หมอเสริฐ” เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่เอเชีย

แชร์ :

prasert bangkok dusit medical

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เหลือ เวลาอีกเพียงปีเศษ ๆ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ และนี่คือขุมทรัพย์ใหม่ของธุรกิจ จากจำนวนประชากร 10 ประเทศ รวมกัน 600 ล้านคน เช่นเดียวกับ นาย แพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ “หมอเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ หมายเลข 1 ของวงการโรงพยาบาลเอกชน ที่มองเป้าหมายนี้ด้วยใจพองโต

นอกจากเตรียมพร้อมรุกคืบไปตลาด “เออีซี” ยังมองข้ามชอตไปถึงการก้าวสู่ตลาด “เอเชีย-แปซิฟิก” ที่มีประชากรรวมกัน 3,000 ล้านคน

นั่นทำให้ “หมอเสริฐ” มองว่าทุกวันนี้ ถนนทุกสายมุ่งตรงเข้ามาที่เอเชียทั้งหมด

หมาย ถึงแนวโน้มคนที่หลั่งไหลเข้ามารับการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียมีจำนวนมาก ขึ้น และด้วยภาวะเศรษฐกิจในยุโรป สหรัฐที่ชะลอตัว บวกกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมองเป็นโอกาสของเอเชีย-แปซิฟิก มีโอกาสเติบโตสูง และน่าจะเป็นเมดิคอลฮับของโลกได้

สะท้อนจากตัวเลข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “หมอเสริฐ” ระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในเอเชียเวลานี้ขยายตัว 28% เทียบกับตลาดโลกขยายตัวเพียง 20%

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของตลาดโลก จาก 8 ปีก่อนที่มี 10%

หลัก ๆ มาจากอเมริกาเหนือ 45% ยุโรป 39% ตะวันออกกลาง 32% ฯลฯ

ขณะที่ตัวเลขการเดินทางออกไปรักษานอกภูมิภาคเอเชียลดลง หรือมีสัดส่วน 6% เท่านั้น

“หมอ เสริฐ” แจกแจงอีกว่า ไทยเป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากที่สุด 38% รองลงไปเป็น สิงคโปร์ 33% อินเดีย 19% ฟิลิปปินส์ 8% มาเลเซีย 2%

“ส่วนใหญ่นัก ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนิยมมาไทยมากที่สุด ปี 2555 ไทยมีตัวเลขนำโด่งถึง 2.3 ล้านคน สิงคโปร์ 8.5 แสนคน มาเลเซีย 7 แสนคน เกาหลีใต้ 8 หมื่นคน”

ไทย ยังมีความได้เปรียบชาติอื่น ๆ ทั้งจากค่ารักษาพยาบาลอยู่ระดับปานกลาง ส่วนสิงคโปร์ค่าใช้จ่ายแพงกว่าไทย 2 เท่า นอกจากนี้ยังได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย อาหารดีราคาถูก บุคลากรทางการแพทย์มีความสามารถและได้รับการยอมรับ ที่จะผลักดันให้เมืองไทยได้รับการยอมรับในฐานะ “เมดิคอลฮับ”

สิ่ง สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความสนับสนุนจากภาครัฐ, การให้วีซ่าสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม, การผ่อนผันให้แพทย์ต่างชาติที่มีความสามารถได้เข้ามาทำงานในไทย

หันกลับมาดูเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ อยู่ตรงไหนของเวทีโลก

ถ้า พิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ระดับบิ๊กไฟฟ์ของโลก ประกอบด้วย กลุ่ม HCA ของสหรัฐที่มีมาร์เก็ตแคปและจำนวนเตียงมากที่สุด, กลุ่ม UHS สหรัฐ, กลุ่ม IHH มาเลเซีย, แรมเซย์ ออสเตรเลีย ต้องยอมรับว่า BDMS หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ยังเป็นอันดับ 5 ยกเว้นผลกำไรที่ทำได้ 11.9 % เป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม

