HomeBrand Move !!เดอะมอลล์เปิดค้าปลีกแบรนด์ใหม่ ทุ่ม6ศูนย์ฯยักษ์-ส่งโมเดล”พารากอน” ปักธงภูเก็ต

เดอะมอลล์เปิดค้าปลีกแบรนด์ใหม่ ทุ่ม6ศูนย์ฯยักษ์-ส่งโมเดล”พารากอน” ปักธงภูเก็ต

แชร์ :

the mall group

“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เคลื่อนทัพครั้งสำคัญ ลงทุน 5 หมื่นล้าน 6 ศูนย์การค้ายักษ์ บุกภูเก็ต-บางนา-สยายปีกอาณาจักรเอ็มฯ ยึดพื้นที่โครงการ 1.5 ล้าน ตร.ม. ชูจุดขายโดดเด่น-แตกต่าง-คอนเซ็ปต์ชัด-ทำเลเป็นต่อ พร้อมเปิดกลยุทธ์ “แตกแบรนด์” ศูนย์การค้าใหม่เจาะทำเลหลัก-หัวเมืองท่องเที่ยว กว้านที่ดินแปลงงาม 150 ไร่ส่ง “ลักเซอรี่รีเทล” ปักธงใจกลางภูเก็ต สุดมั่นใจ “บางกอก มอลล์” เรือธงใหม่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ภาพความเคลื่อนไหวจะไม่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” จะต้องเรียกเสียงฮือฮาและจับตาจากตลาดได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแค่คู่แข่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงซัพพลายเออร์และพันธมิตรทางธุรกิจที่จะตัดสินใจร่วมทัพลงเรือไปด้วยกัน

ล่าสุดกลุ่มเดอะมอลล์เปิดแผนลงทุนครั้งสำคัญใน6 ศูนย์การค้าใหม่ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ภูเก็ตและบางนา นอกเหนือจากเอ็มสเฟียร์ เอ็มควอเทียร์ โฉมใหม่เอ็มโพเรียม และหัวหิน นั่นหมายความว่ากลุ่มเดอะมอลล์จะสยายปีกเพิ่มพื้นที่ในโครงการใหม่ทั้ง 6 นี้กว่า 1.5 ล้าน ตร.ม.

ชูจุดขายโดดเด่น-แตกต่าง 

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยแผนการลงทุนครั้งใหญ่รอบใหม่สำหรับลุยธุรกิจค้าปลีก ว่า การแข่งขันของธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าจากนี้ไม่เพียงเฉพาะเพื่อรองรับตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการยกระดับธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยให้แข่งขันกับตลาดโลกได้

การลงทุนครั้งใหม่ของกลุ่มเดอะมอลล์มูลค่า5หมื่นล้านบาทในครั้งนี้เพื่อต้องการสร้างปรากฏการณ์สำหรับการเป็นศูนย์การค้าในระดับโลกใน6ศูนย์การค้าแห่งใหม่ คือ บลูเพิร์ล ในภูเก็ต, แบงค็อกมอลล์ ถนนบางนา-ตราด, บลูพอร์ต หัวหิน, และอาณาจักร 3 เอ็ม ดิ เอ็มโพเรียม-เอ็มควอเทียร์-เอ็มสเฟียร์ ย่านการค้าแห่งใหม่ใจกลางถนนสุขุมวิท โดยทั้งหมดจะเป็นย่านการการค้า แหล่งธุรกิจและศูนย์กลางเอ็นเตอร์เทนเมนต์แห่งใหม่ที่ครอบคลุมทุกความต้องการของกลุ่มลูกค้า ความสำเร็จจากการบุกเบิกศูนย์การค้าลักเซอรี่เริ่มจากดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน มั่นใจว่าศูนย์การค้าทั้ง 6 แห่งจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากแต่ละแห่งล้วนมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน มีจุดขายที่แตกต่างและเด่นชัด มีโลเกชั่นที่ตั้งซึ่งยืนยันได้ว่ามีศักยภาพ

