HomeBrand Move !!ประวัติศาสตร์…จะไม่ซ้ำ “ตัน” ย้ำชัดครั้งนี้ “ไม่ขายกิจการ” แน่

ประวัติศาสตร์…จะไม่ซ้ำ “ตัน” ย้ำชัดครั้งนี้ “ไม่ขายกิจการ” แน่

แชร์ :

Ichitan set index

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“ไม่ใช่ครั้งแรกของชีวิตผมที่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมจะนำบริษัทเครื่องดื่มเข้าไป”  เป็นคำกล่าวจาก “ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ในวันเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นเป็นวันแรก ภายใต้ตัวย่อหลักทรัพย์ “ICHI”

พร้อม ๆ กับยืนยันว่าครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว แม้จะมีคนสนใจซื้อกิจการของอิชิตัน ก็ไม่สนใจที่จะขายเหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่เคยขายกิจการ “โออิชิ” ให้กับกลุ่มไทยเบฟเวอเรจของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน “ตัน” นำบริษัทโออิชิเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ปี 2547 ก่อนจะขายให้กับกลุ่มทุนเจริญฯ ในปี 2551 ก่อนที่จะยื่นใบลาออกจากการเป็นผู้บริหารโออิชิ และก่อตั้งบริษัท ไม่ตัน จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม เริ่มต้นด้วยเครื่องดื่มสุขภาพ “ดับเบิ้ล ดริ๊งค์” ก่อนจะเปิดตัวชาเขียวพร้อมดื่ม “อิชิตัน” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด ในเวลาต่อมา

ด้วยประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยม เขาสามารถปั้น “อิชิตัน” ขึ้นเป็นผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มได้อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อน ปี 2556 เป็นการวิ่งเข้า “เส้นชัย” ในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก่อนจะมาถึงวันนี้ ที่สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้สำเร็จอีกครั้ง

ไม่แตกต่างจากเส้นทางเดินของ “โออิชิ” ในอดีต แต่สิ่งที่ “ตัน” ย้ำว่า สิ่งจะแตกต่างจากครั้งก่อน คือการไม่มีแผนขายกิจการ แต่จะเดินหน้าขยายธุรกิจของอิชิตันอย่างเต็มที่

แผนที่เขาวางไว้เบื้องต้น จากเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ 3.9 พันล้านบาท คือไปใช้ขยายโรงงานเฟส 2 บางส่วน รวมถึงขยายธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ เพิ่มรายการสินค้าใหม่ ๆ, รุกลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยประเทศที่สนใจ คือกลุ่มประเทศในอาเซียน ได้แก่ลาว เขมร พม่า และอินโดนีเซีย อีกส่วนหนึ่ง คือนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้กรรมการและสถาบันการเงิน และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

“ตัน” ระบุว่า เป้าหมายของอิชิตันในระยะ 2 ปีต่อจากนี้ คือการนำพาบริษัทไปสู่ยอดขาย 1 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 20% จากยอดขายของอิชิตันในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 6.8 พันล้านบาท

โดยกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะมีตั้งแต่การนำเสนอสินค้าใหม่ เปิดแคทิกอรี่ใหม่ การทำตลาดอย่างเข้มข้น รวมถึงการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ภายในสิ้นปี โรงงานอิชิตันจะมีกำลังการผลิต 1 พันล้านขวดต่อปี และ 2 ร้อยล้านกล่องต่อปี

เขาย้ำว่า การขยายกำลังการผลิตนั้น จะประเมินควบคู่กับยอดขาย และเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานเฟส 2 ในช่วงปลายปี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 400 ล้านขวด หลังจากที่เฟส 2 ได้เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรก เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และขณะนี้ยังมีพื้นที่เหลืออยู่ 50%

การเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะชาเขียว ทำให้มาร์เก็ตติ้งแมนผู้นี้มั่นใจว่า ชาเขียวเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20% ทั้งจากรสชาติ และเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งไทยยังมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากร หรือสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาร์เก็ตแชร์ล่าสุดของอิชิตัน มีส่วนแบ่งในเครื่องดื่มประเภทชาทั้งหมด เฉพาะเดือนมีนาคม อยู่ที่ 49% ถ้านับไตรมาสแรก อยู่ที่ 43%

“การเป็นที่ 1 ไม่สำคัญแค่เรื่องยอดขายหรือกำไรเท่านั้น แต่สำคัญที่ว่าเราเป็นแบรนด์ที่ 1 ในใจคนไทยได้ตลอดไปหรือไม่”

เจ้าพ่อชาเขียวจะยังคงใช้งบฯการตลาด อยู่ที่ 10-12% ต่อนื่อง รวมถึงมีแผนเข้าไปใช้สื่อในทีวีดิจิทัล ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสใหม่ของทั้งสินค้าและทีวี เนื่องจากมีราคาไม่สูง

ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายหุ้นอิชิตันในวันแรก เป็นไปอย่างคึกคัก โดย ICHI ราคาเปิดตลาด อยู่ที่ 16.50 บาท จากราคาไอพีโอที่ 13 บาท เพิ่มขึ้น 26.92% โดยปิดตลาดที่ราคา 16.20 บาท

จากเป้าหมายขยายธุรกิจเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศของ “อิชิตัน” จากนี้ พร้อมกับวิชั่นในอีก 5 ปีข้างหน้า เสมือนเป็นการประกาศว่า ครั้งนี้เขา “เอาจริง” และเป็นการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั้งในตลาดไทยและอาเซียน

กล่าวได้ว่า วันนี้เส้นทางในสายธุรกิจของ “เสี่ยตัน” กำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังอีกครั้ง ท่ามกลางการเฝ้าจับตาของบรรดาคู่แข่งในตลาดแบบไม่กะพริบตา

 

 

Partner : ประชาชาติธุรกิจ


แชร์ :

You may also like