“ถ้าไม่อยากเป็นบ๊วยในหลาย ๆ อย่าง ต้องพยายามวางแผนและปรับปรุงต่อ ๆ ไป”

หมอ เสริฐอธิบายถึงโรดแมปของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2557-2561 ว่า ช่วงแรกโฟกัสไปที่ “หมอดี พยาบาลดี บริการดี เทคโนโลยีดี” ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ ทำให้การส่งต่อคนไข้มีมากขึ้น

ช่วงต่อมาคือ ขยายการลงทุนเป็น 50 โรงพยาบาล ภายในปี 2558 เต็มพื้นที่ของไทย และใกล้เคียง มีทั้งแบรนด์โรงพยาบาลกรุงเทพ สมิติเวช บีเอ็นเอช พญาไท และเปาโล มีการแชร์บุคลากรและเครื่องมือ ช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น

“ปัจจุบันเราเปิดโรงพยาบาลไป แล้ว 35 แห่ง 6,159 เตียง อยู่ระหว่างก่อสร้างและส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปีนี้อีก 1,545 เตียง ทำให้สิ้นปีนี้เราจะมีโรงพยาบาล 44 แห่ง รวม 7,700 เตียง ในจำนวนนี้มี 14 แห่ง ได้รับมาตรฐานเจซีไอ”

ในอีกมิติหนึ่งยังหันมาให้ความสำคัญอย่าง มากกับการวิจัย อบรมแพทย์ พยาบาล ร่วมกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการ อาทิ MD Anderson สถาบันมะเร็งอันดับ 1 ของโลก กับ ร.พ.วัฒโนสถ, Mount Sinai Hospital ร่วมกับศูนย์อายุรวัฒน์กรุงเทพ ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเพิ่มน้ำหนักลงทุนธุรกิจ Non Core Business ทั้งกลุ่มเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และช่องทางขายที่เป็นร้านขายยา ซึ่งเป็นตัวที่ทำกำไรให้ธุรกิจอย่างมาก

“เรายังสนใจกลุ่มลูกค้ามีฐานะทั้งในประเทศจีน อาเซียน รวมทั้งคนไทยที่นิยมเดินทางไปรักษาที่อเมริกา”

จาก ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ต้องการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ดี จึงเตรียมลงทุนในส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย ยกระดับให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล “ท็อป 10” ในสหรัฐ จากแนวทางนี้จะทำให้กลุ่ม BDMS ซึ่งมีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติ 30% คนไทย 70% ขยับเป็น 40 : 60 ในปี 2558 โดยที่คนไข้ต่างชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหรับ เมียนมาร์

“ซื้อที่ดิน 4 ไร่ จะสร้างตึกใหม่ 2 ตึก แยกผู้ป่วยตามเชื้อชาติ เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอาหรับ 1 ตึก อีกตึกเป็นเมียนมาร์ ชั้นล่างเป็นวอร์ดผู้ป่วย ชั้นบนเป็นศูนย์วิจัย เน้นทำวิจัยมากขึ้น เปิดปี 2559 ส่วนอีก 4 ตึกแยกตามโรค อีก 3 ปีจึงจะเสร็จ ตึกละ 50 เตียง ลงทุนอย่างต่ำเตียงละ 20 ล้านบาท 4 ตึกก็อาจจะใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ตึกก็อาจจะถูกกว่า อยู่ระหว่างออกแบบ”

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2557 ก็ยังสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ หรือมีรายได้ 2.6 หมื่นล้านบาท

ด้วย การลงทุนรอบด้าน ภายใต้การนำทัพของ “หมอเสริฐ” ในวันนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ” มีความครบเครื่องและติดอาวุธทางธุรกิจ พร้อมบุกไปในทุก ๆ ตลาด

 

Partner : ประชาชาติธุรกิจ


แชร์ :

You may also like