เปิดสูตร บลู คอลเล็กชั่น

ควบคู่กับนโยบายในการรุกธุรกิจรูปแบบใหม่ ด้วยโมเดลการปั้นแบรนด์ใหม่ ๆ สำหรับพัฒนาศูนย์การค้าต่อจากนี้ โดยเริ่มจาก “บลู คอลเล็กชั่น” ซึ่งจะใช้เป็นชื่อแบรนด์ศูนย์การค้าสำหรับสาขาของกลุ่มเดอะมอลล์ที่เปิดในเมืองท่องเที่ยว อาทิ บลูพอร์ต สำหรับการลงทุน 5,000 ล้านบาท เปิดรีสอร์ตมอลล์แห่งแรกในหัวหิน และโครงการบลู เพิร์ลมูลค่ากว่าหมื่นล้านในการพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ภูเก็ต

“คอลเล็กชั่น “บลู” นอกจากได้เห็นในหัวหินและภูเก็ตแล้ว จะมีอีกหลายแห่งที่เราจะให้สำหรับเป็นโมเดลที่เปิดในเมืองท่องเที่ยวและมีศักยภาพ แต่ตอนนี้ขออุบไว้ก่อน เพราะการเก็บที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ อย่างที่ภูเก็ตเราต้องใช้เวลามากกว่า 2-3 ปี กว่าจะได้แปลงนี้มา”

ขน ลักเซอรี่รีเทล ยึดภูเก็ต

หัวเรือใหญ่เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขยายความถึงการตัดสินใจบุกหัวเมืองท่องเที่ยวระดับโลกครั้งนี้ภายใต้แบรนด์บลู เพิร์ล ว่า ภูเก็ตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกไปแล้ว ทุกคนรู้จักและทุกคน

ทั่วทั้งโลกอยากจะต้องมา กลายเป็นเวิลด์ ไอคอนนิก ทัวริสต์ เดสติเนชั่น สอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยปีนี้ 25 ล้านคน และกว่า 11 ล้านคนในจำนวนนี้นั้นต้องมาที่ภูเก็ต รวมถึงการเร่งขยายสนามบินเพื่อรองรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะทะลักเข้ามาการเข้าร่วมกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558คาดว่าในอีก5ปีข้างหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น40 ล้านคนเป็นก้าวสำคัญยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการช็อปปิ้งและท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาค

“ตอนนี้ศูนย์การค้าในภูเก็ตมีแค่เซ็นทรัลและจังซีลอนแต่ดีมานด์กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้ามีมากกว่านั้นโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบนและสิ่งที่เดอะมอลล์จะทำต้องไม่ธรรมดาเราจะขนร้านค้าแบรนด์เริ่ดหรูในโมเดลเดียวกับสยามพารากอนมาลงที่ภูเก็ต”

นางสาวศุภลักษณ์กล่าวว่า ที่ดินแปลงขนาดใหญ่ 150 ไร่ใจกลางภูเก็ต (สี่แยกหัวมุมทางไปป่าตอง) กลายเป็นทำเลสำคัญที่จะเข้ามาเขย่าค้าปลีกเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ โดยบริษัทใช้เวลาในการเก็บที่ดินมากกว่า 3 ปี โดยวางเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท ในคอนเซ็ปต์ “ไข่มุกแห่งเอเชีย” ศูนย์การค้าลักเซอรี่มอลล์, รีสอร์ตระดับหรู และธีมปาร์ก แอดเวนเจอร์ ในรูปแบบของปราสาทราชวัง บนพื้นที่ 6.5 แสน ตร.ม. และจะเปิดให้บริการในปี 2560 พร้อม ๆ กับการอวดโฉมของ “เอ็มสเฟียร์”

แฟลกชิป เดอะมอลล์

ทั้งนี้ โปรเจ็กต์ยักษ์ “เอ็มสเฟียร์” อีก 1 โครงการใจกลางสุขุมวิทนั้น แม่ทัพเดอะมอลล์ กรุ๊ป ฉายภาพว่า จะเป็นการฉีกแนวธุรกิจ โดยเอ็มสเฟียร์จะไม่ใช่ศูนย์การค้าแต่จะเป็นย่านสำหรับดึงนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองไทย ในบรรยากาศคล้ายกับโซโห นิวยอร์ก โดยแบ่งเป็น 7 ย่าน 7 รูปแบบในโครงการนี้ ที่รวมแหล่งแฮงเอาต์ระดับโลกอินเตอร์เนชั่นแนล ผับ, ศิลปะ-ของที่ระลึก รวมถึงบรรยากาศของร้านค้ามีสไตล์ในรูปแบบสยามสแควร์ เป็นต้น

และนอกเหนือจากคอลเล็กชั่น “บลู” สำหรับเจาะหัวเมืองท่องเที่ยวแล้วนั้น กลุ่มเดอะมอลล์เตรียมลงทุนครั้งใหญ่กว่า 2 หมื่นล้านบาทสำหรับโครงการบางนา ด้วยพื้นที่ 100 ไร่ โดยจะเป็นโปรเจ็กต์ “แฟลกชิป” ของกลุ่มเดอะมอลล์ที่สร้างเมืองภายใต้คอนเซ็ปต์ “City within the City” ภายใต้แบรนด์ใหม่ “แบงค็อก มอลล์” ครอบคลุมทั้งศูนย์การค้า คอนโดฯ-เรสซิเดนซ์,สำนักงานออฟฟิศ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์บนพื้นที่ 6.5 แสน ตร.ม.

“อาณาจักรเอ็มสุขุมวิทสร้างย่านการค้าแต่ตรงนี้เราจะสร้างเมือง เพื่อให้เป็น Grand Statement ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ทุกครั้งที่เราทำแต่ละโครงการเราต้องการสร้างแรงกระเพื่อมและแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่เคยมีมา”

ทำเล เท่านั้นตอบโจทย์

ไม่เพียงรูปแบบและคอนเซ็ปต์ของโครงการที่จะเข้ามาสร้างความแตกต่างและโดดเด่นเหนือคู่แข่งผู้บริหารเดอะมอลล์กรุ๊ปฉายภาพว่าทำเลของแต่ละโครงการที่ตัดสินใจเข้าไปลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญโดยบริษัทจะให้ความสำคัญในการหาที่ดินเป็นอย่างมาก บางทำเลแม้ต้องใช้เวลานาน แต่ก็เลือกที่จะรอเพื่อให้ได้ในจุดที่เรียกว่าเป็น “เพชร” ของย่านนั้น ๆ

พร้อมยกตัวอย่างการใช้เวลานานถึง 5 ปี ในการใจเย็นที่จะรอและรวบรวมที่ดินแปลงใหญ่ใจกลางสุขุมวิทและปั้นเป็นอาณาจักรเอ็มฯ 6.5 แสน ตร.ม. การใช้เวลามากกว่า 3 ปีสำหรับการรวมที่ดิน 150 ไร่ใจกลางภูเก็ต ซึ่งหน้ากว้างของศูนย์การค้าขนานไปกับถนนกว่า 1 กิโลเมตร รวมถึงที่ดิน 100 ไร่ จุดตัดกลางสี่แยกบางนา-ตราด ควบคู่กับการดูในเรื่องของทราฟฟิก ซึ่งส่วนใหญ่ทำเลของกลุ่มเดอะมอลล์ที่จะไปลงทุนจะเลือกสไตล์บุกเบิกและสร้างตลาดในอนาคต

“ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างอาจทำให้เราลงแข่งในทุกสนามไม่ได้….แต่ในทุกสนามที่ไปเราต้องชนะทำให้การเลือกเฟ้นหาทำเลเป็นสิ่งสำคัญมากเราจะใจเย็นเพื่อหาทำเลที่เป็นเพชรแม้ว่าจะมีหลายๆคนนำแปลงที่ดินมาให้เลือก แต่ก็ยังไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุด”

เลื่อนลงทุนรามคำแหง 

รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่การลงทุนครั้งนี้ยังไม่มีเดอะมอลล์ รามคำแหง รวมอยู่ด้วย แม้ว่าจะได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินออกไป 30 ปีแล้ว เนื่องจากต้องการให้ความสำคัญกับโครงการบางกอก มอลล์ก่อน ควบคู่ไปกับการลงทุนใหม่ เดอะมอลล์มีแผนขยายพื้นที่สาขาเดิมทั้งบางกะปิและงามวงศ์วานไปพร้อม ๆ กันด้วย

พร้อมกันนี้ ได้ฉายภาพรวมธุรกิจค้าปลีกว่า แม้บรรยากาศไม่ค่อยดีมากนัก แต่ผู้ประกอบการยิ่งต้องกระตุ้นและเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพราะถ้าไม่ทำจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ดังนั้นจึงจะเห็นภาพของแต่ละค่ายที่ต่างมีกิจกรรมและแคมเปญในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง และยอมรับว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาการเติบโตไม่เป็นบวกอย่างที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากมู้ดและบรรยากาศที่กระทบตามอัตราการเติบโตของจีดีพี

 

Partner : ประชาชาติธุรกิจ 


แชร์ :

You may also like